สรุป Session Future of media โดยพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จํากัด, ณัฏฐา โกมลวาทิน จากสำนักข่าว THE STANDARD, จิตสุภา วัชรพล สำนักข่าวไทยรัฐ ในงาน CTC 2024 ที่จะร่วมเสวนาเพื่อหาคำตอบในยุค AI Transformation กับอนาคตสื่อไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป
ความท้าทายวงการสื่อในปัจจุบัน

พี่หนุ่ย หรือพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เริ่มแชร์มุมมองว่า ช่วงผลิบานหอมหวานสุดของวงการสื่อมีเดียนั้นได้ผ่านไปแล้วตั้งแต่หมดช่วงโควิด เนื่องจากในโควิดช่วงนั้นแบรนด์ต่าง ๆ ที่ถืองบประมาณการตลาดไว้ ไม่สามารถจ่ายกับการออกบูทโปรโมต หรือจัดตั้งอีเวนต์ใด ๆ ได้เลย ทำให้งบส่วนนี้ของแทบทุกแบรนด์ถูกนำมาลงในส่วนโฆษณารีวิวผ่านช่องทางออนไลน์กัน ส่งผลให้ตลาดของสื่อจึงคึกคักมาก แต่มันอาจไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
ตอนนี้พฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป ผู้ชมที่เคยดูคอนเทนต์ออนไลน์หลายรายการลดลง แต่ผู้สร้างคอนเทนต์เพิ่มขึ้นสวนทางกันอย่างน่าประหลาดใจ โดยปัจจุบันประเทศไทยมี Influencer ราว ๆ กว่า 2 ล้านคน จากทางสภาพัฒน์ฯ และต้องยอมรับว่า 1 เพจไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาเพื่อคนทุกกลุ่มได้อีกแล้ว ผู้ชมรายการเราเค้าติดตามเพราะคอนเทนต์แบบหนึ่ง ถ้ามีคอนเทนต์แปลก ๆ มาผู้ชมอาจไม่ได้กดดูและไม่ได้รับความนิยมเท่าคอนเทนต์หลักประจำช่อง (รายการออริจินอล)

ซึ่งทางคุณจิตสุภา วัชรพล จากสำนักข่าวไทยรัฐ เห็นด้วยว่าเราตอบสนองกลุ่มผู้ชมเราด้วยเนื้อทุกประเภทไม่ได้ เพราะไม่สามารถรองรับทุกความสนใจของแต่ละคนดูได้ในที่เดียวอีกต่อไป จึงได้เปิดช่องเพิ่ม 8 ช่อง เพื่อขยายความสนใจของผู้บริโภคที่มากขึ้นเยอะ จับกลุ่มคนดูที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังทำให้ได้ใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มมากขึ้นด้วย

และฝั่งของ THE STANDARD คุณณัฏฐา โกมลวาทิน นั้นก็มองถึงโอกาสความเปลี่ยนแปลงของคอนเทนต์ที่หลากหลายเช่นกัน และช่วงต้นปีก็พึ่งเปิดช่อง THE STANDARD SPORT มาเพิ่ม ทำให้ตอนนี้ก็มีช่องหลัก 8 ช่อง แล้ววางตำแหน่งองค์กรตัวเองว่าอยู่ตรงกลางระหว่างไทยรัฐที่มีการนำเสนอข่าว Mass กับข่าวเฉพาะทางแบบ BT beartai
นี่จึงทำให้เหล่าสื่อต่าง ๆ รู้เลยว่า พฤติกรรมผู้เสพสื่อเปลี่ยนไปอย่างไร การนำเสนอแบบสื่อเก่าหมดไปแล้ว เรากำหนดให้ผู้ชมต้องมาดูเราแบบช่องโทรทัศน์ไม่ได้อีก และเทรนด์ทำคลิปก็ยังคงคาดเดายาก เพราะความสั้น-ยาวของวิดีโอเปลี่ยนไปมาอย่างต่อเนื่อง จึงสรุปได้ว่า ปัจจุบันการเข้าใจศาสตร์และศิลป์ของโลกโซเชียลเป็นความคิดตั้งต้นที่คนทำสื่อควรที่จะมี
คำแนะนำทางออกให้คนทำสื่อต่อไปได้ในอนาคต
อันดับแรก รับรู้ถึงเป้าหมายและคุณค่าของสื่อเราว่าเป็นอย่างไร เมื่อเรายึดจุดมุ่งหมายของเราให้มั่นแล้ว ค่อยกำหนดว่าเราทำสื่อหรือคอนเทนต์ไปเพื่ออะไร ไม่ต้องขยันทำเยอะ เน้นที่คุณภาพดีกว่าปริมาณ เพราะคอนเทนต์ที่ดีจะขายด้วยตัวมันเอง ยอดวิวอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีเสมอไป
อีกทั้งสำนักข่าวใช้ AI ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าไม่ใช้ตกยุคแน่นอน เมื่อนำมาใช้แล้วก็ควรรู้ว่าใช้อย่างไรให้เพิ่มพูนคุณค่าในองค์กร และสำคัญเลยคือเราก็ต้องมีความรู้ที่เท่าทันการใช้เครื่องมือเหล่านี้เช่นกัน
ต่อมาอีกสิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจลูกค้าว่าคือใคร วิเคราะห์คนดูในเชิงลึก ทำเล็กก็ได้หรือเล่นใหญ่ก็ได้ แต่ต้องโฟกัสกลุ่มคนดูเป็นสำคัญ แล้วกำหนดเป็นมาตรฐานให้ชัดเจน พร้อมทั้งพัฒนาเพิ่มเติมสิ่งใหม่ ๆ ด้วยมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ทาง THE STANDARD เน้นย้ำว่ายิ่งมี Community ได้ยิ่งดี จะรักษาให้คนดูเราได้ก็ต้องมีความสม่ำเสมอในการอัปคลิป เพื่อให้เกิดการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง
และส่วนสุดท้ายคือ การเข้าใจ Business Model ของเรา รู้ว่าเราจะหารายได้จากส่วนไหน มียอดวิวเยอะแล้วเอาไงต่อดี และหากสื่อต้องการขยายช่องทางเพื่อรองรับกลุ่มผู้ชมที่มากขึ้น ก็ควรต้องมี KPI วัดผลที่ชัดเจน เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ไม่สร้างรายได้หรือคุณค่าต่อสังคมก็รู้ให้ไว้ว่า เวลาไหนควรปล่อยแล้วตัดบางช่องทางออก ก่อนจะต้องรับความเสียหายที่หนักกว่าเดิม และต้องรู้จักบาลานซ์สมดุลระหว่างธุรกิจและความเป็นตัวเองของแบรนด์ เพื่อทำให้การก้าวมาเป็นผู้สร้างคอนเทนต์นั้นสนุกได้ยาว
โลกไม่อนุญาตให้คุณทำธุรกิจไหนคนเดียว เมื่อมีคนทำมากขึ้น แปลว่าคุณทำถูกแล้ว มาถูกทาง แต่ความยากคือ ทำอย่างไรให้อยู่ต่อไปได้
การรับชมเซสชัน Future of media นี้ นับว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ทำสื่อทุกท่านแน่นอน จะทำให้เข้าใจองค์รวมความท้าทายของสื่อในปัจจุบัน และแนวการเตรียมรับมือเพื่อเติบโตด้านการทำสื่อต่อไปในอนาคต