วอลเตอร์ ไอแซ็กสัน (Walter Isaacson) นักเขียน นักข่าว และศาสตราจารย์ชาวอเมริกันที่นักอ่านทั่วโลกน่าจะคุ้นเคยชื่อเป็นอย่างดี หนังสืออัตชีวประวัติที่เขาเขียนให้กับ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ได้รับความนิยมอย่างมาก ขายได้กว่า 3 ล้านเล่มภายในปีแรกที่ตีพิมพ์ ตอนนี้กำลังเขียนหนังสือเล่มใหม่กับ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และมีโอกาสไปเป็นแขกรับเชิญในรายการ ‘CNBC’s Squawk Box’ เกี่ยวกับดีลระหว่างทวิตเตอร์และมัสก์ที่กำลังเป็นข่าวกันตอนนี้
มีช่วงหนึ่งที่ไอแซ็กสันพูดถึงบุคลิกหนึ่งที่ทำให้มัสก์และบุคคลที่ประสบความสำเร็จคนอื่น ๆ อย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates) และจอบส์ มีคล้าย ๆ กัน นั่นคือการตัดอารมณ์ความรู้สึกออกให้หมดเมื่ออยู่กับเพื่อนร่วมงานและพนักงานของบริษัท และที่สำคัญคือไม่มีการประนีประนอมหรือลดมาตรฐานเพื่อจะบรรลุวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ของธุรกิจ ไอแซ็กสันกล่าวว่า
“ความสามารถนั้นคือการไม่เอาอารมณ์มาเกี่ยวข้องและไม่ถนอมน้ำใจเพื่อจะทำให้วิสัยทัศน์ของพวกเขาเป็นจริงได้ นั่นคือสิ่งที่จอบส์มีและเกตส์ก็มีเช่นกัน เป็นสิ่งที่คนเหล่านี้มีเพราะพวกเขาไม่ได้มองหาความรักจากคนที่นั่งตรงหน้า พวกเขากำลังหาวิธีพาจรวดไปดาวอังคาร”
ในอดีตพนักงานของ Tesla มักบอกว่ามัสก์เป็นพวกที่ชอบควบคุมทุกอย่าง (Micromanager) แบบสุดขั้ว พร้อมจะแสดงความไม่พอใจออกมาทันทีเมื่อพนักงานทำไม่ได้ตามมาตรฐานที่วางไว้สูงมาก หรือไม่สามารถทำงานได้ตามกำหนดเวลาที่เขาวางเอาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกำหนดการที่ทะเยอทะยานอย่างมาก เป็นคนตรง ๆ แข็งกระด้าง ทำงานด้วยไม่ง่ายเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจและมีอารมณ์ขันด้วย
นี่ฟังดูเหมือนสิ่งที่พนักงานของ Apple พูดเกี่ยวกับจอบส์เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่เขาวิจารณ์หรือฟีดแบ็กสิ่งที่พนักงานทำจะบอกอย่างตรง ๆ ไม่มีการอ้อมค้อม ยิ่งถ้าเขารู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์หรือไม่ประทับใจ กาย คาวาซากิ (Guy Kawasaki) อดีตผู้บริหารบอกว่าจอบส์จะไม่มาเสียเวลากับการ ‘รักษาน้ำใจ’ ที่ออฟฟิศและคนที่ทำงานให้เขาต้อง ‘ทำอย่างดีที่สุด’ ไม่งั้นก็เตรียมตัวเก็บของกลับบ้านได้เลย คาวาซากิบอกว่า
“คุณต้องพิสูจน์ตัวเองทุกวัน ไม่งั้นจอบส์ก็จะปลดคุณออกเลย”
แน่นอนว่าสิ่งที่มัสก์เชื่อหรือทำนั้นไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่เรื่องการพูดจากระด้างกระเดื่อง แต่เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตของพนักงานโดยรวมด้วย เพราะทุกคนต้องทำงานหนักมาก ซึ่งมัสก์เองก็ยอมรับครับว่าตัวเองเรียกร้องจากพนักงานของเขามากเช่นกัน โดยมัสก์เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Bloomberg ว่า
“ถ้าความคาดหวังคือ ‘เฮ้ เราจะอยู่โดยไม่ต้องทำงานหนักหรือไม่เครียดสุด ๆ’ นั่นเป็นเรื่องที่ผิด ไม่จริงเลย เพื่อให้เราประสบความสำเร็จ เพื่อให้เราสามารถอยู่ได้ เราต้องทำงานหนักมาก ๆ”
ไอแซ็กสันกล่าวว่าเขาเห็นการคล้ายคลึงกันของความตรงไปตรงมาเมื่ออยู่ในสังคมระหว่างมัสก์กับจอบส์ “มัสก์มีความคล้ายคลึงมากกับจอบส์ในเรื่องการเป็นคนตรง ๆ นั่นเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นอัจฉริยะของเขาล่ะ”
ซึ่งเมื่อเราไปดูทางด้านเกตส์ก็จะเห็นคุณลักษณะนี้เช่นเดียวกัน (แม้ว่ามัสก์กับเกตส์จะมองหน้ากันไม่ค่อยติดเพราะว่าเกตส์ช็อตหุ้นของ Tesla ก็ตาม) เกตส์ยอมรับในพอดแคสต์ ‘Armchair Expert’ ในปี 2020 ว่าตอนที่เริ่มต้นบริษัทเขาไม่ได้เป็น ‘ที่รัก’ ของพนักงานสักเท่าไหร่นัก ด้วยความที่เขากับจอบส์เป็นคู่แข่งที่ฟาดฟันกันมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ จึงทำให้เวลาทำงานต้องจริงจังมากและสนใจแค่เพียงอย่างเดียวนั่นคือผลลัพธ์ที่ออกมาตรงกับเป้าหมายที่วางเอาไว้หรือเปล่า ไม่ได้สนใจว่าคนรอบข้างจะคิดยังไงด้วยซ้ำ
ไอแซ็กสันซึ่งช่วงหลังได้ใช้เวลากับมัสก์เยอะขึ้นเพราะกำลังเขียนหนังสืออัตชีวประวัติบอกว่าการที่มัสก์เป็นแบบนี้อาจมาจากความจำเป็นด้วยเพราะทุกอย่างสำหรับเขามันเร่งรีบและไม่มีจังหวะให้มาเสียเวลาเพราะต้องดูทั้ง Tesla และ SpaceX แม้ว่ามัสก์จะกำลังมีคดีกับทวิตเตอร์ แต่นั่นไม่เคยทำให้เสียสมาธิในการทำงานเลย
ไอแซ็กสันชี้แจงว่ามัสก์เป็นคนที่แคร์เกี่ยวกับชื่อเสียงของตนเองอยู่ไม่น้อย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นคนเถรตรงและใช้คำพูดรุนแรงกับพนักงานลดลงเพื่อทำให้วิสัยทัศน์ของบริษัทเป็นจริง เขากล่าวต่อว่า
“ถ้ามัสก์นั่งอยู่หน้าคนสี่หรือห้าคนที่ทำตัวเร่งของยาน Starship พลาด เขาจะพูดว่า ‘ถ้าผมเริ่มรู้สึกเห็นอกเห็นใจ [พวกเขา] แทนที่จะย้ายพวกเขาออกไป แสดงว่ามีการเอาใจใส่ผิดที่แล้ว ความใส่ใจของผมคือการเดินทางไปยังดาวอังคาร ไม่ใช่กับคนที่อยู่ตรงหน้า’”
เพราะฉะนั้นสำหรับมัสก์แล้วถ้าจะไปดาวอังคาร เขาไม่เอาอารมณ์มาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ สิ่งที่ทำให้แผนการล้มเหลวต้องตัดออก แม้จะถูกมองว่าไร้หัวใจก็ตาม
CNBC 1 The New York Times CNBC 2
Bloomberg CNBC 3
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส