เคยไหม? ตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกเหมือนวันนี้คือวันหยุด แต่พอมองปฏิทิน ดันเป็นวันทำงาน หรือบางครั้งหลังวันหยุดยาวก็มักสับสนว่า เอ๊ะ…วันนี้เป็นวันจันทร์ วันอังคาร หรือวันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์กันแน่ ?

อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “Blursday” หรือ “อาการหลงวันลืมคืน” นั่นเอง

Blursday คืออะไร?

Blursday เป็นคำผสมระหว่างคำว่า “Blur” ที่แปลว่า เบลอ ๆ มึน ๆ พร่ามัว ไม่ชัดเจน และ “Day” ที่แปลว่า วัน รวมเป็นภาษาไทยว่า “หลงวันลืมคืน” หมายถึง ภาวะที่เรารู้สึกสับสนในการแยกแยะระหว่างวันธรรมดาและวันหยุด สาเหตุหลัก ๆ มาจากวิถีชีวิตยุคใหม่ที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย และใช้เวลากับหน้าจอนานเกินไป

คำนี้เป็นศัพท์ใหม่ที่ถูกบัญญัติขึ้นโดย Oxford Dictionary ในปี 2020 มีความหมายว่า “วันใด ๆ ที่ไม่สามารถระบุแยกได้จากวันอื่น ๆ ในสัปดาห์” โดย Oxford ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุว่า “…อาการนี้เกิดขึ้นเมื่ออยู่บ้านจนเกิดอาการไม่รู้วันไม่รู้คืน สับสนว่าวันนี้เป็นวันอะไร ชีวิตแต่ละวันซ้ำซากจำเจอยู่ในสถานที่เดียว จนแยกแต่ละวันที่ผ่านไปให้แตกต่างจากกันได้ยาก วันหยุดและวันทำงานได้หลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ เป็นต้น”

แม้คำนี้จะถูกบัญญัติขึ้นหลังช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อาการนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานแบบ Work from Home หรือ Work from Anywhere คนทำงานประจำที่เริ่มต้นและจบวันด้วยหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เมื่อถึงเวลาต้องกลับไปทำงาน หรือเปิดเทอม ก็ยังสามารถปรับตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ แต่หากเป็นกลุ่มคนว่างงาน พ่อแม่ที่ดูแลลูกที่บ้าน คนที่เกษียณอายุหรือผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่เวลาในแต่ละวันผ่านไปอย่างช้า ๆ และมีกิจวัตรประจำวันแบบเดิม ๆ ย่อมยากที่จะรักษาอาการหลงวันลืมคืน หรือ Blursday ได้

แม้อาการ Blursday ที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยเรียนและวัยทำงานมากที่สุดนั้น จะไม่ใช่โรคร้ายแรงหรืออาการผิดปกติใด ๆ เมื่อเทียบกับความเจ็บป่วยทางกายและใจอีกมากมาย แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน และการขับถ่าย รวมไปถึงการสูญเสียตัวชี้นำในการรับรู้เวลา (Temporal cues) ส่งผลต่อการนึกรู้ในเส้นแบ่งของเวลาและหลงวันลืมคืน

สัญญาณเตือนอาการหลงวันลืมคืน

  • สับสนว่าวันนี้คือวันอะไร
  • รู้สึกเหมือนวันหยุดทุกวัน
  • รู้สึกเหมือนวันทำงานทุกวัน
  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • สมาธิสั้น จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นาน
  • หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย
  • รู้สึกเครียด กดดัน

ผลกระทบที่ไม่ใช่แค่หลงวันลืมคืน

อาจารย์ ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้ถึงผลพวงจากอาการหลงวันลืมคืน หรือ Blursday ไว้ว่า นอกจากจะทำให้เราสับสนในวันและเวลาแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพอย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงได้ ดังต่อไปนี้

  1. โรคอ้วน จากการกินอาหารไม่ตรงเวลา
  2. ความดันโลหิตสูง จากการไม่ออกกำลังกาย เพราะนั่งทำงาน หรืออยู่กับหน้าจอทั้งวันทั้งคืน
  3. สุขภาพจิตไม่สดชื่นสดใส ไม่กระตือรือร้น เอื่อยเฉื่อย จากการนอนไม่เป็นเวลา และนอนไม่ดี 
  4. เสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองในวัยผู้ใหญ่ และร่างกายแคระแกร็นในวัยเด็กหรือวัยกำลังเจริญเติบโต จากการนอนดึก จนส่งผลต่อการหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ของสมอง
  5. สมองช้า ขาดสมาธิ มีอาการมึน ๆ งง ๆ จากการทำงานหน้าจอ หรือใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากเกินไป ในที่เดิม ๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถหรือสถานที่ การขาดสมาธิและการที่สมองเบลอ ๆ ช้า ๆ เช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและการเรียนได้อย่างไม่ต้องสงสัย

วิธีปกป้องตัวเองจากอาการหลงวันลืมคืน

การรับมือกับภาวะ Blursday หรืออาการหลงวันลืมคืนนี้มีหลายวิธี อาจทำได้ด้วยการพยายามเรียก “Temporal cues” หรือ “ตัวชี้นำในการรับรู้เวลา” ของร่างกายกลับคืนมา ด้วยการสร้างเส้นแบ่งของเวลาในแต่ละวันให้ตัวเอง สร้างกิจวัตรประจำวันใหม่ ๆ ให้เช้า-กลางวัน-เย็น มีความแตกต่างกัน กำหนดวันพักผ่อนหรือวันที่จะทำกิจกรรมบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น ตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน ออกกำลังกายวันเว้นวัน วิ่งทุก ๆ เช้า หรือออกไปเดินเล่นทุกเย็น เพื่อให้จดจำและแยกแยะวันต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และที่สำคัญคือให้ร่างกายได้เจอกับแสงแดดที่จะช่วยปรับนาฬิกาชีวิตของเราให้สมดุลขึ้น

หากรู้สึกว่า วิธีข้างต้นยากเกินไป อาจเริ่มจากการปรับวิถีชีวิตให้มีระเบียบมากขึ้น ลองตั้งปฏิทินแบบกระดาษหรือแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อบันทึกกิจกรรมประจำวัน นอกจากนี้ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็ช่วยลดความสับสนได้ดี เพราะความเหนื่อยล้าทำให้สมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

หากปัญหา Blursday รุนแรงจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานมาก ก็อาจพิจารณาปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อประเมินสุขภาพจิตและหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะบางครั้งอาการหลงลืมวันเวลาอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

ปรับนาฬิกาชีวิตให้สมดุล

ในสังคมยุคใหม่ที่ความเร็วและความวุ่นวายเป็นสิ่งปกติ อาการ Blursday หรือการสับสนหลงวันลืมคืนจึงกลายเป็นปัญหาที่แพร่หลายขึ้นเรื่อย ๆ แม้อาการนี้จะดูน่าขันในตอนแรก แต่มันคือสัญญาณบ่งบอกถึงความไม่สมดุลของวิถีชีวิต ที่เราใช้เวลากับภาระงานและความรับผิดชอบมากจนละเลยคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของตัวเอง

การรู้จักสำรวจและปรับตารางชีวิตและนาฬิการ่างกายให้สมดุล ทั้งการกิน นอน ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมผ่อนคลาย จะช่วยให้แก้อาการหลงวันลืมคืนได้…เพราะความหลงวันลืมคืนอาจน่ากลัวกว่าที่คิด ดังนั้นจึงควรระวังและแก้ไขก่อนจะสายเกินไป