สำนักข่าวที่น่าเชื่อถืออย่าง BBC ของอังกฤษได้รายงานข่าวว่า สหรัฐอเมริกาถูกกล่าวหาว่าทำการเปลี่ยนจุดหมายปลายทางของหน้ากากอนามัยที่เยอรมันสั่งซื้อให้ไปส่งที่อเมริกาแทน โดยใช้ศัพท์อธิบายว่าเป็นรูปแบบของ โจรสลัดยุคใหม่ หรือ Modern Piracy โดยก่อนหน้านี้ได้มีกระแสข่าวตื่นตัวในหลายประเทศว่าหน้ากากอนามัยที่พวกเขาสั่งซื้อถูกขโมยหายระหว่างการนำส่ง
และเมื่อประเมินว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจเป็นตัวชี้ชะตาของประเทศต่าง ๆ ในอนาคตทั้งความเสียหายต่อชีวิตของประชาชนในประเทศ ตลอดจนผลกระทบกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ยิ่งโรคอยู่นานเศรษฐกิจก็ยิ่งล้มนานตามไปด้วย และหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการรบกับไวรัสที่ยังไม่มีวัคซีนรักษาดังกล่าวที่ทราบกันดีในขณะนี้ก็คือ หน้ากากอนามัย ที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้ในการรักษาและป้องกัน และในตอนนี้องค์การอนามัยโลกก็แนะนำให้คนทั่วไปสวมหน้ากากเพื่อป้องกันโรคดังกล่าวแล้วด้วย ยิ่งจะทำให้อุปสงค์ของหน้ากากอนามัยสูงขึ้นไปอย่างยิ่งยวด และแน่นอนว่าประเทศใดที่ถือครองหน้ากากอนามัยได้เพียงพอไว้ในมือก็ย่อมปลอดภัยและมั่นคงกว่าประเทศอื่นนั่นเอง ดีไม่ดีโรคโควิด-19 นี้อาจเป็นตัวแปรที่จะชี้ชะตามหาอำนาจของโลกคนใหม่ก็ได้
ทั้งนี้ BBC ได้กล่าวอ้างว่า แอนเดรียส จีเซล (Andreas Geisel) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเยอรมันได้ระบุว่า หน้ากากอนามัยชนิด FFP2 (หรือ N95) ที่ผลิตโดย 3M บริษัทของอเมริกาที่มีฐานการผลิตในจีนจำนวนกว่า 2 แสนชิ้น ซึ่งสั่งซื้อโดยกรมตำรวจเยอรมันได้ถูกยึดไว้ที่กรุงเทพฯ ขณะอยู่ระหว่างทำการนำส่งไปเยอรมัน โดยจีเซลยังตั้งข้อสงสัยว่าหน้ากากจำนวนดังกล่าวถูกยักย้ายจุดหมายปลายทางไปยังสหรัฐอเมริกาแทนเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย
โดยข้อสันนิษฐานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเยอรมันมาจากนโยบาย อเมริกันเฟิร์สต์ (American First) ซึ่ง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาได้อ้างเพื่อนำ พ.ร.บ. ควบคุมการผลิต (Defense Production Act) ที่เคยประกาศใช้เมื่อปี 1950 ในช่วงสงครามเกาหลีกลับมาใช้อีกครั้ง โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ทำให้ประธานาธิบดีสามารถควบคุมการผลิตหรือส่งสินค้าวัตถุดิบต่าง ๆ ที่จำเป็นของภาคเอกชนทั้งหมดได้เพื่อความปลอดภัยของประเทศ ดังนั้นบริษัทอเมริกาอย่าง 3M ก็ต้องปฏิบัติตามแม้ว่าคำสั่งซื้อของเยอรมันนั้นจะบรรลุข้อตกลงไปแล้ว (หรือแม้แต่จ่ายเงินให้ 3M แล้ว) ก็ตาม ทั้งนี้เพราะข้อความในส่วนแรก ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ระบุว่าเอกชนต้องปฏิบัติตามคำสั่งประธานาธิบดีโดยจะอ้างผลเสียหายต่อธุรกิจเป็นข้ออ้างไม่ได้ด้วย
เมื่อประกอบกับข่าวที่ก่อนหน้านี้ อเล็กซ์ อาซาร์ (Alex Azar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐได้ระบุไว้เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่า สถานการณ์การรับมือโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ นั้นมีคลังของหน้ากากอนามัยอยู่จำนวนเพียง 30 ล้านชิ้น จากความต้องการที่บุคลากรทางการแพทย์ประเมินต้องเตรียมไว้ใช้ซึ่งมากถึง 300 ล้านชิ้น ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ นอกจากจะเร่งการผลิตของบริษัทผลิตหน้ากากอนามัยยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกาอย่าง 3M และ ฮันนีเวลล์ แล้วอาจต้องรวบรวมการผลิตที่เกิดขึ้นจากสัญญาก่อนหน้านี้ทั้งหมดไว้กับตัวด้วยเพื่อให้เพียงพอต่อการรับมือไวรัสในประเทศ
ส่วนข้อกล่าวอ้างที่เยอรมันพาดพิงถึงการยึดหน้ากากอนามัยในประเทศไทยนั้น อาจเชื่อมโยงมาจากข่าวดังในไทยที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ตรวจพบหน้ากากอนามัยจำนวน 5.6 ล้านชิ้นที่ท่าเรือแหลมฉบังกำลังเตรียมส่งออกไปยังอเมริกาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้จากข่าวดังกล่าวได้มีการชี้แจงแล้วว่า หน้ากากอนามัยดังกล่าวเป็นของ บริษัท เอ็มเมอรัลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีใบอนุญาตให้ส่งขายในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เท่านั้น ซึ่งอาจเกิดเป็นข้อสงสัยสำหรับเยอรมันว่าในจำนวนดังกล่าวมีสินค้าที่เยอรมันสั่งหรือไม่
นอกจากนี้เยอรมันยังไม่ใช่ประเทศแรกที่ออกมากล่าวหาสหรัฐฯ ในการฉกหน้ากากอนามัยเท่านั้น ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษเอง ก็ได้พูดถึงสงครามแย่งชิงหน้ากากอนามัยระดับนานาชาติ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และผู้บริหารท้องถิ่นของฝรั่งเศส ได้ระบุว่ามีขบวนการซื้อหน้ากากอนามัยตัดหน้าในสนามบินขณะกำลังนำส่งสินค้าจากจีนมายังฝรั่งเศสโดยให้ราคาสูงกว่าถึง 3 เท่า แม้จะไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำการดังกล่าวแต่ผู้บริหารท้องถิ่นของฝรั่งเศสก็ปักใจชัดว่าหน้ากากอนามัยที่ควรส่งมาตามคำสั่งซื้อของฝรั่งเศสนั้นถูกฉกไปโดยพ่อค้าและรัฐบาลของสหรัฐฯ
ความตื่นตัวข่าวการแย่งชิงหน้ากากอนามัยทั้งทางตรงและทางลับนี้ยิ่งเพิ่มความตื่นตัวในประเทศใหญ่ ๆ หลายประเทศ เช่น ที่แคนาดา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ก็ได้ออกมาแสดงความกังวลและออกมากำชับเจ้าหน้าที่รัฐบาลให้ติดตามหน้ากากอนามัยที่เป็นของแคนาดาอย่างเข้มข้นเช่นกัน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของบราซิลเอง ก็ออกมาแสดงความกังวลว่าบราซิลจะจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ทั้งหน้ากากและถุงมือได้เพียงพอหรือไม่ โดยยังอ้างถึงรายงานที่สหรัฐอเมริกาส่งเครื่องบินถึง 23 ลำ (โดยมีเครื่องของทีมอเมริกันฟุตบอลนิวอิงแลนด์ แพตทริออตส์ ส่งไปช่วยขนด้วย) เพื่อไปขนหน้ากากอนามัย 1.2 ล้านชิ้นจากประเทศจีนโดยตรง และอาจส่งผลกระทบกับคำสั่งซื้อของบราซิลที่อาจล่าช้าไปอีก จนต้องออกมารณรงค์ให้ประชาชนทำหน้ากากผ้าใช้ทดแทนไปก่อนด้วย
ยังมีรายงานว่าความกังวลเรื่องขาดหน้ากากอนามัยยังเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น อิตาลี และ รัสเซีย เป็นต้น และในขณะนี้หลายประเทศเริ่มมาตรการควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัยอย่างเข้มข้น จากรายงานของหนังสือพิมพ์เบลเยียมและอิตาลีได้ระบุว่าหน้ากากอนามัยที่สั่งผลิตจากประเทศตุรกีนั้นถูกระงับการส่งแล้ว และเป็นไปได้สูงว่าแม้แต่คำสั่งซื้อที่มีการจ่ายเงินเรียบร้อยแล้วก็จะถูกปฏิเสธการส่งสินค้าด้วย เรียกว่าเบี้ยวกันซึ่งหน้าทีเดียว โดยหนังสือพิมพ์ในตุรกีเองก็ได้รายงานข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของตุรกีได้ออกมาตรการเข้มข้นในการคุมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย โดยเอกชนรายใดไม่ให้ความร่วมมือจะถูกทหารเข้าไปยึดโรงงานเลยด้วย และสำหรับอิตาลียังได้รับผลกระทบเพิ่มเมื่อหน้ากากอนามัยที่จีนส่งมาช่วยนั้นได้มีข่าวว่าถูกยึดไว้ระหว่างการจัดส่งผ่านทางสาธารณรัฐเช็ก แม้ว่าภายหลังรัฐบาลของเช็กจะออกมาปฏิเสธแล้วก็ตาม แต่ทั้งหมดก็แสดงถึงความหวาดระแวงในการกักตุนหน้ากากอนามัยเพื่อความจำเป็นในประเทศของแต่ละประเทศมาเป็นอันดับหนึ่งนั่นเอง
ในปัจจุบันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงน่าเป็นห่วงในหลายประเทศโดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกที่มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานมากขึ้นทุกวัน และตอนนี้มียอดสะสมทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านคนแล้ว และจากข่าวข้างต้นคงเห็นความร่วมมือในการจัดการปัญหาของทุกประเทศได้ยาก ในตอนนี้แต่ละประเทศมุ่งความสนใจในการหยุดปัญหาการแพร่ระบาดของตนเองเป็นเรื่องแรกเพื่อฟื้นตัวให้ไวที่สุด เพราะผลกระทบหลังเหตุการณ์นี้อาจส่งผลระยะยาว และอาจแบ่งโลกนี้ออกเป็นประเทศที่รอดที่พร้อมจะกำหนดทิศทางของโลกต่อไป กับประเทศที่ฟื้นตัวไม่ทันตกขบวนและต้องรับการช่วยเหลือหรือแนะนำจากประเทศอื่นก็เป็นได้ น่าสนใจว่าหน้าตาของโลกเราหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส