การทดสอบของวัคซีน Sinovac ของบริษัทจีนจะสรุปออกมาได้แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการ เพียงร้อยละ 50.4% ทดสอบในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการป้องกันโรค และนอกจากบุคคลากรทางการแพทย์ก็มีอาสาสมัครกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุด้วย
ถึงแม้ว่าการทดสอบประสิทธิภาพจะเลยมาตรฐานมาเพียงเล็กน้อย แต่ประเทศไทยก็ยังยืนยันจะใช้งานวัคซีนตัวนี้ต่อไป แต่สำหรับบราซิลนั้นผลที่ออกมาถือว่าค่อนข้างน่าผิดหวังเนื่องจากเป็นวัคซีนที่ทางการบราซิลจะเร่งจัดหามาฉีดให้กับประชาชน หลังจากมีผลการทดสอบอย่างเป็นทางการออกมาแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวัคซีนตัวนี้กันด้วย
อินโดนีเซีย
หน่วยงานที่เหมือนกับองค์กรอาหารและยาของบ้านเราได้อนุมัติวัคซีน Covid-19 ที่พัฒนาโดย Sinovac Biotech ของจีนเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกนอกจากประเทศจีนที่ไฟเขียวให้ใช้วัคซีนตัวนี้อย่างเป็นทางการ
Penny Lukito หัวหน้าหน่วยงานของ BPOM กล่าวว่าการทดลองในระยะสุดท้ายในอินโดนีเซียแสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 65.3%
“โดยรวมแล้วแสดงให้เห็นว่าวัคซีน Sinovac มีความปลอดภัยโดยมีผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงไปจนถึงปานกลางในรูปแบบของอาการปวด อาการระคายเคือง อาการบวมปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เมื่อยล้า และมีไข้” – Lukito
กัมพูชา
นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชากล่าวเมื่อวันอังคารว่า ทางการกัมพูชาได้มีการสั่งซื้อวัคซีนผ่านหน่วยงาน COVAX ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติซึ่งอุดหนุนวัคซีนให้กับ 92 ประเทศที่มีรายได้ต่ำ โครงดังกล่าวดำเนินการโดย Gavi, Vaccine Alliance ที่ให้การสนับสนุนสำหรับประเทศยากจนในการรับวัคซีนสำหรับ 20% ของประชากร โดยไม่เลือกสั่งซื้อวัคซีนของ Sinovac
“กัมพูชาไม่ใช่ถังขยะ … และไม่ใช่สถานที่ทดลองวัคซีน”
ฮุน เซน
สิงคโปร์
กาน คิม หยง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์กล่าวว่า วัคซีนจาก Sinovac Biotech ของจีนจะต้องผ่านการตรวจสอบด้านกฎข้อบังคับและการอนุญาตจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของสิงคโปร์ (HSA) ก่อนที่จะถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการได้
ทางการสิงคโปร์ได้ออกมากล่าวข้อความข้างต้นหลังจากทราบผลการทดลองว่าวัคซีนของ Sinovac ที่ถูกทดสอบในบราซิลมีประสิทธิภาพเพียง 50.4% ในการป้องกันการติดเชื้อตามอาการ ถือว่าแทบจะไม่เป็นไปตามเกณฑ์ด้วยซ้ำ ทำให้วัคซีน Sinovac ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานในสิงคโปร์ โดยตอนนี้ยังมีเพียงวัคซีน Pfizer-BioNTech ที่ได้รับการอนุมัติในสิงคโปร์
มาเลเซีย
ทางด้านมาเลเซียยังไม่ตัดสินใจใช้วัคซีน Sinovac
มาเลเซียจะตรวจสอบข้อมูลทางคลินิกของ Sinovac เป็นอันดับแรกก่อนที่จะตัดสินใจนำมาใช้
Khairy Jamaluddin
Khairy Jamaluddin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมกล่าวใน Twitter หลังจากการทดลองทางคลินิกของบราซิลพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนของ Sinovac นั้นต่ำกว่าอัตราที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้
พม่า
ทางด้านพม่านั้น ทางจีนจะยังคงจัดหาวัสดุป้องกันการแพร่ระบาดตามความต้องการของพม่า โดยทางการจีนจะมอบวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสโคโรนาฟรี และจะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวัคซีนต่อไป ก็ต้องรอติดตามกันต่อว่าจะเป็นอย่างไรต่อ
อ่านกันจบแล้ว คุณผู้อ่านมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง บอกให้เราทราบได้นะครับ
อ้าอิง Nikkei (1 2 3) Straitstimes, Reuters
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส