วันก่อนได้นั่งคุยกับเพื่อนคนหนึ่งที่มางานสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับนักธุรกิจในดวงใจ ชื่อของ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) ก็โผล่ขึ้นมาเป็นหนึ่งในนั้นสำหรับเราทั้งคู่ อาจจะเพราะว่าเขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในยุคของเราเลยก็คงไม่ผิดนัก

มันทำให้ผมนึกย้อนถึงการสัมภาษณ์ของอีลอน มัสก์ ที่เคยอ่านเจอหลายครั้ง เขามักพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “Mental Models” (โมเดลความคิด) ที่เป็นโครงสร้างของแนวคิดสำหรับตัวของเขาเอง ซึ่งเรียกว่า “First Principles” (ในโลกนี้ก็มีหลากหลายโมเดล คนที่ประสบความสำเร็จที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ อย่างมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) หรือเจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ก็มีโมเดลความคิดในรูปแบบของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป) ที่บอกว่าให้เราเริ่มต้นกระบวนการคิดทั้งหมดจากจุดเริ่มต้นของความจริงที่เรารู้เท่านั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการแตกย่อยคอนเซ็ปต์หรือความคิดออกเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่เป็นความจริงจนไม่สามารถแตกย่อยลงไปกว่านี้ได้อีกแล้วนั่นเอง

สมมติว่าคุณอยากทำไข่เจียว ก็สามารถแตกออกให้เป็น ไข่ น้ำปลา ผงปรุงรส น้ำมัน แล้วหลังจากนั้นก็ประกอบมันเข้าด้วยกัน

มัสก์เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ First Principles เอาไว้ว่ามันเป็นเหมือน “การมองโลกในมุมของฟิสิกส์และย่อยทุกอย่างออกมาให้เป็นส่วนของความจริงที่ย่อยที่สุด” มีอะไรบ้างที่เรารู้ว่ามันคือความจริง หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ สร้างทุกอย่างจากตรงนั้น

ในการสัมภาษณ์มัสก์อธิบายว่า “บางคนอาจจะบอกว่า ‘แบตเตอรี่นั้นแพงมากและมันเป็นแบบนั้นมานานมากแล้วและจะเป็นแบบนั้นตลอดไป ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ราว ๆ 600 เหรียญ/กิโลวัตต์-ชั่วโมง และก็จะไม่ถูกลงไปกว่านี้สักเท่าไหร่ในอนาคต’

เมื่อเราใช้ First Principles เราอาจจะบอกว่า ‘อะไรคือส่วนประกอบของแบตเตอรี่? แล้วราคากลางของมันในตลาดของวัตถุดิบเหล่านี้คืออะไร?’ มันมีทั้งคาร์บอน, นิเกล, อลูมิเนียม, โพลิเมอร์ต่าง ๆ และเหล็กหุ้ม

เมื่อย่อยมันออกมาเป็นส่วนประกอบแบบนี้และบอกว่า ‘ถ้าเราซื้อวัตถุดิบเหล่านี้บน London Metal Exchange ราคาของแต่ละชิ้นจะเป็นเท่าไหร่? มันอยู่ราว ๆ 80 เหรียญ/กิโลวัตต์-ชั่วโมงเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นคุณแค่ต้องหาช่องทางที่ฉลาด เพื่อนำส่วนประกอบเหล่านี้มารวมกันในรูปแบบของแบตเตอรี่แล้วคุณก็จะได้แบตเตอรี่ที่ราคาถูกมาก ๆ มากกว่าที่ทุกคนเข้าใจ” 

เจ้าแนวคิดแบบ First Principles นี้สามารถนำมาใช้กับชีวิตปกติของเราได้มากกว่าที่คิด ยกตัวอย่างถ้าทำธุรกิจเรามักจะเริ่มต้นว่า “ลูกค้าต้องการสินค้าของเรา” หรือ “สินค้าของเราน่าจะกำไร”

สิ่งที่ต้องทำคือการแตกย่อยความคิดเหล่านั้นออกมาให้กลายเป็นส่วนที่เป็นความจริงก่อนที่จะตัดสินใจ

“ลูกค้าต้องการสินค้าของเรา”

  • เพราะมันแก้ไขปัญหา
  • เพราะมันราคาถูก
  • เพราะมันใช้งานง่าย
  • ฟีเจอร์ดีลื่นไหล
  • ฯลฯ

“สินค้าของเราสามารถสร้างกำไรได้”

  • รายได้ที่ออกมามากกว่าต้นทุนในการขายทั้งหมด
  • อยู่ในตลาดที่กำลังเติบโต
  • ฯลฯ

สิ่งที่เราต้องทำคือการแตกเอาความจริงย่อย ๆ ออกมาให้หมดก่อนที่จะประกอบร่างมันกลับเข้าไปใหม่เพื่อสนับสนุนความคิดหรือแนวคิดของเราที่มี ซึ่งถ้าแตกออกมาแล้วมันไม่ตรงหรือผิดตรงไหนก็จะสามารถแก้ไขเป็นจุด ๆ ไปได้

ไม่ใช่แค่ในมุมของธุรกิจเท่านั้นที่ First Principles สามารถนำไปปรับใช้ได้ ในชีวิตการทำงานหรือส่วนตัวก็ไม่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นความสัมพันธ์กับคนที่เรารัก เราอาจจะคิดว่า “มีครอบครัวที่อบอุ่น” ก็แตกย่อยออกมาว่าอะไรคือความจริงในเรื่องนี้

  • ใช้เวลากับครอบครัวทุกวันหลังเลิกงาน
  • มีเวลาเล่นกับลูกวันละสองชั่วโมงและอ่านหนังสือให้เขาฟังก่อนนอนทุกคืน
  • ใช้เวลากับภรรยา พากินข้าว ดูหนัง สัปดาห์ละอย่างน้อยหนึ่งวัน
  • กำหนดวันพักผ่อนจากงานและไปเที่ยวเป็นครอบครัวทุก ๆ หกเดือน
  • ฯลฯ

อีลอน มัสก์ อธิบายว่าคนปกติแล้วมักใช้สิ่งที่เรียกว่า Analogy-Based Thinking (การคิดเชิงเปรียบเทียบ) ยกตัวอย่างเช่น ฉันทำแบบนี้เพราะว่าเพื่อนทำ หรือ ก็คนอื่น ๆ เขาก็ทำกันเราก็ทำด้วยสิ หรือ มันก็เป็นแบบนี้แหละเปลี่ยนไม่ได้หรอก ซึ่งหลายต่อหลายครั้งในชีวิตของเราเองก็เคยตกอยู่ในสถานการณ์น่าอึดอัดใจแบบนี้ สังคมบอกว่าต้องเรียนมหาวิทยาลัย เข้าไปแล้วเรียนอะไร? คนที่กำลังคบอยู่เหมาะกับฉันจริง ๆ เหรอ? หรือว่าคบเพราะอะไร งานที่ทำอยู่ตอนนี้มีความสุขจริง ๆ เหรอ หรือฉันทำเพราะอะไร

การแตกย่อยปัญหาที่อยู่ตรงหน้าออกมาแล้วมาดูว่า “ความจริง” เล็ก ๆ ที่ประกอบมันขึ้นมานั้นมีอะไรบ้างจะช่วยทำให้เรา ‘มีโอกาส’ ตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น (มีโอกาสมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะถูกทั้งหมดนะ เพียงแต่ก็มีโอกาสที่จะเสียใจภายหลังน้อยกว่า)

ถามตัวเองก่อนเลยว่า

  • อะไรบ้างที่ฉันรู้ว่ามันคือความจริง?
  • ส่วนที่สำคัญที่สุดของมันคืออะไร?
  • ส่วนประกอบของปัญหาอันซับซ้อนมันมีอะไรบ้าง?
  • สิ่งที่ฉันอยากได้คืออะไร?

เมื่อตอบคำถามเหล่านี้ได้ การประกอบมันกลับขึ้นมาใหม่จะช่วยทำให้เห็นชัดมากขึ้นว่าเราต้องการอะไร ทางไหนที่เราอยากไป คุณค่าของเราอยู่ที่ไหน ซึ่งก็จะทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้นด้วย

ลองนำไปปรับใช้กันดูครับ

เครดิตภาพ: Reuters

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส