เคยไหม? รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา รอคิวอะไรสักอย่างก็รู้สึกหงุดหงิด อยากจะตะโกนใส่คนข้างหน้าว่า “เร็ว ๆ หน่อยสิ !” หรือทำงานอะไรก็รู้สึกเหมือนเวลาไม่พอ รอดู YouTube ก็ต้องกดข้ามโฆษณา พอมาอ่านหนังสือหรือดูหนัง ดูละคร ก็ทนดูทีละตอนจนจบไม่ไหว ต้องแอบเปิดดูตอนจบ หรือไปหาสปอยล์มาอ่านก่อน
อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “Hurry Sickness” หรือ “โรคทนรอไม่ได้” เป็นสภาวะผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในยุคปัจจุบัน และหลายคนอาจกำลังเป็นอยู่โดยไม่รู้ตัว
ยิ่งใช้คอมฯ ยิ่งเป็น Hurry Sickness
“ยิ่งคุณใช้คอมพิวเตอร์มากเท่าไหร่ คุณยิ่งเป็น Hurry Sickness มากเท่านั้น” อ. ธาม เชื้อสถาปนศิริ
โรค “ทนรอไม่ได้” หรือ “Hurry Sickness” หรือที่เรามักเรียกกันติดปากว่า “หัวร้อน” เป็นภาวะผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคที่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นเวลานาน ไม่ใช่โรคทางจิตเวช อาการคล้าย “โรคสมาธิสั้น” แต่ไม่ใช่สมาธิสั้น
โดยบุคคลที่เป็น Hurry Sickness นั้น มักจะมีอาการใจร้อน หงุดหงิด และฉุนเฉียวง่าย กับการรออะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์นาน ๆ เคยชินกับการตอบสนองอย่างรวดเร็วของคอมพิวเตอร์ หรือมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เสพติดการใช้โซเชียลมีเดีย
นอกจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานแล้ว สาเหตุหลัก ๆ ของอาการทนรอไม่ได้ หรือ Hurry Sickness นั้น ยังมีปัจจัยความกดดันจากภายนอกจากการทำงาน วิถีชีวิตที่เร่งรีบ ความเครียด บุคลิกภาพ และแม้แต่วัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อมขององค์กรก็มีส่วนสำคัญ การจะแก้ปัญหานี้ได้ จึงต้องพิจารณาทั้งการปรับสภาพแวดล้อมและปรับตัวเราเองควบคู่กันไปด้วย
รอไม่ไหว…สัญญาณเตือน Hurry Sickness
สัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังประสบกับอาการหัวร้อน ทนรอไม่ได้ หรือ Hurry Sickness มีดังนี้
- ไม่สามารถนั่งนิ่งและรอคอยได้ คุณจะรู้สึกหงุดหงิด เมื่อต้องนั่งรอคิวหรือคอยสิ่งต่าง ๆ โดยไม่มีอะไรให้ทำ อยากจะเร่งให้เสร็จโดยเร็ว
- ใช้คำพูดรีบเร่ง เช่น “รีบหน่อย” “เร็ว ๆ หน่อย” “ช้าจังเลย”
- การเดินและทำทุกอย่างเร็วผิดปกติ เพราะอยากให้ทุกอย่างเสร็จเร็ว ๆ
- หงุดหงิดง่ายเมื่อต้องรอ และความหงุดหงิดจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อต้องเผชิญกับการรอคอย แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม
- มีอาการเครียด ปวดหัว นอนไม่หลับ
- มีปัญหาเรื่องสมาธิ ลืมบ่อย เมื่อจิตใจหวั่นไหวจากความรีบร้อน สมาธิและความจำก็จะแย่ลง
- พูดเร็วและพร่ำเพรื่อ พูดรัว ตัดบทสนทนาคนอื่น
หากคุณสังเกตเห็นสัญญาณเหล่านี้บ่อยครั้ง แสดงว่าคุณอาจกำลังประสบกับ Hurry Sickness ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อลดความเครียดและกลับมามีสมาธิมากขึ้น
Hurry Sickness ซ่อนผลกระทบหลายด้าน
ภาวะหัวร้อน ทนรอไม่ไหว หรือ Hurry Sickness นั้น แม้จะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สามารถส่งผลกระทบได้หลายด้าน ดังนี้
- ผลกระทบด้านสุขภาพกาย
- ความเครียดและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
- นอนไม่หลับ เนื่องจากความวิตกกังวลและความตึงเครียดสูง
- ปวดศีรษะบ่อย ๆ เป็นผลมาจากความเครียด
- ท้องอืดท้องเฟ้อ จากอาการเครียดและรับประทานอาหารรวดเร็วเกินไป
- อ่อนเพลียง่าย เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผลกระทบด้านสุขภาพจิต
- วิตกกังวล ซึมเศร้า ขาดสมาธิ เกิดจากความเครียดสูง
- ความสัมพันธ์กับผู้อื่นแย่ลง เนื่องจากอารมณ์ร้อนรุนแรงง่าย
- ขาดความสุข ไม่สามารถมองเห็นสิ่งดี ๆ รอบตัวได้
- มีภาวะซึมเศร้าและวิตกจริตได้ในระยะยาว หากไม่ได้รับการจัดการ
- ผลกระทบต่อการทำงาน
- งานมีคุณภาพต่ำลง เพราะทำอย่างรีบร้อนและขาดสมาธิ
- ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เนื่องจากเหนื่อยล้า ขาดพลังงาน
- ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานแย่ลง เกิดจากอารมณ์ร้อนและความตึงเครียด
- โอกาสเลื่อนตำแหน่งลดลง เพราะประสิทธิภาพงานไม่ดี
- ผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและครอบครัว
- มีปัญหากับคนในครอบครัว เนื่องจากอารมณ์ร้อน พูดจาหยาบคาย
- คุณภาพชีวิตด้อยลง ไม่สามารถมีความสุขและผ่อนคลายได้
- อาจส่งผลกระทบไปถึงเด็ก ๆ ในครอบครัวได้
จะเห็นได้ว่า Hurry Sickness ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลเสียต่อหลายด้านในชีวิต ทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจ การทำงาน และชีวิตครอบครัว การรู้จักควบคุมและจัดการอาการนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ มิฉะนั้นอาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ในระยะยาว
ป้องกัน Hurry Sickness ดีกว่าตามแก้ไข
วิธีแก้ไขและบรรเทาอาการหัวร้อน ทนรอไม่ได้ หรือ Hurry Sickness ในเบื้องต้น มีหลายวิธี ดังนี้
- จัดการกับความเครียด ด้วยการสูดลมหายใจลึก ๆ เรียกสติเมื่อรู้ตัวว่าเกิดอารมณ์ร้อน หรือหงุดหงิด
- ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม หัดคิดบวก หยุดคิดลบ รู้จักรอ หลีกเลี่ยงการโต้เถียง ร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น และรู้จักปฏิเสธงานบ้าง
- จัดการเวลาและลำดับความสำคัญ วางแผนการทำงานและกิจกรรมในชีวิตอย่างเป็นระบบ
- หากิจกรรมผ่อนคลายตามที่ตัวเองชอบ เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง ดูหนัง (แบบไม่ไปแอบดูตอนจบก่อน)
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง
- หาเวลาพัก หากมีอาการหรือปวดหัว เช่น การงีบหลับ เป็นต้น
- สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและหลีกหลีกเลี่ยงสิ่งรอบข้างที่ก่อให้เกิดความเร่งรีบ เช่น โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น
แม้ปัจจุบันโรค “ทนรอไม่ได้” หรือ Hurry Sickness จะไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่หากปล่อยไว้นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพกายแล้ว ยังส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคทางประสาทได้ หากพยายามรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้นแล้วยังรู้สึกไม่สบายใจ หรือยังไม่สามารถปล่อยวางอารมณ์ฉุนเฉียวลงได้ ก็ควรเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา
Hurry Sickness เป็นสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาที่เราต้องหยุดเพื่อสำรวจตนเองบ้าง เพราะชีวิตไม่ได้มีไว้สำหรับการรีบเร่งเพียงอย่างเดียว ยังมีสิ่งสำคัญอีกมากมายที่เราควรหันกลับไปใส่ใจและให้เวลา