โลกได้รับรู้ข่าวการจากไปของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีในพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ด้วยพระชนมายุ 99 พรรษา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 (ตามเวลาอังกฤษ) ด้วยความที่พระองค์คือสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงของอังกฤษ ก็ย่อมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นเป้าสายตาของสื่อมาตลอดพระชนม์ชีพที่อยู่ในตำแหน่งพระสวามี โดยเฉพาะสื่อนอกอย่างอังกฤษที่ไม่มีขอบเขตในการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะข่าวในเชิงลบที่มักตีแผ่ภาพลักษณ์ของเจ้าชายฟิลิปว่าพระองค์ค่อนข้างมีพฤติกรรมหยาบคายต่อบุคคลรอบข้าง และทำอะไรที่ดูผิดกาลเทศะเวลาออกงานอยู่บางครั้ง
อาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปได้ 100% แม้กระทั่งเจ้าใหญ่นายโต หรือเชื้อพระวงศ์ก็เช่นกัน แต่ถ้าพิจารณาในด้านดีของพระองค์ เจ้าชายฟิลิปทรงเป็นพระสวามีที่ซื่อสัตย์ทั้งต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และพสกนิกรชาวอังกฤษของพระองค์ นับตั้งแต่วันที่พระราชินีนาถเอลิซาเบธขึ้นครองราชย์มาตลอด 69 ปี ทำให้พระองค์เป็นกษัตริย์หรือพระราชินีผู้ทรงราชย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ และยาวนานที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก
ย้อนไปในปี 1952 ในวันที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษและเครือจักรภพ นั้น เจ้าชายฟิลิปยอมรับว่า พระองค์ไม่เคยมั่นใจในบทบาทสถานะของตัวเองเลย
“ไม่เคยมีใครอยู่ในตำแหน่งนี้มาก่อนเลย ข้าพเจ้าก็ได้แต่ถามคนนั้นคนนี้ ว่าพวกเขาคาดหวังให้ข้าพเจ้าทำอะไรบ้าง?”
เจ้าชายฟิลิปย้อนเล่าถึงความทรงจำในอดีต เมื่อครั้งประทานให้สัมภาษณ์กับ BBC ในวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ 90 พรรษา แต่ถึงวันนี้เจ้าชายฟิลิปก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงงานเคียงข้างสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ได้ฝากคุณงามความดีไว้มากมายกว่าข่าวทางด้านลบ และนี่คือเรื่องราวบางส่วนที่เราคาดว่าผู้อ่านอาจจะยังไม่เคยทราบมาก่อน
1.เจ้าชายฟิลิป ทรงตำแหน่งคู่ครองของกษัตริย์หรือพระราชินีนาถที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ
เจ้าชายฟิลิปเพิ่งจะเกษียณตัวเองจากงานราชการเมื่อพระชนมายุ 96 พรรษา นั่นก็คือเมื่อ 3 ปีที่แล้วนี่เอง นับว่าพระองค์เป็นบุคคลที่ทรงงานหนักกว่าบุคคลทั่วไปมากมายนัก มาตรฐานบุคคลทั่วไปจะเกษียณด้วยวัย 60 ปี ตลอดระยะเวลาที่พระองค์อยู่ในตำแหน่งพระสวามีของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้น พระองค์ทรงออกงานเดี่ยวถึง 22,191 ครั้ง และมีพระราชดำรัสต่อสาธารณชนมากถึง 5,493 ครั้ง งานส่วนใหญ่ที่พระองค์เสด็จไปเป็นประธานก็มักจะเป็นงานเปิดสถานที่หรือหน่วยงานสำคัญ จึงทำให้พระองค์ทรงมีฉายาว่า “ผู้มีประสบการณ์ในงานเปิดป้ายมากที่สุดในโลก”
