การคิดค้นวัคซีน mRNA เพื่อป้องกันโควิด-19 นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของวงการแพทย์และเป็นการช่วยเหลือประชากรนับพันล้านคนทั่วโลก แม้วัคซีน mRNA จะถูกคิดค้นและพัฒนาหลายปีก่อนเกิดการแพร่ระบาด แต่ความรุนแรงและรวดเร็วของการแพร่เชื้อได้ทำให้วัคซีนได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน จนนักวิทยาศาสตร์สามารถผลิตวัคซีน mRNA สำหรับป้องกันโควิด-19 ได้สำเร็จ
แม้วัคซีนจะถูกผลิตออกมาได้อย่างรวดเร็ว แต่เพราะความรวดเร็วจึงทำให้ขาดการศึกษาถึงผลกระทบและประสิทธิภาพที่แน่ชัด ตั้งแต่ทั่วโลกตัดสินใจเริ่มใช้วัคซีนกับคนทั่วไป การโต้เถียงเรื่องผลข้างเคียงก็เกิดขึ้นตลอดมาจนถึงในปัจจุบัน
ล่าสุดได้มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาใหม่ผ่าน JAMA โดยเป็นอีกหนึ่งการศึกษาที่ช่วยตอบคำถามว่า การฉีดวัคซีน mRNA นั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดในระยะสั้น (6 สัปดาห์)
ข้อมูลจากประชากรจำนวน 6.2 ล้านคนที่ได้รับวัคซีน mRNA ไม่เกิน 6 สัปดาห์ได้ถูกเก็บและทำการวิเคราะห์ โดยพบว่า มีผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียงรุนแรงอยู่บ้าง แม้จะไม่มีสัญญาณชัดเจนที่เชื่อมโยงไปสู่วัคซีนก็ตาม ผลข้างเคียงของผู้ที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1-21 นั้นไม่แตกต่างกับวันที่ 22-42 หลังได้รับวัคซีน โดยโอกาสของการเกิดอาการแพ้วัคซีนนั้นมีเพียง 5 ราย จากผู้ได้รับวัคซีน 1 ล้านโดสเท่านั้น
อย่างไรก็ตามการทดลองดังกล่าวเป็นการศึกษาผลข้างเคียงในระยะสั้นของผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่เกิน 6 สัปดาห์ ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงอาการต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาหลังจากนั้น และข้อมูลที่ได้ในช่วงแรกยังอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง 100% อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ได้หลังจากนี้จะมีความแม่นยำและนำมาใช้วิเคราะห์ได้ดียิ่งขึ้น
งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (center for disease control and prevention) โดยเป็นศูนย์วิจัยที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1990 และทำการวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนต่าง ๆ ในประชากรหมู่มาก
อ้างอิง: iflscience
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส