9 เมษายน 2563 สำนักข่าวในประเทศไทยรายงานจาก นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยเพศหญิงจากจังหวัดชัยภูมิหลังรับการรักษาตัวที่กรุงเทพจนหายดี จึงกลับไปบ้านอีกครั้ง พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันก็พบเชื้อไวรัสโคโรนาในลำคอ แต่เมื่อเอ็กซเรย์ปอดแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ
คำถามที่น่าสนใจคือ โรคนี้เป็นไม่หายขาดหรือเปล่า?
มาดูข้อมูลจากฝั่งประเทศจีนกัน ประธานโรงพยาบาล Tongji, Wang Wei ให้สัมภาษณ์กับทาง CCTV ว่า จากการศึกษาผู้ป่วยจำนวน 147 คน พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 5 คนหรือคิดเป็น 3% ที่มีภาวะติดเชื้อไวรัสโคโรนาซ้ำอีกครั้งหลังจากได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว แต่ทั้ง 5 ที่ได้รับการตรวจเชื้อซ้ำอีกครั้งไม่มีอาการใด ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงไม่มีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่พบว่าติดเชื้อหลังสัมผัสกับผู้ป่วย
Wang กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าพวกเขาติดเชื้อซ้ำอีกครั้งหรือไม่ เพราะจากการตรวจเลือดก็ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนาในกระแสเลือด รวมถึงไม่ทำให้ผู้อื่นติดเชื้อต่อจากผู้ป่วยได้ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าบุคคลที่รักษาจนหายแล้ว แต่ยังตรวจเจอเชื้อซ้ำจะสามารถแพร่เชื้อต่อได้หรือไม่
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างผู้ป่วยกลุ่มอื่นอีก 15 คนจากโรงพยาบาลเดียวกันยืนยันว่ามีการพบเชื้อซ้ำอีกครั้ง แต่ไม่มีการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นต่อ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตัวเลขนี้เป็นจำนวนที่น้อยเกินไปจนไม่ยังสามารถสรุปข้อมูลใด ๆ ได้ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกเยอะ
Tu Yuanchao รองผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขมณฑลหูเป่ยได้แจ้งกับสื่อท้องถิ่นว่า หากผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตัวจนหายดีแล้ว กลับมาตรวจพบเชื้อซ้ำและมีอาการ ให้รีบรับการรักษาตัวใหม่อีกครั้ง ส่วนผู้ป่วยที่รับการรักษาจนหายดี ตรวจเชื้อซ้ำแต่ไม่มีอาการอะไรก็ให้กักตัวเองเป็นระยะเวลา 14 วันเพื่อรอดูอาการเพิ่มเติม
ในกรณีหญิงสาวชาวไทย เป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ
- เป็นไปได้ว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาซ้ำอีกครั้ง
- ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาซ้ำแต่อย่างใด อ้างอิงจากประวัติการรักษาคนไข้ ทุกอย่างปกติ ไม่มีไข้ อัตราการหายใจแรกรับ 20 ครั้งก็ปกติ ยกเว้นเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้น อาจจะเป็นเพราะการติดเชื้อแบคทีเรียก็เป็นได้
คาดการณ์เบื้องต้นคือเชื้อที่พบเจอในสารคัดหลั่งนั้นอาจเป็นเชื้อที่ตายแล้ว และไม่สามารถแพร่ระบาดได้ต่อ คล้ายกับข้อมูลของ ประธานโรงพยาบาล Tongji, Wang Wei ที่พบว่าผู้ติดเชื้อที่เจอเชื้อซ้ำก็ได้ไม่ได้มีการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์จะนำเชื้อที่ตรวจเจอนี้ไปเพาะใหม่เพื่อดูว่าสามารถเจริญเติบโตได้หรือไม่ หากเจริญเติบโตได้ก็แสดงว่าเชื้อยังไม่ตาย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส