ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนสำคัญด้านสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมไม่เพียงพอที่จะรับมือกับความท้าทายนี้ Green Technology จึงกลายเป็นความหวังสำคัญในการขับเคลื่อนโลกสู่เป้าหมาย Net Zero โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาปั้นสตาร์ตอัปของตนเอง พวกเขาไม่เพียงแต่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม การผสมผสานระหว่างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้มนุษยชาติสามารถสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

เหล่าสตาร์ตอัปที่มุ่งช่วยโลกสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทั่วโลกมีสตาร์ตอัปมากมายที่กำลังมุ่งแก้ปัญหาโลกเดือด และนี่คือตัวอย่างสตาร์ตอัปที่มีผลงานน่าสนใจ

  • Dotz สตาร์ตอัปจากสหรัฐอเมริกา พัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ที่ช่วยลดมลพิษทางอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยี DotzEarth โดยใช้วัสดุจากพลาสติกเหลือใช้เพื่อผลิตวัสดุดักจับคาร์บอน ไม่เพียงช่วยดักจับ CO₂ แต่ยังเป็นการนำวัสดุใช้แล้วกลับมาเป็นประโยชน์สูงสุด
  • Enpal สตาร์ตอัปสัญชาติเยอรมันที่เติบโตอย่างรวดเร็วด้านพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้ระบบการให้เช่าแผงโซลาร์เซลล์แทนการขาย ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้โดยไม่ต้องลงทุนสูง
    พร้อมบริการติดตั้ง ดูแลรักษา และจัดการพลังงานผ่านซอฟต์แวร์อัจฉริยะ จึงเป็นตัวเลือกที่สะดวกและคุ้มค่า ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า 65,000 รายในเยอรมนี และกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง​
  • Algenesis เป็นสตาร์ตอัปจากสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งผลิตพลาสติกย่อยสลายได้จากสาหร่ายโดยใช้เทคโนโลยี Soleic™ มีคุณสมบัติเหมือนพลาสติกแบบทั่วไปแต่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ในเวลาที่สั้นกว่ามาก เป็นโซลูชันที่มีความยั่งยืนและช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในระยะยาว​
  • Pi Green Innovations บริษัทสตาร์ตอัปจากอินเดียนี้พัฒนาอุปกรณ์ที่ชื่อว่า “Carbon Cutter” เป็นเครื่องกรองมลพิษจากยานพาหนะที่สามารถลดปริมาณมลพิษได้ถึง 90%
    เทคโนโลยีนี้ตอบโจทย์เมืองที่การจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะที่อินเดียและยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ส่วนในประเทศไทยเองก็มีสตาร์ตอัปที่น่าสนใจและกำลังเติบโตในด้านนี้เช่นกัน

Arbon กับ Biochar Concrete นวัตกรรมกรีนที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหา “โลกเดือด”

Biochar Concrete ถูกคิดค้นโดยสตาร์ตอัป ที่ชื่อ Arbon จาก SCG เป็นการจับก๊าซ CO₂ มาฝังไว้ในคอนกรีต ซึ่งต้องย้อนไปตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตถ่านชีวภาพ หรือ Biochar ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว ใบหญ้า ซังข้าวโพด ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าเสียซึ่งจะคายก๊าซ CO₂ ออกมา หรือถูกนำไปเผาทิ้งตามท้องไร่ นา สวน แล้วก่อให้เกิด PM 2.5 จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านี้ ด้วยวิธีการเผาแบบอับอากาศ ไม่ให้มีออกซิเจน เพื่อไม่ให้กลับมาปล่อยก๊าซ CO₂ ได้อีก จนได้มาเป็น Biochar ที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ในตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นถ่านที่มีรูพรุนสูงมาก ทำให้ดูดซับก๊าซ CO₂ เข้ามาเก็บไว้ได้

กลุ่มสตาร์ตอัป Arbon ได้ศึกษาแล้วพบว่า Biochar นี้มีคุณสมบัติช่วยเสริมความแข็งแรงให้คอนกรีตได้ด้วย จึงได้นำ Biochar ซึ่งเป็นก้อน Carbon ในรูปที่เสถียรเติมลงไปในคอนกรีตจนเกิดเป็น Biochar Concrete ที่ทั้งกักเก็บ CO₂ ไว้ และแข็งแรง ทนทั้งน้ำและการกัดกร่อน ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับบริษัท CPAC (ซีแพค) ได้ร่วมกันนำ Biochar Concrete นี้ไปสร้างถนนและที่จอดรถ ขนาด 4,900 ตารางเมตร ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว

แรงบันดาลใจของ Arbon เกิดขึ้นจากความสนใจร่วมกันของคนในทีม ที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน โดยเห็นศักยภาพงานวิจัยของตนว่าสามารถนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมกรีนที่ช่วยโลกได้ และการเข้าร่วมโครงการ Zero To One ของ SCG ก็เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ได้รับการสนับสนุนพัฒนาไอเดียนี้ให้เป็นจริง

“ความท้าทายของสตาร์ตอัปสายกรีนคือการเปลี่ยนวิธีคิดจากนักวิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม ไปสู่การนำเสนอและขายนวัตกรรมเหล่านั้นสู่ตลาด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นนวัตกรรมกรีนที่มีต้นทุนสูง เราจำเป็นต้องหาทางให้ธุรกิจไปต่อได้ พร้อมต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของลูกค้าและชุมชน เพราะเป้าหมายหลักของเราคือการสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยโลก การได้ร่วมงานกับโครงการ Zero to One เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ได้ทำงานที่ท้าทายและทำตาม Passion ของตัวเอง” เบญจลักษณ์ ณ ลำปาง นักวิจัย กลุ่ม green circular technology

Wake Up Waste ปฏิวัติการจัดการขยะ ด้วยเเนวคิด “เเยกย่อย่อย” สู่โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน

วิกฤตขยะล้นเมืองเป็นปัญหาระดับโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น สาเหตุหลักมาจากการที่ขยะที่ไม่ได้รับการคัดแยกอย่างเหมาะสม ซึ่งมักจบลงด้วยการฝังกลบหรือกลายเป็นขยะไหลลงสู่ทะเล ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

กลุ่มสตาร์ตอัป Wake Up Waste หนึ่งใน Internal Start Up ของ SCGC ได้พัฒนาแพลตฟอร์มจัดการขยะรีไซเคิลแบบครบวงจร และรถบีบอัดขยะ ช่วยจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยเเนวคิด “เเยก-ย่อ-ย่อย”

“แยก” หรือแนะนำต้นทางคัดแยกขยะคุณภาพและจัดการขยะผ่านแอปฯ “ย่อ” หรือบีบอัดขยะภายในรถด้วยเทคโนโลยีพิเศษ ทำให้สามารถขนขยะได้ในปริมาณมากเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และ “ย่อย” หรือจัดการขยะโดยโรงงานรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

หลังจากดำเนินการของ Wake Up Waste ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น ด้วยฐานลูกค้ากว่า 400 แห่ง และสามารถรีไซเคิลขยะได้ถึง 2.3 ล้านกิโลกรัม ลดการปล่อยก๊าซ CO₂ ได้กว่า 1,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จนได้รับรางวัล Gold จาก MAT Award 2023 ยิ่งทำให้มั่นใจในศักยภาพของธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้

กองขยะที่มีขยะรีไซเคิลได้ปนอยู่ ทำให้เราเห็นโอกาส ไม่ใช่แค่ช่วยโลก แต่คือการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ได้สร้างความยั่งยืน จึงสมัครเข้าโครงการ ZERO to ONE ของ SCG พัฒนาแพลตฟอร์ม Wake Up Waste จัดการขยะรีไซเคิล ได้เรียนรู้การทำธุรกิจแบบสตาร์ตอัป เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากงานประจำ” ภัทรพร วงศ์ปยะสถิตย์ Co-Founder Wake Up Waste, SCG Internal Startup

KITCARBON แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลวัสดุก่อสร้างลดคาร์บอน และช่วยคิดคาร์บอนโครงการตั้งแต่เริ่มดีไซน์

ในระดับโลกกำลังตื่นตัวอย่างมากเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ในประเทศไทย กลุ่มธุรกิจใหม่ KITCARBON ภายใต้ ธุรกิจ เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ได้ใช้ BIM Technology มาช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มช่วยคำนวณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากวัสดุก่อสร้าง (Embodied Carbon) ช่วยให้ผู้ประกอบการออกแบบโครงการและเลือกวัสดุที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการดีไซน์ และยังรวบรวมวัสดุก่อสร้างที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ไว้อย่างครบถ้วน

“KITCARBON คือแพลตฟอร์มที่ช่วยคำนวณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการก่อสร้างตั้งแต่ การออกแบบเพื่อให้สามารถปรับและ เลือกใช้วัสดุคาร์บอนต่ำได้ก่อนสร้างอาคาร และ ติดตามการใช้ได้ตามแนวคิด คิดก่อนสร้างเพื่อยกระดับการก่อสร้างสู่ Green Construction” พงศ์พันธ์ สุธิชัย Virtual Design and Construction Manager, KITCARBON Platform

นอกจากนี้ SCG ยังได้สนับสนุนให้พนักงานได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และพัฒนางานอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้ได้ร่วมมือกับองค์กรชั้นนำระดับโลก

แบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาด (Heat Battery)

โดยกลุ่มวิศวกร SCG ได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการผลิตอิฐทนไฟ (Thermal Media) ร่วมมือกับ Rondo Energy สตาร์ตอัปอเมริกา พัฒนาให้อิฐทนไฟสามารถกักเก็บความร้อนได้ที่อุณหภูมิสูงถึง 1,500 องศาเซลเซียส และนำความร้อนดังกล่าวมาใช้งานได้ทั้งในรูปแบบลมร้อน (Hot Air) และไอน้ำ (Steam) โดยปราศจากกระบวนการเผาไหม้ หมายความว่า Heat Battery ถือเป็นการผลิตพลังงานสะอาดโดยแท้จริง โดยนวัตกรรมกรีนระดับโลกนี้ จะถูกนำมาใช้ที่แรกที่โรงงานปูนซีเมนต์ของ SCG ที่จังหวัดสระบุรี มีแผนการขยายกำลังการผลิตของ Rondo Heat Battery เพิ่มเป็น 90 GWh ต่อปี เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานที่ยั่งยืนและสะอาดในอุตสาหกรรม การเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทดสอบนวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถสร้างแนวทางสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และสร้างสรรค์พลังงานสะอาดให้กับโลกได้

การได้ร่วมงานกับสตาร์ตอัปต่างประเทศอย่าง Rondo ถือเป็นโอกาสที่ท้าทายและน่าตื่นเต้น เพราะเราได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และแนวคิดที่ล้ำสมัย พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาโซลูชันที่ยั่งยืน นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเอสซีจีเปิดรับโอกาสระดับโลกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” วิทวัส สิงห์จาน Sale & Commercial Associate Director, SCG Cleanergy

คนที่มี Passion อยากมีธุรกิจ หรือคิดอยากพัฒนานวัตกรรมกรีนช่วยโลก ตอนนี้ SCG เปิดพื้นที่แห่งโอกาสผ่านเวทีประกวดในโครงการต่าง ๆ อาทิ Zero to one

แม้ว่าเส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero อาจดูเป็นเรื่องยาก แต่เราได้เห็นความพยายามจากทุกภาคส่วนที่กำลังเร่งร่วมมือพัฒนานวัตกรรมกรีนให้พร้อมใช้งาน หากเรา ‘ร่วมมือและเร่งเปลี่ยนสู่ Green Transition’ ปลุกความเชื่อร่วมกันว่า ‘ยากไม่เท่ากับเป็นไปไม่ได้’ … ความมุ่งมั่น ทุ่มเท และความพยายามของเราจะนำไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน

ชมคลิป “ยากไม่เท่ากับเป็นไปไม่ได้” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกันที่ Youtube