ทีมนักวิจัยชาวเยอรมันอธิบายสาเหตุที่เป็นไปได้ว่า ทำไมวัคซีนอย่าง AstraZeneca หรือ Johnson & Johnson จึงทำให้เกิดอาการภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยบางราย (แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายยังไม่เชื่อว่า นี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน)
อันเดรอาส์ กรายนาเชอร์ (Andreas Greinacher) หัวหน้าสถานบันภูมิคุ้มกันวิทยาและเวชศาสตร์การเปลี่ยนถ่ายที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Greifswald กล่าวว่าปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นในโปรตีนบางประเภทในวัคซีนอาจเป็นตัวการที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ทีมวิจัยได้ทำการวิจัยวัคซีน AstraZeneca สำเร็จและได้เริ่มต้นวิจัยวัคซีน Johnson & Johnson ต่อ โดยกรายนาเชอร์สันนิษฐานว่า กลไกที่ทำให้เกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันเกี่ยวข้องกับการที่วัคซีนทั้งสองชนิดนี้ใช้วิธีการปรับแต่งอะดีโนไวรัส (Modified Adenovirus) ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเซลล์ร่างกาย
ผมสันนิษฐานว่า นี่เป็นผลกระทบของวัคซีนที่ใช้อะดีโนไวรัส
อันเดรอาส์ กรายนาเกอร์ (Andreas Greinacher) – หัวหน้าสถานบันภูมิคุ้มกันวิทยาและเวชศาสตร์การเปลี่ยนถ่ายที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Greifswald
อะดีโนไวรัสเป็นตระกูลหนึ่งของไวรัสที่ทำให้เกิดอาการไข้หวัดทั่วไปของมนุษย์ แต่การนำมาใช้ในวัคซีน นักวิทยาศาสตร์ได้ปรับแต่งให้ไวรัสตัวนี้ไม่แพร่เชื้อสู่เซลล์ โดยไวรัสที่ฉีดเข้าไปจะมีหน้าที่เพียงแค่เป็นตัวนำวัตถุดิบเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น
อย่างไรก็ตามนอกจาก AstraZeneca และ Johnson & Johnson แล้วยังมี CanSino Biologics และวัคซีนจากรัสเซียที่ใช้อะดีโนไวรัสเช่นกัน แต่ทั้ง 2 ชนิดนี้กลับไม่พบเคสภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วย อีกทั้งยังมีผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก ๆ คือ มีผู้ป่วยเพียงร้อยกว่ารายจากผู้ได้รับวัคซีนจำนวนกว่าสิบล้านโดสที่เกิดภาวะดังกล่าว
COVID-19 อันตรายกว่ามาก ๆ ๆ ๆ เมื่อเทียบกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่มีโอกาสเกิดต่ำมาก
อันเดรอาส์ กรายนาเกอร์ (Andreas Greinacher) – หัวหน้าสถานบันภูมิคุ้มกันวิทยาและเวชศาสตร์การเปลี่ยนถ่ายที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Greifswald
กรายนาเชอร์อธิบายว่า ในกรณีที่หายาก โปรตีนบางชนิดในวัคซีนเมื่อเข้าไปสัมผัสกับเกล็ดเลือดในร่างกายแล้วไปทำปฏิกิริยากับเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดเปลี่ยนรูปทรง และส่งสัญญาณเตือนไปให้กับระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งปล่อยสารที่เรียกว่า Platelet factor 4 (PF4) ซึ่งช่วยในการปรับการแข็งตัวของเกล็ดเลือด
ในบางสถานการณ์ PF4 ได้ไปเกาะติดกับโปรตีนบางตัวจากวัคซีน แล้วรวมกันเป็นโครงสร้างซับซ้อนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันคิดว่า สารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นส่งผลกระทบต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตามกรายนาเชอร์กำลังวิจัยเพื่อยืนยันทฤษฎีดังกล่าวอยู่ จึงเป็นไปได้ว่า ข้อสันนิษฐานของเขาอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้
อ้างอิง: LiveScience
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส