ถึงตอนนี้ชื่อของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) คงเป็นชื่อที่ถูกกล่าวถึงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกออนไลน์ไปแล้ว ชายผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มีทรัพย์สินกว่า 250,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 9 ล้านล้านบาท) จากการประเมินของเว็บไซต์ Bloomberg เพิ่งมีข่าวเรื่องการเข้าซื้อบริษัทโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter ด้วยเงินกว่า 44,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) แถมตอนนี้ยังชะลอการซื้อทวิตเตอร์อีก เขาเป็นซีอีโอของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla และ SpaceX บริษัทเอกชนทางด้านธุรกิจการขนส่งทางอวกาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก และถ้าใครติดตามผลงานตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของเขาจะทราบดีว่าเขาประสบความสำเร็จมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในหลากหลายธุรกิจ โดยที่เขาไม่เชื่อในการทำสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจอย่างการทำแผนธุรกิจ (Business Plan) เลยด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักความเชื่อในการเป็นผู้ประกอบการที่เราเคยอ่านมาจากตำราโดยสิ้นเชิง
ในการสัมภาษณ์ที่งาน South by Southwest ในปี 2018 เขาได้ยอมรับอย่างเต็มอกเลยว่าได้ทิ้งแนวคิดในการพัฒนาแผนการทำงานที่เขียนขึ้นเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของบริษัทไปแล้ว
“ผมมีแผนธุรกิจย้อนกลับไปในช่วงที่ทำ Zip2 แต่สิ่งเหล่านี้มักผิดพลาดและเปลี่ยนแปลงโดยตลอด ผมเลยไม่สนใจยุ่งกับแผนธุรกิจอีกเลยหลังจากนั้น”
ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติของมัสก์ตั้งแต่เด็ก อาจจะพอเห็นภาพว่าทำไมผู้ชายคนนี้ถึงได้กลายเป็นบุคคลที่นิตยสาร Times จัดให้เป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่มีอิทธิพลต่อโลก เมื่ออายุได้ 10 ขวบเขาเริ่มสนใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สองปีต่อมาเขาสร้างเกมชื่อ Blastar แล้วขายมันให้กับนิตยสาร ‘PC and Office Technology’ ด้วยราคาประมาณ 500 เหรียญ เขาเรียนจบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์และฟิสิกส์ ในปี 1995 เขาเริ่มเรียนปริญญาเอกสาขา Energy Physics ที่สแตนฟอร์ด แต่หลังจากนั้นเพียงสองวันเขาก็ลาออกมาสร้างบริษัทของตัวเองชื่อว่า ‘Zip2’ เพื่อสร้างไกด์เมืองแบบออนไลน์สำหรับหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ ๆ อย่าง ‘The New York Times’ และ ‘The Chicago Tribune’ จนกระทั่งในปี 1999 ‘Zip2’ ถูกซื้อโดย Compaq และตัวเขาเองได้เงินทั้งหมด 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เขาให้เหตุผลการลาออกจากสแตนฟอร์ดแค่เพียงว่า “อินเทอร์เน็ตกำลังมา และผมก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของมัน” เมื่อความฉลาดบวกกับความกล้า ยกกำลังด้วยความทะเยอทะยาน ผลลัพธ์ของสมการคือ อีลอน มัสก์ คนนี้
เขากลายเป็นมหาเศรษฐีทั้งที่อายุยังไม่ขึ้นเลข 3 ด้วยซ้ำ คนปกติทั่วไปอาจจะเกษียน เอาเงินลงทุนกินดอกเบี้ยแล้วก็เดินทางรอบโลกใช้ชีวิตแบบมีความสุขไปตลอดชีวิต แต่เราไม่สามารถเอาตรรกะแบบนั้นมาใช้กับเขาได้ เพราะหลังจากนั้นเขาก็สร้าง X.com ที่ต่อมากลายเป็น Paypal และในปี 2002 ถูกซื้อไปโดย eBay ด้วยเงินถึง 1,500 ล้านเหรียญ โดยเขาถือหุ้นบริษัทมากกว่า 11% ในปีเดียวกันเขาสร้างบริษัทที่ 3 ชื่อ SpaceX โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างระบบขนส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร ภายในปี 2008 SpaceX กลายเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่ขนส่งของไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ
ไม่เพียงแค่นั้น ในปี 2015 เขาร่วมก่อตั้งบริษัท OpenAI องค์การไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อพัฒนา Artificial Intelligence ให้มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากที่สุด ต่อมาในปี 2017 เขาลงทุนในบริษัทชื่อ Neuralink ที่พัฒนาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ฝังในสมองมนุษย์ อุปกรณ์ชิ้นนี้จะช่วยทำให้เพิ่มศักยภาพของมนุษย์ให้เทียบเคียงกับ AI ได้ในอนาคต โดยตรงนี้เป็นการเน้นย้ำแนวคิดของเขาเกี่ยวกับ AI ว่าต้องมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเขาเคยพูดเอาไว้ว่าสิ่งหนึ่งที่สามารถคุกคามการดำรงอยู่ของมนุษย์ได้ก็คือ AI นี้แหละ
อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญมากไม่แพ้กันคือพลังงานสะอาด ในปี 2016 อีลอน มัสก์ ซื้อบริษัท SolarCity เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น พอต้นปี 2017 บริษัท Tesla ของเขาเปิดตัวรถยนต์ซีดานรุ่น Model 3 รถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบที่สามารถขับได้ถึง 344 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และสามารถทำความเร็วจาก 0 ถึง 60 ภายในเวลา 6 วินาที แต่สิ่งที่สร้างความฮือฮามากที่สุดคงเป็นราคา เพราะมันเริ่มต้นเพียงล้านต้น ๆ เท่านั้น ซึ่งตรงนี้จะทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่ยาก
แต่มัสก์ไม่ใช่คนแรกที่ฝันอยากเดินทางไปอวกาศ เขาไม่ใช่คนแรกที่คิดค้นพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่ผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ แต่สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากคนอื่นคือความกล้าที่จะลงมือทำ กล้าที่ยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์หลักแนวคิดและเพื่อเทคโนโลยีที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
ตลอดช่วงเวลาหลังจาก Zip2 จนถึงตอนนี้มัสก์เชื่อมาเสมอว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโลกของสตาร์ตอัปนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเหมือนอย่างที่วางแผนเอาไว้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ก็มักจะเห็นต่างในเรื่องนี้บอกว่าการไม่สร้างแผนธุรกิจนั้นเป็น ‘ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง’ ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะคนที่พยายามจะระดมทุนให้กับธุรกิจของตัวเอง
แม้แต่ มาร์ก คิวบาน (Mark Cuban) มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเองก็เชื่อต่างไปจากมัสก์ เขาบอกว่าแผนธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น ก่อนเริ่มทำธุรกิจหรือลงทุนในธุรกิจไหนก็ตาม จะต้องมีการวิเคราะห์และหาข้อมูลอย่างหนักตลอด แต่สำหรับเขาแล้วเขาเชื่อว่าแผนเหล่านี้ ‘ไม่ได้ตายตัว’ หมายถึงว่าเขายินดีที่จะเปลี่ยนแผนและปรับตัวเมื่อทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ แต่อย่างน้อย ๆ ต้องมีเอาไว้ก่อน
แนวคิดนี้ตรงกับสิ่งที่ ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) นักธุรกิจผู้ร่ำรวยเจ้าของสายการบิน Virgin บอกเช่นกัน เขาเขียนไว้ในบทความว่า “แผนธุรกิจไม่จำเป็นที่จะต้องยืดยาว หรือเป็นข้อเสนอที่คิดวางแผนทุกอย่างทั้งหมดแล้ว มันอาจจะเป็นแค่โน้ตในสมุดหรือเขียนสั้น ๆ บนหลังซองจดหมายก็ได้” และไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้มันเป็นแผนที่สมบูรณ์แบบหรือเป็นทางการ
ประเด็นเรื่องแนวคิดในการเขียนแผนธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แน่นอนว่าเราจะเอาตัวเองไปเทียบกับมัสก์ก็คงเป็นไปไม่ได้ สำหรับมัสก์ที่มีทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ แผนธุรกิจอาจจะไม่มีความจำเป็น แต่สำหรับผู้ประกอบการทั่วไปคงยังจำเป็นอยู่ แต่กระนั้นจะรอให้มันสมบูรณ์เป็นแผนที่ลงรายละเอียดทุกอย่างก็คงไม่ได้เริ่มสักที มันอาจจะต้องมีจุดกึ่งกลาง มีไว้บ้างก็คงไม่ได้เสียหายอะไร โดยมัสก์ก็ให้เขาแนะนำเพิ่มเติมว่าผู้ประกอบการทุกคนแทนที่จะใช้เวลาครุ่นคิดแผนธุรกิจ ให้ถามตัวเองด้วยคำถามง่าย ๆ ก่อนจะเริ่มทำธุรกิจว่า “ต้องถามตัวเองว่าบางอย่างนั้นเป็นเรื่องจริงรึเปล่า ธุรกิจของคุณนั้นเป็นไปได้ไหม” ซึ่งคำตอบนี้จะช่วยนำทางธุรกิจว่าควรไปต่อหรือควรหยุดไว้เพียงแค่ตรงนี้ อาจจะสำคัญไม่แพ้แผนธุรกิจเลยทีเดียว
ที่มา: Bloomberg, Time, CNBC, Forbes, Beartai, CNBC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส