นอกจากอุปกรณ์ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาอย่าง ‘เจลล้างมือ’ และ ‘แอลกอฮอล์’ สำหรับพ่นแล้ว อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ดูกำลังมาแรงในช่วงนี้คงไม่พ้น ‘เครื่องฉายรังสี UV สำหรับฆ่าเชื้อ‘ ที่โปรโมตกันค่อนข้างมากว่าสามารถฆ่าเชื้อไวรัส (โคโรนา)ได้ แต่แท้จริงแล้วฆ่าเชื้อได้หรือไม่ มาไขคำตอบกันครับ
ตามที่เราทุกคนทราบกันคือ แสง UV นั้นมาจากดวงอาทิตย์ แต่ปัจจุบันก็มนุษย์เราก็สามารถสร้างอุปกรณ์ที่สามารถปล่อยรังสี UV ได้แล้ว เช่น โคมไฟ UV สำหรับฆ่าเชื้อเป็นต้น ซึ่ง UV ที่เราเรียกติดปากนั้น มีหลัก ๆ อยู่ 3ประเภทได้แก่ UV-A, UV-B และ UV-C ซึ่งแสง UV-A และ UV-B นั้นเป็นแสงที่ทำให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้า ทำให้เกิดภาวะผิวไหม้ และยังมีความเกี่ยวโยงที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังอีกด้วย โดยเฉพาะแสง UV-C ซึ่งเป็นแสงที่มีพลังงานและอันตรายมากที่สุด แต่โชคดีที่ไม่ถึงพื้นผิวโลกเพราะชั้นบรรยากาศดูดซับเอาไว้หมด
แล้วอุปกรณ์ที่สร้างแสง UV สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้หรือไม่?
อ้างอิงจาก National Academy of Sciences ระบุว่า มันมีความเป็นได้ที่จะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาหรือ SARS-CoV-2 ได้ เนื่องจากพลังงานของ UV ที่ออกมาจากอุปกรณ์ฆ่าเชื้อเหล่านี้มีพลังงานที่สามารถทำลายสารพันธุกรรมภายในไวรัสและจุลินทรีย์อื่น ๆ ดังนั้นแสง UVC จึงถูกใช้สำหรับการฆ่าเชื้อโรค ปัจจุบันมีการใช้โคมไฟหรือหุ่นยนต์ที่สามารถปล่อยแสง UV ในการฆ่าเชื้อโรคในน้ำ อุปกรณ์ในห้องแลบ รวมถึงในรถบัสและเครื่องบินเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ที่ปล่อย UV ได้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกทดสอบอย่างจริงจังว่าสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้หรือไม่ และที่สำคัญ หากใช้อุปกรณ์เหล่านี้ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังเพราะมีผลต่อร่างกายเราด้วย เช่น สร้างความเสียหายต่อผิวหนัง มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง โดยปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังหาวิธีการใช้แสง UVC ชนิดเฉพาะที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาดไม่ปลอดภัยที่จะใช้กับร่างกายของผู้คนในเวลานี้ ดังนั้น หากจะใช้ก็ระวังอย่าให้ถูกตัว และต้องใช้กับวัตถุต่าง ๆ เท่านั้น
สรุป อุปกรณ์ฉายแสง UV ที่ขายอยู่ในท้องตลาดก็น่าจะมีความสามารถในการฆ่าเชื้อโรคได้จริง เพราะ UV-C นั้นมีความสามารถในการทำลายเชื้ออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะฆ่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพหลอด UV และการวางตำแหน่งของหลอด ซึ่งต้องทดสอบเป็นรายรุ่นไป แต่ที่แน่ๆ คือแสงชนิดนี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะฉะนั้นก็ควรเลี่ยงการการอยู่ใกล้ๆ หรือจ้องมองเวลาเครื่องทำงานครับ
อ้างอิง CNET, National Academy of Sciences
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส