การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องใช้มาตรการ Lockdown หรือปิดเมืองเพื่อลดการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่หลายคนให้ความสนใจคือ “สภาพแวดล้อม” ซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกกลับลดลงไปเพียงแค่ 17% เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนไวรัสแพร่ระบาดอย่างหนัก

หลัก ๆ แล้ว ปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ลดลงมาจากการที่ระบบขนส่งของหลายประเทศ รวมถึงโรงงานต่าง ๆ ต้องหยุดตัวลง เพียงแค่สองปัจจัยนี้ก็นับเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า นี่เป็นเพียงภาพที่ปรากฏขึ้นเพียงชั่วคราวจากมาตรการปิดเมืองเท่านั้น หากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาเริ่มคลี่คลาย มลพิษทางธรรมชาติก็คงจะกลับมาใหม่อีกครั้ง และโลกก็จะร้อนขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสถิติใหม่ที่เราเห็นได้ในทุก ๆ ปี

นักวิจัยได้วิเคราะห์ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จาก 69 ประเทศ คิดเป็น 97% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมา ทีมสำรวจได้ข้อมูลจากระบบเศรษฐกิจทั้ง 6 ภาคที่สำคัญ ได้แก่ การขนส่งภาคพื้นดิน, การขนส่งทางอากาศ, พลังงาน, อุตสาหกรรมอาคารสาธารณะ, และที่พักอาศัยส่วนตัวเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงการปล่อยมลพิษรายวันจากแต่ละภาคส่วน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2020 เปรียบเทียบกับระดับเฉลี่ยจาก ช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 พบว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงมากที่สุดมาจากระบบขนส่ง รถยนต์ รถบรรทุก และอื่น ๆ ถึง 43% โดยประเทศที่คาร์บอนไดออกไซด์มีการปลดปล่อยน้อยลงที่สุดคือประเทศจีน รองลงมาคือสหรัฐอเมริกาและอินเดีย

ทีมนักวิจัยประเมิณว่า หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตภายในกลางเดือนมิถุนายน การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั่วโลกอาจลดลงเฉลี่ย 4% ภายในสิ้นปี 2020 แต่หากข้อจำกัดบางอย่างยังคงมีอยู่จนถึงสิ้นปีการปล่อยมลพิษโดยเฉลี่ย อาจลดลง 7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

Joeri Rogelj อาจารย์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ Imperial College London (ไม่ได้มีส่วนร่วมการเก็บข้อมูลตามรายงานนี้) กล่าวว่า “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่กำลังจะประกาศออกมา มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดมลภาวะอีกครั้ง”

อ้างอิง Livescience

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส