“ไม่กินมื้อเช้า อดนอน นอนคลุมโปง ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ กินหวานเยอะไป ไม่ใช้ความคิด”
สิ่งเหล่านี้คือพฤติกรรมต้องห้ามเพื่อป้องกัน “สมองฝ่อ” ที่หลายคนมักได้ยินจากคนรอบตัวที่ห่วงใย จริง ๆ แล้ว ภาวะ “สมองฝ่อ” คืออะไร เหมือนกับสมองเสื่อมหรือไม่ และมีพฤติกรรมใดบ้างที่เสี่ยงต่อการทำให้สมองฝ่อ Hack for Health ตอนนี้มีคำตอบ
“สมองฝ่อ” ไม่ใช่ “สมองเสื่อม”
ภาวะสมองฝ่อ เป็นอาการทางสมองที่หลายคนมักเข้าใจผิดและสับสนกับโรคสมองเสื่อม แต่ในความเป็นจริงแล้วภาวะสมองฝ่อไม่จำเป็นต้องสูญเสียความทรงจำเสมอไป อาการนี้จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
“สมองฝ่อ” เป็นความผิดปกติของสมอง โดยเฉพาะด้านความจำที่เสื่อมลงไปทีละน้อย มีการเสื่อมของเซลล์สมอง มีจำนวนเซลล์น้อยลง จากการศึกษายังไม่เจอสาเหตุที่แท้จริง แต่อาการนี้มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุประมาณ 75 ปีขึ้นไป
อาการของสมองฝ่อที่ต้องรู้
เนื่องจาก “สมองฝ่อ” คือการเจริญเติบโตของเซลล์สมองในทางลดขนาดลง ดังนั้น ความเกี่ยวข้องกับโรคต่าง ๆ จึงขึ้นอยู่กับตำแหน่งการฝ่อของสมอง หากเกิดการฝ่อในพื้นที่ควบคุมการทำงานใด ก็จะส่งผลต่อการทำงานนั้นโดยตรง เช่น หากสมองฝ่อบริเวณที่เกี่ยวกับการบันทึกความจํา ก็จะทำให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้ ที่พบบ่อยสุดคือ “กลุ่มอัลไซเมอร์” ที่มีการฝ่อของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความจำ จะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องหลงลืมง่าย
การฝ่อที่สมองส่วนอื่น ๆ เช่น
- สมองส่วนหน้า อาจจะมีปัญหาเรื่องทักษะด้านความคิด ความจำ การวางแผน การทำงานต่าง ๆ เคยทำอะไรได้บางอย่าง แล้วเหมือนกับทำต่อไม่ได้แล้ว
- สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น จะทำให้มีปัญหาเรื่องหลงทางในพื้นที่ที่คุ้นเคย
- สมองส่วนที่เกี่ยวกับการใช้ภาษา จะทำให้ผู้ป่วยนึกคำพูดนานขึ้น หรือพูดคุยแล้วผู้ป่วยฟังไม่เข้าใจ หรือฟังสิ่งที่ผู้ป่วยพูดไม่เข้าใจ เป็นต้น
สมองฝ่อก่อนวัยเป็นอย่างไร ?
ช่วงอายุการฝ่อของสมองแต่ละคนจะแตกต่างกันไป บางคนฝ่อเร็วบางคนฝ่อช้า ในขณะที่ผู้สูงอายุบางคนที่มีอายุ 70-80 ปี สมองอาจจะยังไม่ฝ่อมาก สามารถใช้ชีวิตประจำวันและช่วยเหลือตัวเองได้เป็นปกติก็มี แต่บางคนที่มีกลุ่มรอยโรค หรือมีความผิดปกติที่ทำให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น เช่น มีโปรตีนผิดปกติในสมอง ก็อาจจะทำให้ตัวสมองฝ่อเร็วกว่าอายุ หรือฝ่อเร็วถ้าเทียบกับคนที่อายุกลุ่มเดียวกัน
โดยผู้ที่มีอาการสมองฝ่อก่อนวัย จะมีอาการผิดปกติ 3 ด้านที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ด้านการทำงาน ถ้าเคยทำงานได้ อยู่ ๆ ก็ทำงานไม่ได้
- ด้านการใช้ชีวิตประจำวัน บางคนเคยอาบน้ำได้แต่บอกอาบน้ำไม่เป็น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยอาบน้ำได้ หรือจำไม่ได้ว่าต้องอาบน้ำก็เลยไม่ได้อาบน้ำ
- ด้านทักษะทางสังคม เคยออกนอกบ้านได้ปกติ เป็นคนสุภาพเรียบร้อย อยู่ ๆ ก็มีพฤติกรรมเกรี้ยวกราด หรือมีพฤติกรรมไม่สุภาพขณะออกไปนอกบ้าน เป็นต้น
อาการดังกล่าวคือสัญญาณเตือนว่า สมองของคนที่คุณรัก (หรือของคุณ) กำลังฝ่อ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและทำการรักษาต่อไป
พฤติกรรมทำสมองฝ่อ
ในส่วนของการป้องกัน “สมองฝ่อ” นั้น เราอาจเคยได้รับการเตือนด้วยความหวังดีอย่างมากมายถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นโรคสมองฝ่อ ไม่ว่าจะเป็น การไม่กินมื้อเช้า การกินมากไปจนเป็นโรคอ้วน การสูบบุหรี่ กินหวาน ใช้ชีวิตท่ามกลางมลภาวะ การอดนอน การนอนคลุมโปง เค้นสมองเวลาไม่สบาย ไม่ค่อยใช้ความคิด และไม่ค่อยพูด ซึ่ง 10 พฤติกรรมเหล่านี้มีทั้งที่มีส่วนให้สมองฝ่อได้จริง และไม่เกี่ยวกับสมองฝ่อเลย
โดยพฤติกรรมที่มีส่วนทำให้สมองฝ่อ ได้แก่
- ภาวะอ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่อ้วนมาก และมีโรคประกอบประจำตัวหลายอย่าง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง รวมไปถึง คนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่มีส่วนทำให้สมองฝ่อได้
- การสูบบุหรี่ นอกจากจะมีส่วนทำให้สมองฝ่อได้แล้ว ยังสัมพันธ์กับภาวะอัลไซเมอร์ และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดสมองตีบ เปราะ แตกง่าย ส่งผลให้สมองเสื่อมถอยลงเร็วขึ้น
- อยู่ในที่ที่มีมลภาวะ แม้ความเสี่ยงจะไม่มีความรุนแรงเท่ากับการสูบบุหรี่ หรือปัจจัยอื่น ๆ อย่างอายุ แต่จากการศึกษาก็พบว่ากลุ่มที่สัมผัสมลภาวะบ่อย เช่น สัมผัสควัน สัมผัส PM 2.5 สัมผัสแหล่งน้ำที่มีสารพิษปนเปื้อน มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้สัมผัสอย่างมีนัยสำคัญ
- การอดนอน แม้ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างการอดนอนกับสมองฝ่อจะยังไม่ชัดเจน แต่มีการยืนยันแล้วว่า “การนอนดี” ดีต่อสมองของเรา
- ไม่ค่อยใช้ความคิด มีการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ใช้ความคิดเยอะ มีกิจกรรมกระตุ้นตัวเองตลอดเวลา หรือกลุ่มที่มีระดับการศึกษาที่สูง มีความเสี่ยงในการเกิดสมองฝ่อน้อยกว่า แต่ก็ยังเป็นปัจจัยที่ไม่เด่นชัดมาก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญที่นอกเหนือไปจากพฤติกรรมเสี่ยงสมองฝ่อที่กล่าวมาแล้ว คือเรื่องของพันธุกรรม ส่งผลให้บางคนเป็นตั้งแต่แรกเกิดหรืออายุไม่เยอะ แต่บางคนเป็นตอนอายุมาก
สุดท้าย “อายุที่เพิ่มขึ้น” คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดของการเกิดสมองฝ่อ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อไม่มีใครสามารถ “ห้าม” อายุไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ ก็ไม่สามารถห้ามสมองฝ่อได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อมีอาการสมองฝ่อที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องรับการรักษาตามอาการเป็นหลัก
นอกจากการรักษาตามอาการด้วยการใช้ยาแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป โดย “หลัก 5 อ ชะลอเสื่อม” เป็นหนึ่งในวิธีการชะลอความเสื่อมที่เป็นที่ยอมรับและได้ผลดีตามวิถีธรรมชาติ หลัก 5 อ ได้แก่ อาหารดี อากาศดี ออกกำลังกายดี อุจจาระดี และอารมณ์ดี