ในช่วงที่มนุษย์ทั้งโลกต้องเผชิญกับไวรัสโควิด-19 ตลอดเวลาเกือบครึ่งปีที่ผ่านมา อาจมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พุ่งเป้าไปที่การหาวัคซีนต่อต้านเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ตัวนี้ รวมถึงยารักษาผู้ป่วยติดเชื้อหรือวิธีการป้องกันไวรัสนี้ตามวิถี New Normal แต่ล่าสุดมีงานวิจัยเพิ่งเปิดเผยว่า ผู้ชายหัวล้านจะมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า และจะปรากฎอาการที่รุนแรงกว่าคนในกลุ่มอื่น ๆ ปัจจัยเสี่ยงของนักวิทยาศาสตร์ในงานวิจัยเรื่องนี้ ถูกเรียกว่า “แกบริน ซายน์ (Gabrin Sign)” ซึ่งเป็นการตั้งตามแพทย์ในสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตเป็นคนแรกของสหรัฐฯ นามว่า Dr. Frank Gabrin ซึ่งเผอิญว่าท่านก็เป็นคนหัวล้านพอดี
ศาสตราจารย์ Carlos Wambier จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงงานวิจัยที่ทำการศึกษาในประเทศสเปน โดยงานวิจัยแรกพบว่า 71 เปอร์เซ็นต์ (ประมาณ 41 คน) ของคนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเป็นผู้ชายหัวล้าน ส่วนอีกหนึ่งงานวิจัยที่ตีพิมพ์บนวารสาร American Academy of Dermatology พบว่า 79 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยชายที่ติดเชื้อในโรงพยาบาลของกรุงมาดริดนั้น ก็เป็นคนหัวล้าน
นอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ในเมืองจีน เมื่อเดือน มกราคม พบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อที่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนในประเทศอังกฤษนั้นก็มีรายงานว่า ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัยทำงานมากกว่าผู้หญิงมากถึงสองเท่า ผลการศึกษาทั้งสองชิ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อ “แอนโดรเจน (Androgen)” ซึ่งเป็นฮอร์โมนประเภทเดียวกับเทสโทสเทอโรน (เทียบกันกับการใช้ชีวิต การสูบบุหรี่ และภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ชายที่ไม่ค่อยส่งผลเท่าไรนัก)
ฮอร์โมนที่มีผลต่ออาการผมร่วงนั้น อาจเป็นตัวกระตุ้นความสามารถของเชื้อไวรัสในการคุกคามเซลล์อื่น ๆ ภายในร่างกาย นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานต่อไปว่า ถ้าเป็นแบบนี้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายก็อาจจะสามารถช่วยชะลออาการป่วยที่เกิดจากโควิด-19 เพื่อให้ผู้ป่วยมีเวลาต่อสู้กับโรคร้ายและฟื้นฟูร่างกายได้นานขึ้น อย่างที่เรียกว่า “เจอยาถูกโรค” โดยในขณะนี้ได้มีการทดลองใช้ยาต้านอาการผมร่วงร่วมกับยาต้านมะเร็งกับผู้ป่วยราว ๆ 200 คนในเมืองลอสแอนเจลิส ซีแอตเทิล และนิวยอร์ก
อย่างไรก็ตาม Karen Stalbow หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ในศูนย์มะเร็งของสหราชอาณาจักร ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นข้อสรุปที่แน่ชัดตามนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยออกมาล่าสุด และจำเป็นต้องการหลักฐานหรืองานวิจัยจากหลาย ๆ พื้นที่ทั่วโลกมากกว่านี้เพื่อยืนยันงานวิจัยตามที่กล่าวอ้าง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส