ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกำลังตั้งข้อสงสัยกันว่า ทำไมประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือ Covid-19 น้อยมาก บางประเทศมีเพียงหลักเดียวเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศแถบยุโรปรวมถึงสหรัฐอเมริกาที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อหลักหมื่นไปจนถึงหลักล้าน ยิ่งทำให้ชวนสงสัยเข้าไปใหญ่
ยกตัวอย่างประเทศลาวและพม่าที่มีเขตแดนติดกับประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศแรกที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แต่ทั้งสองประเทศกลับมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่น้อยมาก อย่างลาวพบผู้ป่วยติดเชื้อเพียง 19 ราย และพม่าพบผู้ป่วยติดเชื้อเพียง 180 ราย ส่วนกัมพูชาและเวียดนามซึ่งมีวัฒนธรรม ความสัมพันธ์และการค้าที่ใกล้ชิดกับจีนพบผู้ป่วยไวรัสโคโรนา 122 ราย และ 288 รายตามลำดับ ถึงแม้ว่าจะมากกว่าพม่าและลาว แต่ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก
Mark Simmerman ที่ปรึกษาด้านสุขภาพในประเทศไทยและอดีตนักระบาดวิทยาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา และเคยอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ SARS เมื่อปี 2003 กล่าวว่า “ตัวเลขนี้เป็นผลจากการทดสอบที่จำกัดและการเฝ้าระวังที่ไม่ดีพอ ตัวเลขที่น้อยขนาดนี้มันไม่ใช่ของจริง”
ขณะนี้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาขึ้นมาถึง 1,000 คน โดยไทยมีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 3,017 ราย เสียชีวิตแล้ว 56 ราย ซึ่งในความจริงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในบางประเทศก็บ่นถึงเรื่องตัวเลขนี้เช่นเดียวกัน อย่าง Jusuf Kalla หัวหน้ากาชาดแห่งชาติประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า “จริง ๆ มันควรจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่าที่ทางการแถลงการณ์ แต่เพราะอัตราการตรวจที่ต่ำเกินไปนี่แหละ“
Voanews รายงานว่า อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการลาวตรวจหาผู้ติดเชื้อเพียง 131 คน หรือพม่าที่มีประชากรราว 54 ล้านคน ตรวจเพียง 300 คน ตรงกันข้ามกับเกาหลีใต้ที่มีประชากรพอ ๆ กับพม่าแต่เร่งการตรวจประชากรตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 10,000 ราย ซึ่ง Simmerman ระบุว่า มันยากนะที่จะทดสอบอย่างจริงจังและติดตามรายละเอียดทุก ๆ อย่าง รวมถึงติดตามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อด้วย
Jeremy Lim ผู้อำนวยการด้านสุขภาพระดับโลกของโรงเรียนสาธารณสุขแห่งชาติ Saw Sawee Hock แห่งสิงคโปร์กล่าวว่า “Social Distance หรือระยะห่างระหว่างบุคคลประกอบกับการล้างมือไปด้วย เป็นวิธีการที่ได้ผลดี แต่ในประเทศที่มีการกล่อมให้ประชาชนรู้สึกว่า ‘ปลอดภัย ไม่ต้องห่วง’ พวกเขาจะไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติตามมาตรการ Social Distance และนี่เองที่จะทำให้การแพร่กระจายของเชื้อเกิดได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการแพร่ระบาดนั้นมีการแพร่กระจายเป็นแบบเอ็กซ์โพเนนเชียล ยิ่งคนไม่กักตัว และทางการไม่ตรวจสอบให้มากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเข้าไปใหญ่” ซึ่ง Lim เชื่อเหมือน Simmerman ว่า ตัวเลขที่รายงานในประเทศแถบนี้ ไม่ตรงกับตัวเลขจริงของผู้ที่ติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม Matthew Griffith นักระบาดวิทยาจากสำนักงานภูมิภาคขององค์การอนามัยโลกในกรุงมะนิลากล่าวว่า ลาวกำลังพยายามทำอย่างเต็มที่ที่สุดแล้วตามกำลังและทรัพยากรภายในประเทศที่มี “เอาตามความจริงเลยนะ ไม่มีประเทศไหนที่มีเครื่องมือทดสอบที่เพียงพอแม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกา มันยากที่จะตรวจสอบในทุก ๆ ที่ ปัญหานี้มันไม่ใช่แค่เฉพาะลาว แต่มันคือระดับโลก”
ปัจจุบันประเทศที่มีผู้ติดเชื้อติดอันดับท็อปของโลกจะอยู่ฝั่งยุโรปเสียมาก โดย 5 อันดับแรกคือ
- สหรัฐอเมริกา ผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,370,016 ราย
- รัสเซีย ผู้ติดเชื้อทั้งหมด 242,271 ราย
- สเปน ผู้ติดเชื้อทั้งหมด 228,030 ราย
- สหราชอาณาจักร ผู้ติดเชื้อทั้งหมด 227,741 ราย
- อิตาลี ผู้ติดเชื้อทั้งหมด 221,216 ราย
อ้างอิง Voanews
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส