เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Donald Trump ได้ออกมาแนะนำให้พลเมืองอเมริกันสวมหน้ากากผ้าหรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าก่อนออกจากที่พักอาศัย รวมถึงขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ โดยยอดผู้ติดโรค Covid-19 สะสมเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด แตะ 300,000 คนแล้วจนถึงขณะนี้ (ผู้เสียชีวิต 8,452 ราย) Trump ยังกล่าวว่า นี่เป็นเพียงมาตรการขอความร่วมมือ ไม่ได้เป็นการบังคับแต่อย่างใด
ท่าที “กลับลำ” ดังกล่าว มีขึ้นหลังจากการประชุมร่วมกันของกรมควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) กับรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากก่อนหน้านี้เขาไม่ได้มีท่าทีอยากให้ประชาชนใช้หน้ากากอนามัยอย่างจริงจังนัก ซึ่งปัญหาใหญ่ในตอนนี้อีกปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดของ Covid-19 ก็คือ ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์
การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าจะช่วยลดความเสี่ยงการติดต่อของเชื้อโรคผ่านละอองฝอยและสารคัดหลั่งต่าง ๆ และจะยิ่งทำให้เพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จำกัดเกิดประสิทธิภาพ ลดการติดเชื้อของผู้คนได้เมื่อจำเป็นต้องอยู่ใกล้กับคนจำนวนมากในพื้นที่สาธารณะ โดยหน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐฯ ได้ทำการตรวจหาการติดเชื้อไวรัส Covid-14 ไปแล้วกว่า 1.4 ล้านคน พบผู้ติดเชื้อคิดเป็น 18.5% ของผู้ได้รับการตรวจทั้งหมด ขึ้นเป็นอันดับ 1 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดขณะนี้ แซงหน้าประเทษสเปน อิตาลี และจีน ที่เคยเป็นประเทศอันดับ 1 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เมื่อวานนี้ (4 เมษายน) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ยอดผู้ป่วยสะสมในสเปนพุ่งสูงถึง 124,736 คน เพิ่มขึ้น 5,537 คนภายในวันเดียว แซงหน้าอิตาลีที่มียอดผู้ป่วยสะสม 119,827 คน ทำให้สเปนเป็นอันดับ 2 ประเทศที่มีผู้ป่วย Covid-19 สะสมมากที่สุดจนถึงตอนนี้ ตามหลังสหรัฐอเมริกา (277,522 คน) โดยมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 546 ราย จากวันที่ 3 เมษายน ส่งผลให้ผู้ป่วย Covid-19 ในสเปนเสียชีวิตแล้ว 11,744 ราย เป็นรองเพียงอิตาลีเท่านั้นที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 15,000 ราย โดยกรุงมาดริด เมืองหลวงของประเทศ ถือเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อมากที่สุด พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 36,249 คน ตามมาด้วยแคว้นกาตาลุญญา 24,734 คน และแคว้นกัสตีญา ลา มันชา 9,324 ราย คน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพอย่างที่พบผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากคนกลุ่มนี้ในประเทศอิตาลี
ผลกระทบในด้านเศรษฐกิจที่เริ่มส่งผลอย่างชัดเจนนั่นก็คือ ปัญหาการว่างงานที่มีการคาดการณ์กันไว้อยู่แล้วว่าภายใน 2-3 เดือนนี้ อาจมีคนตกงานและว่างงานในสหรัฐฯ มากถึง 14 ล้านคน กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า ขณะนี้มีแรงงานชาวอเมริกันยื่นขอสวัสดิการว่างงาน สิ้นสุด ณ วันที่ 28 มีนาคม มากถึง 6.6 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สถนการณ์นี้ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ หยุดชะงักและเมื่อรวมกับตัวเลขก่อนหน้าที่มีผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงาน 3.3 ล้านคน ทำให้จำนวนผู้ว่างงานในสหรัฐฯ เพิ่มเป็นเกือบ 10 ล้านคนภายในช่วงเวลาประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น
ทั้งนี้สหรัฐฯ ไม่เคยเผชิญกับภาวะคนตกงานที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วเช่นนี้มาก่อน จนกระทั่งเมื่อเดือนที่แล้วเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัส Covid-19 จนรัฐบาลของประธานาธิบดี Donald Trump ต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อหาวิธีชะลอการระบาด นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่แล้วนักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า สหรัฐฯ อาจจะพอหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้ แต่ปัจจุบันการที่โรคระบาดทำให้ธุรกิจในหลายภาคอุตสาหกรรมปิดทำการ และบีบให้หลายบริษัทต้องปลดพนักงานออกเพื่อพยุงให้บริษัทไปรอด ทำให้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมองว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ อาจหดตัวลงอย่างรุนแรง และอาจถึงขั้นเลวร้ายกว่ายุคเศรษฐกิจตกต่ำ (Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930 เลยทีเดียว