เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าให้เราหาสิ่งที่รักให้เจอ ลงมือทำมัน และเราก็เหมือนไม่ต้องทำงานไปตลอดทั้งชีวิตไหมครับ?

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ฟังดูดีจนน่าเหลือเชื่อ และหลายคนก็คิดเช่นนั้น รวมถึง ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอคนปัจจุบันของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Apple ด้วย ในการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์รับปริญญาที่มหาวิทยาลัยทูเลนในนิวออร์ลีนส์ เขาบอกว่า “มีคำกล่าวที่ว่าถ้าคุณทำในสิ่งที่คุณรัก คุณจะไม่มีวันทำงานเลย”

เขาเว้นจังหวะนิดหนึ่งก่อนจะพูดต่อว่า “ที่ Apple ผมเรียนรู้ว่ามันเป็นเรื่องเหลวไหลสิ้นดี”

จังหวะนี้ผู้ฟังคำกล่าวสุนทรพจน์เงียบกริบ ที่เขาพูดแบบนี้เพราะเขารู้ว่าถ้าคุณเจองานที่คุณหลงรักมัน คุณจะทำงานหนักขึ้น และจะไม่รู้สึกแย่ที่ทำงานหนัก ๆ เลยต่างหาก

“คุณจะทำงานหนักมากกว่าที่คาดคิด แต่งานนั้นจะไม่รู้สึกหนักเลย”

ก่อนที่คุกจะเข้ามาทำงานที่ Apple เขามีประสบการณ์ทำงานในตำแหน่งสูง ๆ ที่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ หลายแห่ง 12 ปีที่ IBM และตำแหน่งผู้บริการที่ Intelligent Electronics กับ Compaq ด้วย ตอนที่เขาอยู่ Compaq นั้นเองก็ถูกทาบทามโดย ​Apple หลายต่อหลายครั้ง (Compaq ตอนนั้นยังเป็นผู้จำหน่าย PC ที่ใหญ่ที่สุดในโลก) แต่คุกก็บอกปฏิเสธไปเพราะยังรักในงานที่นั่นอยู่ จนกระทั่งวันหนึ่งที่คุกตัดสินใจว่าอย่างน้อย ๆ เขาควรเจอกับ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) สักครั้งหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งที่ Apple พยายามจะทำคืออะไร คุกเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับเว็บไซต์ Charlie Rose ในปี 2014 ว่า

“สตีฟเป็นคนสร้างทั้งอุตสาหกรรมที่ผมอยู่ในตอนนั้น” และบอกต่อว่า “เขากำลังทำอะไรที่แตกต่างมาก ๆ”

เมื่อทั้งคู่ได้พบกันครั้งแรก จอบส์ก็อธิบายให้คุกฟังถึงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของ Apple ว่าจะไปทางไหนต่อ อธิบายถึงตัวผลิตภัณฑ์ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของการประมวลผลต่าง ๆ ในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน (ซึ่งสินค้าที่จอบส์พูดถึงตอนนั้นคือ iMac G3 ที่มีสีสันสดใส รูปทรงกลม ที่เปิดตัวในปี 1998 ออกแบบโดย โจนี ไอฟ์ (Jony Ive))

คุกเริ่มสนใจเกี่ยวกับสินค้าและแนวทางของบริษัทที่จอบส์นำเสนอ ถึงแม้ว่าเขาจะยังมีความสุขดีกับงานที่ Compaq การมาเจอกับจอบส์ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นและมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ “เขา [จอบส์] บอกผมเรื่องดีไซน์นิดหน่อย เพียงพอที่จะทำให้ผมเริ่มสนใจ” และหลังจากการเจอกันครั้งนั้นเขาก็เริ่มมั่นใจว่าการได้ทำงานกับบุคคลมากความสามารถเป็นหนึ่งในตำนานของซิลิคอนแวลลีย์คือ “โอกาสเดียวในชีวิต”

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย เขาทำงานอยู่ในตำแหน่งที่ดีกับ Compaq และการย้ายงานไป Apple ในเวลานั้นก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย

“เมื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียโดยใช้เหตุผลมันเอียงไปทาง Compaq ทั้งหมด คนที่รู้จักเขาดีที่สุดตอนนั้นก็แนะนำว่าให้อยู่ที่ Compaq เถอะ” เขากล่าวในงานสุนทรพจน์รับปริญญาที่มหาวิทยาลัยออเบิร์นในปี 2010 อธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในตอนนั้น “ซีอีโอคนหนึ่งที่ผมไปปรึกษา เขารู้สึกเดือดมากกับประเด็นนี้ เขาบอกผมว่าผมโง่มากเลยนะถ้าลาออกจาก Compaq แล้วไปอยู่กับ Apple”

แต่คุกเองก็ทราบดีว่านี่อาจจะเป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวที่เขาจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอะไรบางสิ่งบางอย่างที่น่าสนใจ เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ของ Apple ที่เชื่อเรื่องความแตกต่าง

“ผมคิดมาเสมอว่าการเดินตามคนอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องดี มันเป็นสิ่งที่แย่มากที่จะทำ แต่ผมดูสิ่งที่ Apple กำลังทำแล้วคิดว่า อืม ผมน่าจะทำงานตรงนี้ได้ ทันใดนั้นเองก็คิดว่า ทำเลยดีกว่า มันอาจจะไม่มีเหตุผลนะ แต่สัญชาติญาณก็บอกว่าทำเลย และผมก็เชื่อแบบนั้น”

เขาเริ่มทำงานให้ Apple ในเดือนมีนาคม 1998 ในวัย 37 ปีในตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการนานาชาติที่ค่าจ้างต่อปี 4 แสนเหรียญ และโบนัสในการเซ็นสัญญาอีก 5 แสนเหรียญ คุกทราบดีว่าตอนที่เขาเข้าไปนั้นมีงานที่ต้องทำเยอะมาก บริษัทมีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย สภาพจิตใจของพนักงานก็ไม่สู้ดีนัก แต่เขาก็สามารถเข้าไปช่วยแบ่งเบางานของจอบส์ได้เยอะมาก ส่วนใหญ่แล้วทั้งคู่จะวางแผนกัน แล้วคุกก็จะจัดการได้เองเกือบทั้งหมดโดยที่จอบส์ไม่ต้องกังวลเลย ในหนังสือหนังสือชีวประวัติของเขาที่เขียนโดย วอลเตอร์ ไอแซกสัน (Walter Issacson) จอบส์เคยพูดเอาไว้ว่า “คุกมีวิสัยทัศน์ที่เหมือนกับผม เราจะคุยกันในเรื่องกลยุทธ์ต่าง ๆ และผมก็ไม่ต้องเป็นห่วงมันเลย จนกระทั่งเขากลับมาถามในภายหลัง”

จอบส์ได้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคุกเพื่อที่จะให้เขาวิ่งตามเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าแค่การทำงานที่ Compaq

“[Apple] ทำคอมพิวเตอร์ แต่อย่างน้อย ๆ ตอนนั้นคนก็ไม่ได้สนใจที่จะซื้อมัน จอบส์มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงตรงส่วนนั้น และผมก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของมันด้วย”

“ไม่ได้เกี่ยวกับ iMac หรือ iPod หรืออะไรก็ตามที่ตามมาหลังจากนั้น แต่มันเกี่ยวกับคุณค่าที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้สำเร็จ แนวความคิดที่ว่าการนำเครื่องมืออันทรงพลังมาไว้ในมือของผู้ใช้งานที่ใช้มันทุกวันจะช่วยปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์และขับเคลื่อนมนุษยชาติให้ก้าวไปข้างหน้า”

คุกตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี 4 ทุกวันเพื่อมานั่งเคลียร์งาน อ่านคอมเมนต์ของลูกค้าเพื่อจะได้เห็นว่าตอนนี้เสียงตอบรับต่าง ๆ เป็นยังไงบ้าง ตอบอีเมล ก่อนจะไปออกกำลังกายและเตรียมตัวไปทำงานต่อที่ออฟฟิศอีกทั้งวัน และเชื่อว่างานบริหารบริษัทขนาด 3 ล้านล้านเหรียญคงเป็นงานที่หนักเอาการ และถึงแม้ว่ามันจะเป็นงานที่เขารัก แต่มันก็ยังคือการทำงานอยู่ดี เพียงแต่ว่า

“คุณจะทำงานหนักมากกว่าที่คาดคิด แต่งานนั้นจะไม่รู้สึกหนักเลย”

ที่มา: Twitter YouTube CNBC 1 CNBC 2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส