ชาร์ลี มังเกอร์ อดีตรองประธานบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ ผู้เป็นตำนานแห่งวงการการลงทุน เปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เขาไม่เพียงแต่ทิ้งมรดกทางปัญญาด้านการลงทุนไว้เบื้องหลังเท่านั้น แต่ยังฝากบทเรียนชีวิจอันล้ำค่าไว้แก่คนรุ่นหลังอีกด้วย
ในระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้น ปี 2024 วอร์เรน บัฟเฟตต์เปิดวิดีโอคารวะถึงมังเกอร์ และได้กล่าวยกย่อง ชาร์ลี มังเกอร์ ว่าเป็น “สถาปนิกแห่ง Berkshire” มังเกอร์กำหนดทิศทางของ Berkshire Hathaway ส่วนบัฟเฟตต์รับบทบาท “ผู้รับเหมาทั่วไป” ที่ปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ของมังเกอร์ในทุกวัน และยกย่องว่ามังเกอร์มักถ่อมตนและความสามารถของมังเกอร์ได้สร้างความประทับใจและความเคารพอย่างลึกซึ้งจากผู้เข้าร่วมประชุมและบัฟเฟตต์เอง
ซึ่งในช่วงสุดท้ายของชีวิตมังเกอร์ได้ถ่ายทอดบทเรียนสำคัญ 5 ข้อ โดยแต่ละข้อเต็มไปด้วยปรัชญาที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ไม่มีวันเสื่อมคลาย สำหรับทุกคนที่อยากเติบโตและก้าวไปข้างหน้าในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ความน่าเชื่อถือคือหัวใจสำคัญ
สองนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งมังเกอร์และบัฟเฟตต์เชื่อว่า ‘ความน่าเชื่อถือ’ คือหัวใจสำคัญของความสำเร็จ ในมุมมองของพวกเขาทั้งคู่เห็นว่าความน่าเชื่อถือไม่ได้เป็นแค่คุณสมบัติที่ดีงาม แต่เป็นพื้นฐานที่สร้างความไว้วางใจระหว่างคุณกับผู้อื่น ไม่ว่าจะในธุรกิจ ความสัมพันธ์ หรือการใช้ชีวิตส่วนตัว
ความน่าเชื่อถือ หมายถึง การทำสิ่งที่คุณสัญญาไว้ หากคุณรับปากหรือมอบหมายงานบางอย่างให้กับตัวเอง คุณต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์โดยไม่หาข้อแก้ตัว
ถ้าคุณขาดความน่าเชื่อถือ คุณจะล้มเหลวทันทีไม่ว่าจะมีความสามารถในด้านอื่นมากเพียงใด
อย่างไรก็ตาม การสร้างความน่าเชื่อถือไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน มันต้องใช้เวลาและการกระทำที่สม่ำเสมอ พิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนที่ทำตามคำพูดได้จริง และเมื่อคุณทำสำเร็จ ความน่าเชื่อถือที่คุณสร้างขึ้นจะกลายเป็นสมบัติที่ล้ำค่าและส่งผลดีในระยะยาวในทุกด้านของชีวิต
มังเกอร์ยังเสริมถึงความน่าเชื่อถือมีผลต่อความสำเร็จทางการเงินและธุรกิจด้วย เช่น หากคุณดำเนินธุรกิจด้วยความน่าเชื่อถือ ลูกค้าจะกลับมาหาคุณอีกครั้ง นักลงทุนจะมีความมั่นใจที่จะร่วมงานกับคุณ และพนักงานจะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานในองค์กรที่ยึดมั่นในคุณค่าเดียวกัน
ดังนั้น การทำให้ตัวเองเป็นคนที่น่าเชื่อถือควรเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ เช่น การตรงต่อเวลา การรักษาสัญญา และการตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดเสมอ เมื่อคุณทำสิ่งเหล่านี้เป็นนิสัย ความน่าเชื่อถือจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนคุณ และจะนำพาคุณไปสู่ความสำเร็จในชีวิตอย่างมั่นคง
ฝึกฝนการคิดย้อนกลับ
อีกหนึ่งแนวคิดที่โด่งดังของมังเกอร์คือ ‘การคิดย้อนกลับ’ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาโดยเริ่มจากการมองหาสิ่งที่อาจผิดพลาดหรือสร้างปัญหา แล้วหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นแทนการคิดไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว เขาเชื่อว่าการคิดเช่นนี้ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงความล้มเหลวและเพิ่มโอกาสความสำเร็จในทุกด้านของชีวิต
วิธีคิดนี้ช่วยให้เรามองปัญหาในมุมที่ต่างออกไป และสามารถระบุอุปสรรคหรือความเสี่ยงที่อาจมองข้ามไปได้ ตัวอย่างที่เขายกมาคือในเกมไพ่บริดจ์ (Bridge) ผู้เล่นที่เก่งจะไม่เพียงถามว่า “ฉันจะทำอย่างไรให้ได้แต้มมากที่สุด?” แต่จะคิดย้อนกลับไปด้วยว่า “อะไรคือสิ่งที่อาจทำให้ฉันเสียแต้มมากที่สุด?” การคิดทั้งสองทางนี้จะช่วยให้การตัดสินใจมีความรอบคอบมากขึ้น
ในชีวิตจริง การคิดย้อนกลับช่วยในหลายสถานการณ์ เช่น หากคุณต้องการความสำเร็จในงาน คุณควรถามตัวเองว่า “อะไรจะทำให้งานนี้ล้มเหลว?” แทนที่จะคิดแค่ “ฉันจะทำให้งานนี้สำเร็จได้อย่างไร” การค้นหาความล้มเหลวที่เป็นไปได้และป้องกันมัน จะเพิ่มโอกาสให้คุณประสบความสำเร็จมากขึ้น
อีกทั้งการคิดย้อนกลับยังสามารถนำไปใช้ในความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือการบริหารชีวิต โดยที่คุณอาจถามตัวเองว่า “อะไรที่จะทำลายความสัมพันธ์นี้?” เช่น การไม่ใส่ใจ การพูดจาไม่ดี หรือการเพิกเฉยต่อความต้องการของอีกฝ่าย การหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
Invert, always invert
โดยมังเกอร์เตือนให้พวกเราสังเกตรูปแบบของความล้มเหลวเหล่านี้ และเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงพวกมัน
เรียนรู้จากคนเก่งและความล้มเหลวของคนอื่น
การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นทั้งในแง่ของความสำเร็จและความล้มเหลวคือตัวช่วยที่ยอดเยี่ยมในชีวิต เพราะเรานั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองเสมอไป แต่สามารถเร่งความสำเร็จได้ด้วยการศึกษาบทเรียนจากผู้อื่นในอดีตและปัจจุบัน
มังเกอร์ยกตัวอย่างแนวคิดการเรียนรู้จากความสำเร็จของคนอื่นในเชิงเปรียบเทียบว่า หากคุณสามารถ “ยืนบนไหล่ของยักษ์” คุณจะสามารถมองเห็นและเข้าใจโลกได้ไกลและกว้างกว่าเดิม ความสำเร็จของคนที่มาก่อนหน้าเราเต็มไปด้วยบทเรียนอันล้ำค่าที่ช่วยให้เราไม่ต้องเสียเวลาไปกับการทดลองที่อาจล้มเหลว ดั่งที่มังเกอร์นั้นนับถือและเรียนรู้วิชาจากทั้งเบนจามิน เกรแฮมกับเบนจามิน แฟรงคลิน สองผู้ยิ่งใหญ่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
หนังสือประวัติศาสตร์ราคาไม่กี่ร้อยบาท อาจซ่อนบทเรียนที่มีคุณค่าเทียบเท่ากับเงินหลายพันล้านบาท หากคุณตั้งใจที่จะศึกษาและนำมาปรับใช้
ในขณะเดียวกัน เขายังกล่าวถึง “ความรู้แบบเชิงลึก” และ “ความรู้แบบคนขับรถ” เพื่ออธิบายความแตกต่างของความลึกซึ้งในการเรียนรู้
- ความรู้แบบเชิงลึก หมายถึง ความเข้าใจเชิงลึกที่ผ่านการศึกษาและประสบการณ์มาอย่างยาวนาน
- ความรู้แบบคนขับรถ เป็นเพียงความสามารถในการท่องจำหรือเลียนแบบสิ่งที่คนอื่นพูด แต่ขาดการเข้าใจเนื้อหาอย่างแท้จริง
การเรียนรู้จากความล้มเหลวของผู้อื่นนั้นสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ความผิดพลาดมักจะวนซ้ำในรูปแบบเดิม เช่น การล้มละลายในธุรกิจ การตัดสินใจที่ขาดข้อมูล หรือความประมาทในชีวิตส่วนตัว โดยมังเกอร์เตือนให้พวกเราสังเกตรูปแบบของความล้มเหลวเหล่านี้ และเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงพวกมัน
รวมถึงมังเกอร์ยังเน้นถึง ‘ความอ่อนน้อมถ่อมตน’ ในการเรียนรู้จากทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว เนื่องจากเหล่าคนที่มั่นใจในตัวเองมากเกินไปและไม่เปิดใจรับฟังบทเรียนจากผู้อื่น มักจะพลาดโอกาสสำคัญในชีวิต
เตรียมตัวรับมือกับความลำบาก
“ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” เราต้องพร้อมรับมือกับปัญหาและความไม่ยุติธรรมที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต อย่างไรก็ตาม มังเกอร์เชื่อว่า การเตรียมพร้อมและมองปัญหาเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ช่วยให้เราเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่จมอยู่กับความทุกข์อันยากลำบาก
ในทุก ๆ ความลำบากนั้นแฝงไว้ด้วยบทเรียนสำคัญ หากเรามองมันเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง แทนที่จะจมอยู่ในความเสียใจหรือความทุกข์ จะสามารถเปลี่ยนความลำบากให้กลายเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ได้
ยิ่งเราฝึกฝนและเตรียมพร้อมในยามปกติมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งรับมือกับสถานการณ์ยาก ๆ ได้ดีขึ้นเท่านั้น
โดยในเชิงปฏิบัติ มังเกอร์แนะนำให้เราฝึกมองสถานการณ์ในมุมมองที่หลากหลาย เช่น การคิดถึง “สิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้น” และถามตัวเองว่าเรามีแผนหรือทรัพยากรอะไรบ้างที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นไปได้ แนวทางนี้ไม่เพียงช่วยให้เรารับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยลดความวิตกกังวลในระยะยาวอีกด้วย
เข้าใจและจัดการความผิดพลาด
ทุกคนต้องเผชิญกับข้อผิดพลาดหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาดในช่วงหนึ่งของชีวิต แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การพยายามหลีกเลี่ยงความผิดพลาดทั้งหมด แต่อยู่ที่ความสามารถในการเข้าใจและจัดการกับมัน มังเกอร์กล่าวไว้ว่า “ชีวิตไม่มีทางที่จะปราศจากความผิดพลาด แต่คุณสามารถเรียนรู้ที่จะทำผิดพลาดให้น้อยกว่าคนอื่น และแก้ไขมันได้เร็วขึ้นเมื่อมันเกิดขึ้น”
คนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่คนที่ไม่เคยผิดพลาด แต่เป็นคนที่เรียนรู้จากความผิดพลาดได้เร็ว
เปรียบชีวิตกับเกมโป๊กเกอร์ ซึ่งในบางครั้ง คุณอาจต้องยอมแพ้ แม้จะรักไพ่ในมือขนาดไหนก็ตาม เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรู้จักประเมินใหม่ว่าคุณอยู่ในสถานะที่ดีพอจะสู้ต่อหรือไม่ และไม่จมปลักกับสิ่งที่ผิดพลาดจนพลาดโอกาสใหม่ที่ดีกว่า
และสำหรับมังเกอร์ การเข้าใจความผิดพลาดไม่ได้หมายถึงการโทษตัวเอง แต่เป็นการใช้ข้อผิดพลาดนั้นเป็นโอกาสเรียนรู้ เขาแนะนำให้เรามองข้อผิดพลาดเป็นบทเรียนสำคัญ และใช้มันในการพัฒนาตัวเองและการตัดสินใจในอนาคต
ท้ายที่สุด Munger ฝากข้อคิดไว้ว่า ควรตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราสามารถนำบทเรียนเหล่านั้นมาปรับใช้ในชีวิตและงานของเราอย่างไร และเราจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไรในทุกวัน”
คำแนะนำของ Charlie Munger สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่ทั้งเรียบง่ายและลึกซึ้ง ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตและการทำงานได้จริง แม้เขาจะจากไปแล้ว แต่แนวคิดและมรดกทางปัญญาของเขายังคงเป็นแสงนำทางให้คนรุ่นต่อไปเดินตามสู่ความสำเร็จ