ชื่อของ เจมี่ ซิมินอฟฟ์ (Jamie Siminoff) อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนในบ้านเรา แต่ในสหรัฐฯ นั้นเขาค่อนข้างมีชื่อเสียงพอตัว ในฐานะนักธุรกิจเจ้าของและผู้ก่อตั้ง Ring กริ่งประตูที่สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้ แจ้งเตือนว่ามีคนมากดกริ่งประตูบ้าน และสามารถมองเห็นหน้าตาแขกผู้มาเยือนได้อีกด้วย ซึ่งเป็นสินค้าที่ทำเงินให้เขามหาศาลด้วยตัวเลข 1,000 ล้านเหรียญ ด้วยเรื่องราวชีวิตอันน่าอัศจรรย์ของเขา ที่หลายสื่อนำไปเล่าต่อกันมากมาย จากคนถังแตก แต่พลิกผันเป็นมหาเศรษฐีได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น มาทำความรู้จักเขากันครับ

เจมี ซิมินอฟฟ์ อัจฉริยะนักคิด

โรงรถของ เจมี ซิมินอฟฟ์

เจมี่ ซิมินอฟฟ์ เป็นทั้งนักธุรกิจ นักประดิษฐ์คิดค้น ในอดีตนั้นเขาเคยคิดค้นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาหลายตัว ขายดีบ้าง เจ๊งบ้าง เขาและเพื่อน ๆ เคยทำแม้กระทั่งอาหารเสริมชื่อว่า “Body Mint” มีส่วนผสมหลักคือ คลอโรฟิล จุดขายก็คือสามารถขจัดกลิ่นกายได้ แต่ข้อเสียก็คือ มันทำให้อุจจาระออกมาเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นเหตุให้สินค้าตัวนี้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จก็มี อย่างเช่น “SimulScribe” ซอฟต์แวร์ที่ช่วยเปลี่ยนข้อความเสียงเป็นข้อความตัวหนังสือได้ ตัวนี้ดึงดูดความสนใจของ DiTech บริษัทเทคโนโลยีให้มาร่วมเทเงินลงทุนด้วยถึง 17 ล้านเหรียญ การเซ็นสัญญาในครั้งนั้น ทำให้ซิมินอฟฟ์ได้รับส่วนแบ่งมาด้วยมากกว่า 1 ล้านเหรียญ ทำให้เขาเริ่มคิดอยากนำเงินไปต่อยอดด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อีก
“สิ่งที่ผมประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมานั้น มันยังไม่มีตัวไหนที่มีผลดีต่อโลกเราเลย”

ในปี 2011 เจมี่ ซิมินอฟฟ์ อายุได้ 35 ปี เป็นปีที่ชีวิตเขาเริ่มพลิกผัน จุดเริ่มต้นชีวิตของเขานั้นเหมือนกับนักธุรกิจระดับโลกหลาย ๆ คน ที่ใช้โรงรถเป็นสำนักงาน ในแต่ละวัน ซิมินอฟฟ็ก็ขอบขลุกตัวอยู่แต่ในโรงรถกับเพื่อน ๆ ช่วยกันคิดค้นอุปกรณ์ใหม่ ๆ กันขึ้นมา แต่ปัญหาก็คือ เมื่อเขาทำนู่นนี่เสียงดังในโรงรถ พอไรเดอร์มาส่งของ กดกริ่งประตู ซิมินอฟฟ์ก็ไม่ได้ยิน เมียก็ตะโกนบ่นว่า มีคนมาส่งของแล้วซิมินอฟฟ์ก็ไม่ได้ยินแล้วไม่ออกไปรับเสียที ตรงนี้ละ ที่ทำให้ซิมินอฟฟ์เกิดปิ๊งไอเดีย เอาปัญหาที่เขาเผชิญนี่ล่ะ มาต่อยอดเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่เสียเลย มันคงจะดี ถ้าเราออกแบบเทคโนโลยีเชื่อมต่อ กริ่งประตูบ้านเข้ากับแอปบนโทรศัพท์มือถือซะ พอกดกริ่ง แอปก็เด้งเตือน แถมมีวิดีโอคอล มองเห็นหน้าแขกผู้มาเยือนอีกด้วย

เสี่ยงโชคในรายการ Shark Tank

เจมี ซิมินอฟฟ์ ตอนที่ไปออกรายการ Shark Tank (2013)

ปี 2013 ซิมินอฟฟ์ก็เทกระเป๋าลงทุนเปิดบริษัทใหม่ในชื่อ Doorbot แล้วผลิตกริ่งประตูอัจฉริยะล็อตแรกของเขาออกมา 5,000 ชิ้น โดยส่งไปผลิตในโรงงานที่ไต้หวัน รวมต้นทุนในการผลิตและขนส่งแล้ว ซิมินอฟฟ์ตั้งราคาขายไว้ที่อันละ 200 เหรียญ นับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง แน่นอนว่าสินค้าใหม่ บริษัทไม่เป็นที่รู้จัก ราคาค่อนข้างสูง ทำให้ซิมินอฟฟ์อยู่ในสถานะคนถังแตก เพราะเทเงินลงทุนไปหมดตัว จนมีนักลงทุนคนหนึ่ง เสนอไอเดียว่าเขาลองไปออกรายการ Shark Tank ดู เป็นรายการเรียลลิตี้โชว์เชิงธุรกิจ ในรายการจะมีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จระดับพันล้าน ซึ่งเปรียบนักลงทุนเหมือนฉลาม (Shark) มาฟังผู้เข้าแข่งขันนำเสนอจุดเด่นของสินค้าหรือบริการ และแผนธุรกิจ ถ้าฉลามสนใจก็จะให้เงินไปร่วมลงทุนด้วย มีรายการ Shark Tank Thailand ด้วย แพร่ภาพทางช่อง 7

หลังสมัครไป ทาง Shark Tank ก็สนใจ ให้ซิมินอฟฟ์มาออกรายการในเดือนพฤศจิกายน 2013 ซิมินอฟฟ์คาดหวังกับการออกรายการ Shark Tank อย่างมาก เขาคาดการณ์ไว้ว่าเขาจะได้เงิน 700,000 เหรียญ เพื่อแลกกับสัดส่วนหุ้นในบริษัทที่ 10% เพื่อจะนำเงินก้อนนี้ไปต่อลมหายใจให้บริษัทได้
“เราเปรียบเสมือนบริษัทเส็งเคร็งเล็ก ๆ ในโรงรถ ที่ตายไปแล้ว การมาออก Shark Tank เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เรารอดต่อไปได้”

ตกรอบ เดินกลับด้วยความผิดหวัง


แต่โชคชะตาไม่เข้าข้าง ฉลามไม่ให้ความสนใจกับธุรกิจของ Doorbot ซิมินอฟฟ์ต้องผิดหวังกลับบ้าน แต่การออกรายการก็ยังมีข้อดี เพราะอย่างน้อยก็เปรียบเสมือนการได้โฆษณาสินค้าไปด้วย หลังออกรายการ สินค้าสามารถขายได้ถึง 1 ล้านเหรียญ ภายในเวลาแค่เดือนเดียว แต่ลูกค้าก็ไม่พอใจกับคุณภาพของ Doorbot ต่างรีวิวกันอย่างเสียหายว่า เสียงกริ่งอู้อี้บ้าง สัญญาณไวไฟห่วยต่อแล้วก็หลุด รีวิวที่รุนแรงที่สุดเขียนไว้บน Amazon ว่า
“สินค้าโคตรแย่ที่ผลิตจากบริษัทที่ไร้จรรยาบรรณ”

หลายรายไม่อยากเขียน แต่อยากโทรมาด่าด้วยตัวเองสะใจกว่า ซึ่งซิมินอฟฟ์ก็มีสปิริตดีพอ ที่จะรับสายต่อว่าจากลูกค้าเอง มีลูกค้าโทรมาต่อว่าถึง 50 รายภายในระยะ 9 เดือน ซึ่งซิมินอฟฟ์ก็รับสายเองและตอบอีเมลลูกค้าด้วยตัวเองทั้งหมด เขาค่อนข้างจริงใจกับลูกค้าด้วยการใส่อีเมลส่วนตัวลงบนกล่องสินค้าด้วย ไม่แค่นั้น เขาตั้งเป้าไว้ว่า จะออกไปซ่อมแซมกริ่งประตูให้ลูกค้าเองให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 บ้าน
“ผมจะไม่ยอมหยุดพัก”

หนทางเริ่มสว่างไสว

ริชาร์ด แบรนสัน ก็ร่วมลงทุนใน Ring

หนทางของซิมินอฟฟ์เริ่มมีแนวโน้มสดใสในเดือนมีนาคม 2014 เมื่อ Foxconn บริษัทไอทียักษ์ใหญ่สัญชาติไต้หวัน ที่เป็นโรงงานผลิต iPhone ให้ Apple สนใจร่วมลงทุนกับซิมินอฟฟ์ Foxconn มาร่วมออกแบบให้ใหม่และปรับปรุงข้อบกพร่อง ซ้ำยังใจดีถึงกับลงทุนผลิตให้ด้วยล็อตแรก 30,000 ชิ้น แถมราคายังลดต่ำลงมาครึ่งหนึ่ง เหลือขายได้เพียงชิ้นละ 100 เหรียญเท่านั้น แต่ซิมินอฟฟ์ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ เขายังต้องการขยายธุรกิจให้ใหญ่โตขึ้นไปอีก ด้วยการชักชวนนักธุรกิจรายอื่น ๆ ให้มาร่วมลงทุนใน Doorbot รายหนึ่งที่สนใจก็คือ แฮเม็ตต์ วัตต์ (Hamet Watt) เจ้าของ Upfront Ventures วัตต์เป็นคนเสนอไอเดียให้ซิมินอฟฟ์เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Doorbot เป็น Ring จะดีกว่า เพราะเป็นคำสั้น ๆ ที่ให้ความหมายตรงตัวได้ 2 อย่างคือ เสียงกริ่งประตูดัง และเป็นกิริยาที่หมายถึงการโทรแจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้อีกด้วย ซิมินอฟฟ์เห็นชอบ แต่ก็เจอปัญหาอย่างหนึ่งคือมีธุรกิจที่จดทะเบียนโดเมนเนม ring.com ไปก่อนหน้านั้นแล้ว ซิมินอฟฟ์ยอมควักกระเป๋า 1 ล้านเหรียญ ขอซื้อโดเมนเนมนี้ต่อจากเจ้าของเดิม
“ถ้าคุณต้องการเป็นผู้เล่นตัวจริงในตลาดนี้ คุณต้องดูเหมือนเป็นหนึ่งเดียว”

ในปี 2015 Ring ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในปีนี้มหาเศรษฐีชื่อดังอย่าง ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) ขอโดดมาร่วมทุนด้วยอีกคน เขาได้รู้จัก Ring โดยบังเอิญ เมื่อมีคนรู้จักมาเยี่ยมเยียนเขาที่เกาะส่วนตัว ระหว่างที่สนทนากันอยู่นั้น แขกผู้นี้ก็พูดคุยกับพนักงานส่งของผ่านวิดีโอคอล นาทีนั้นแหละที่ Ring ดึงความสนใจของแบรนสันได้อยู่หมัด
“Ring ตอบโจทย์สำหรับผมมาก มันคือผลิตภัณฑ์ที่จะป้องกันบ้านของคุณไม่ให้ถูกยกเค้าได้ ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าฉลามใน Shark Tank ปล่อยผ่านเจมีไปได้ไง”

ปี 2016 ซิมินอฟฟ์เลือกวิธีการโปรโมตผลิตภัณฑ์ของเขาได้อย่างเฉียบแหลมมาก เมื่อเขาขอความร่วมมือจาก สถานีตำรวจลอสแองเจลิส ซิมินอฟฟ์ขออนุญาตแจกฟรีกริ่งประตูอัจฉริยะของเขาให้กับชาวบ้านใน วิลเชียร์ พาร์ก ซึ่งเป็นชุมชั้นคนชั้นกลาง จำนวน 40 หลังคาเรือน เพราะว่าชุมชนนี้เดือดร้อนจากการถูกตีนแมวงัดบ้านบ่อยมาก และ 40 หลังคาเรือนที่ติดตั้งกริ่งประตูอัจฉริยะนั้นก็เป็นสัดส่วนแค่ 10% ของชุมชนทั้งหมด แต่ผลที่ได้กลับน่าประทับใจมาก เพราะสถิติการถูกงัดบ้านนั้นลดลงไปถึง 55% ภายในระยะเวลา 6 เดือน เพราะที่ผ่านมานั้น โจรจะเลือกงัดบ้านที่มั่นใจว่าไม่มีคนอยู่ แต่ Ring ก็ช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้

ถึงตอนนี้หลังบ้านเริ่มแข็งแรงแล้ว เงินทุนมีพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาที่ซิมินอฟฟ์จะพาสินค้าของเค้าเข้าสู่ตลาดใหญ่ กริ่งประตูอัจฉริยะของ Ring มีพร้อมจำหน่ายในทุกห้างสรรพสินค้าใหญ่ เขาเริ่มลงทุนทำโฆษณาทีวีต่อเนื่องหลายตัว โดยมีตัวซิมินอฟฟ์เองเป็นพรีเซนเตอร์ แล้วได้ ชาคีล โอนีล (Shaquille O’Neal) มาเป็นพรีเซนเตอร์ร่วม ซึ่งชาคีลไม่รับค่าตัวเป็นเงินสด แต่ขอรับเป็นสัดส่วนหุ้นใน Ring แทน โฆษณาแต่ละตัวจะมีชาวบ้านที่อุปโลกว่าเป็นลูกค้ามาบอกเล่าข้อดีต่าง ๆ ของกริ่งประตู Ring โฆษณาประสบความสำเร็จ ยิ่งช่วยดันยอดขายให้เพิ่มขึ้นไปได้อีก

เศรษฐี 1,000 ล้านเหรียญ ในวัย 41 ปี

ปี 2017 Ring เติบโตขึ้นอย่างมาก เขามีสินค้าหลักถึง 10 ตัว มีพนักงานมากกว่า 1,300 คน มีสินค้าวางจำหน่ายใน 16,000 ร้าน ทั่วโลก ในปีเดียวกันนั้น Amazon เริ่มรุกตลาดเทคโนโลยี Smart Home ที่ต้องเจอกับคู่แข่งรายสำคัญทั้ง Google และ Nest โดยเริ่มจากที่ Amazon เข้าซื้อ Blink อีกหนึ่งผู้ผลิตกริ่งประตูอัจฉริยะ แล้วก็ร่วมลงทุนกับ Ring ในโปรเจกต์ที่ให้ Ring ช่วยพัฒนาความสามารถของ Alexa ระบบผู้ช่วยเสมือนภายในบ้าน ที่รับคำสั่งด้วยเสียงของ Amazon เพื่อให้ Alexa สามารถควบคุมกริ่งประตูบ้านได้ด้วย หลังจากร่วมงานกันมาได้ 1 ปี ก็ดูเหมือน Amazon จะมั่นใจในศักยภาพของ Ring และ เจมี ซิมินอฟฟ์ จึงทำการเข้าซื้อ Ring ที่มูลค่า 1,000 ล้านเหรียญ ในปี 2018

หลังการเข้าซื้อครั้งนี้ ทำให้ เจมี ซิมินอฟฟ์ ในวัย 41 ปี กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับ 1,000 ล้านทันที เขายังคงดำรงตำแหน่งเป็น Ceo ของ Ring แต่สัดส่วนหุ้นของเขาลดเหลือเพียงแค่ 10% เท่านั้น หลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Amazon แล้ว Ring ก็มีศักยภาพในการทำตลาดมากขึ้น กริ่งประตูอัจฉริยะของ Ring สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้สูงถึง 97% ในสหรัฐอเมริกา แต่ Ring ก็ยังคงพัฒนากริ่งประตูอัจฉริยะให้มีความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อหนีคู่แข่งที่ตามมาอีกนับสิบยี่ห้อ Ring รุ่นใหม่ ๆ จะมีกล้องที่สามารถจับภาพกลางคืนได้ มีลำโพง ไฟ LED ในตัว และส่งเสียงไซเรนได้ถ้าตรวจพบผู้บุกรุก

กลับไปร่วมรายการ Shark Tank ในฐานะ “ฉลาม”

และในปี 2018 เจมี ซิมินอฟฟ์ ก็สามารถลบล้างภาพความอับอายในอดีตของตัวเองได้หมดสิ้น เมื่อรายการ Shark Tank ได้เชิญเขาให้มาร่วมรายการในซีซันที่ 10 แต่รอบนี้เขากลับมาในฐานะ “ฉลาม” อย่างสมภาคภูมิ ซิมินอฟฟ์นั้นถือว่าเป็นผู้เข้าแข่งขันคนแรกในประวัติศาสตร์ของรายการที่ได้กลับมาในฐานะ “ฉลาม” ได้สำเร็จ

ที่มา ที่มา ที่มา ที่มา