ฝีดาษลิง หรือ Monkeypox (Mpox) เป็นโรคกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ โดยเกิดจากเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ซึ่งไทยรับรู้การมีอยู่ของโรคฝีดาษลิงในปี 2022 โดยพบเคสชาวต่างชาติที่ติดเชื้อชนิดนี้ในไทย และผู้ติดเชื้อในช่วงนั้นราว 8 คน ก่อนข่าวนี้จะเงียบไป

ซึ่งจริง ๆ แล้วในช่วงปี 2023 ที่ไม่ได้มีการพูดถึงฝีดาษลิงมากนัก แต่ในเดือนสิงหาคมของปี 2023 ประเทศไทยมีเคสผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงกว่า 120 ราย ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียนในช่วงเวลาดังกล่าว

เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2024 ในต่างประเทศเริ่มมีการพูดถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงอีกครั้ง โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่า 15,000 รายจากหลายประเทศ โดยพบว่าเป็นเชื้อฝีดาษลิงชนิด Clede1b ที่มีความรุนแรง

ก่อนที่องค์การอนามัยอนามัยโลก หรือ WHO จะประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นสภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลกเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2024 ซึ่งถือเป็นระดับเตือนภัยสูงสุด เพราะพบเคสผู้ติดเชื้อนอกกลุ่มประเทศแอฟริกาเพิ่มขึ้น

และล่าสุดพบเคสผู้ติดเชื้อในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ที่ผู้ติดเชื้อเริ่มกระจายสู่ประเทศต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แล้วเราต้องกังวลกับเรื่องนี้แค่ไหน?

โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อผ่านการสัมผัสผิวหนังเป็นหลัก รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ และการใช้ของใช้ร่วมกัน อย่างผ้าเช็ดตัว เครื่องนอน และของใช้ที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่

เมื่อติดเชื้อจะเกิดอาการไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และอาจมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตา คอ จมูก ขาหนีบ อวัยวะเพศ และทวารหนัก ซึ่งตุ่มนี้จะอยู่ได้ราว 2-3 สัปดาห์ ซึ่งในระหว่างที่ตุ่มนูนยังคงอยู่ ผู้ป่วยยังสามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าตุ่มจะแห้ง ตกสะเก็ด และสะเก็ดเหล่านั้นหลุดออก นั่นหมายความว่าโรคนี้สามารถหายเองได้ในเคสส่วนใหญ่ โดยไม่ต้องได้รับการรักษา

(18 ส.ค. 2024) นพ. ยง ภู่สุวรรณ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘หมอยง’ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเตือนให้คนไทยระวังตัวจากโรคฝีดาษลิง ซึ่งสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ คือเชื้อฝีดาษลิงชนิด Clede2 ที่รุนแรงน้อย อัตราการเสียชีวิตต่ำ

โดยประเทศไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงสะสม จำนวน 827 ราย ทุกรายเป็นสายพันธุ์ Clade 2 ซึ่งความรุนแรงน้อยกว่า และเป็นคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดในแอฟริกา

แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจทำให้เกิดติดเชื้อได้ในวงกว้างได้อยู่ดี และหากกลุ่มอ่อนไหว อย่างผู้สูงอายุ เด็ก และคนที่มีโรคประจำตัวได้รับเชื้อก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไป

ไทม์ไลน์ของฝีดาษลิง

  • 1958: ค้นพบเชื้อไวรัสฝีดาษลิงในลิงที่ถูกนำมาใช้ในห้องทดลอง
  • 1970: พบการติดเชื้อฝีดาษลิงในมนุษย์ครั้งแรกที่ประเทศคองโก
  • 1970-1980: พบเคสฝีดาษลิงเป็นระยะในเขตชนบทกลุ่มประเทศแอฟริกา
  • 1980: องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกเลิกการฉีดวัคซีนฝีดาษ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับวัคซีนฝีดาษลิง
  • 2003: พบเชื้อฝีดาษลิงระบาดในสหรัฐอเมริกาจากการนำเข้าสัตว์ฟันแทะ
  • 2017-2019: พบผู้ป่วย 300 รายในประเทศไนจีเรีย หลังจากไม่พบเคสมากว่า 40 ปี
  • 2021: เกิดการรับรู้เกี่ยวโรคนี้ในวงกว้าง หลังพบคนอเมริกัน สหราชอาณาจักร อิสราเอล และสิงคโปร์ติดเชื้อฝีดาษลิงหลังกลับจากประเทศไนจีเรีย
  • 2022: พบเคสการระบาดของฝีดาษลิงเพิ่มสูงขึ้นในบางพื้นที่ของยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมถึงรายงานผู้ติดเชื้อในไทย
  • 2023: เกิดการกระจายวัคซีน และพัฒนายารักษาโรคฝีดาษลิงในหลายประเทศ, ประเทศไทยมีเคสผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 120 ราย สูงที่สุดในอาเซียน
  • 2024: จำนวนผู้ป่วยสะสม 15,000 รายในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา, องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นสภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลก (14 ส.ค.)

แล้วเราจะรับมือฝีดาษลิงด้วยวิธีไหนได้บ้าง?

เราสามารถลดความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสฝีดาษลิงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแบบใกล้ชิดกับคนที่มีความเสี่ยง การล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ รวมถึงเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ด้วย เพราะแม้จะใช้ถุงยางอนามัยก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อผ่านการจูบ หรือการสัมผัสผิวหนังได้อยู่ดี

โดยปัจจุบัน เรามีวัคซีนโรคฝีดาษลิง ซึ่งสามารถช่วยลดความรุนแรงโรคได้เมื่อติดเชื้อ แต่ไม่ใช่วัคซีนฟรี อ้างราคาจากเว็บไซต์ของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ราคาวัคซีนฝีดาษลิงอยู่ที่ 2,200-8,500 บาท/เข็ม และต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน