“เรื่องของเขา แต่เราเจ็บ !” แผลทางใจมือสอง หรือ Secondary Traumatization คือภาวะ “ความเครียด” ที่ผู้ให้คำปรึกษาต้องแบกรับ และบางครั้งก็กลายมาเป็นแผลในใจแบบไม่รู้ตัว
แผลทางใจมือสอง จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้ไปรับฟังปัญหาความทุกข์ของผู้อื่น หรือมีคนนำเรื่องหนัก ๆ มาปรึกษาด้วย แม้การแชร์ประสบการณ์เหล่านั้นจะจบลงแล้ว
แต่ผู้ที่รับฟังก็เกิดความรู้สึกจมดิ่งไปกับเรื่องที่ได้ยิน และสลัดความรู้สึกนั้นออกไปไม่ได้ จนเกิดความเครียด และรู้สึกทุกข์ตามมา ซึ่งเรื่องใหญ่ที่มักก่อให้เกิดแผลทางใจมือสอง เช่น
- ผู้เล่าเคยโดยล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก
- มีการแชร์ประสบการณ์ ที่เคยโดนทำร้ายร่างกายอย่างหนักมาก่อน
- ผู้เล่าเคยผ่านการเอาชีวิตรอดจากสงครามอันโหดร้ายมา
- หรือเหตุการณ์อันหนักหน่วงอื่น ๆ
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการประสบกับภาวะแผลทางใจมือสอง เช่น นักบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ที่มักให้คำปรึกษาคนอื่น มักมีคนมาระบายทุกข์ด้วย นอกจากนี้ สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทของผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์หนัก ก็มีความเสี่ยงที่จะทุกข์จากปัญหาของคนที่ตัวเองสนิทด้วยเช่นกัน
อาการของผู้ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะ แผลทางใจมือสอง
- มีความวิตกกังวลและความกังวลอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับเรื่องที่ได้ยินมา
- มีอาการซึมเศร้าหรือโศกเศร้าแทนผู้เล่ามาก จนเหมือนเป็นเรื่องของตัวเอง
- มีความหงุดหงิดและความโกรธ จัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้ หลังจากที่ได้ยินเรื่องเล่า
- ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อตึงเครียด
ทั้งนี้นอกเหนือไปจากการมอบความใส่ใจ พร้อมให้คำปรึกษาที่ดีกับผู้อื่นแล้ว ผู้ที่ให้คำปรึกษาเองก็ควรที่จะหาทางระบายความเครียดของตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน รักษาชีวิตให้มีความสมดุล มีความเข้าใจต่อปัญหาชีวิตของผู้อื่น ในแบบที่ไม่นำเรื่องนั้นกลับมาทำร้ายตัวเอง เพียงเท่านี้ เราก็จะสามารถดูแลผู้อื่น ไปพร้อม ๆ กับการดูแลตัวเองได้อย่างมีคุณภาพ