ยังมีเรื่องที่น่าทึ่งเกี่ยวกับพระองค์ที่เราไม่ได้ทราบกันอีกนั่นก็คือ พระองค์ทรงเป็นผู้มีอัจฉริยภาพในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในเรื่อง การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์, อุตสาหกรรม, สิ่งแวดล้อม แม้ในวันที่พระองค์ทรงเกษียณจากงานราชการแล้ว พระองค์ก็ยังทรงเป็นสมาชิกองค์กรต่างๆ อยู่ถึง 780 แห่ง
2.เจ้าชายฟิลิปไม่ได้เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด
แม้ว่าตลอด 69 ปีที่เจ้าชายฟิลิปดำรงตำแหน่งพระสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ด้วยภาพลักษณ์และบทบาทของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษอย่างเต็มภาคภูมินั้น แต่ที่จริงแล้วทั้งพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเหล่าสมาชิกราชวงศ์เองก็คงไม่อยากที่จะเปิดเผยความจริงข้อนี้นักว่า พระสวามีของพระองค์นั้นไม่ใช่ชาวอังกฤษโดยแท้จนกระทั่งได้มาอภิเษกสมรสกับพระองค์
ก่อนที่เจ้าชายฟิลิปจะมาเป็นดยุกแห่งเอดินบะระนั้น สมัยที่ยังเป็นหนุ่มน้อย พระองค์เป็นเจ้าชายแห่งกรีซและเดนมาร์ก และมีศักดิ์เป็นหลานของกษัตริย์กรีก ประสูติที่เกาะคอร์ฟู ในประเทศกรีซ เมื่อปี 1921 และพระองค์ยังสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ทั้งเยอรมนี และอังกฤษก็มี
“ถึงอย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าผมเป็นชาวสแกนดิเนเวียนนะ ถ้าให้เจาะจงก็เป็นชาวเดนิชล่ะ”
เจ้าชายฟิลิปประทานสัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 1992
จนในวันที่เจ้าชายฟิลิปกำลังจะเข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธในวันนั้น พระองค์จึงได้ตัดสินใจละทิ้งฐานันดรศักดิ์ เจ้าชายแห่งกรีซและเดนมาร์ก กลายมาเป็นสามัญชนอังกฤษ มีนามว่า ฟิลิป เมานต์แบ็ตเทน (Philip Mountbatten)
3.พระองค์มีอดีตวัยเยาว์ที่น่าขมขื่น
ด้วยภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษ ที่นับเป็นไม่กี่ราชวงศ์ที่ยังได้รับการยกย่องนับถือจากพสกนิกรในประเทศ ทำให้ราชวงศ์อังกฤษไม่อยากที่จะเอ่ยถึงอดีตอันน่าเวทนาของเจ้าชายฟิลิปนัก เพราะว่ากว่าที่พระองค์จะได้มายืนในตำแหน่งพระสวามีของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้นั้น พระองค์ต้องผ่านประสบการณ์อันยากลำบากเกินกว่าที่เราจะคาดคิด เพราะเกิดและเติบโตในราชวงศ์กรีซ แต่แล้วราชวงศ์ก็โดนรัฐบาลทหารขับไล่ออกนอกประเทศ ทั้งครอบครัวต้องหลบหนี โดยเอาทารกน้อยฟิลิปใส่ไว้ในลังผลไม้ แล้วไปตั้งรกรากใหม่กันในฝรั่งเศส จากนั้นครอบครัวของเจ้าชายฟิลิปก็เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย พระเชษฐภคินีองค์โตแต่งงานแล้วก็ย้ายออกไปอยู่กับสามี พระบิดาก็ทิ้งครอบครัวไป เหลือเจ้าชายฟิลิปที่ยังอยู่กับพระมารดาซึ่งป่วย มีอาการทางจิต ต้องเข้าโรงพยาบาลประสาท
“มารดาของข้าพเจ้าป่วย ส่วนพี่สาวแต่งงานไปมีครอบครัว พ่อย้ายไปอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ส่วนข้าพเจ้าก็ต้องดำเนินชีวิตต่อไป”
เจ้าชายฟิลิปย้อนเล่าอดีตในระหว่างที่ทรงให้สัมภาษณ์กับ BBC เจ้าชายฟิลิปในวัยเด็กต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนประจำในหลายประเทศทั้ง อังกฤษ, เยอรมนี และสกอตแลนด์
4.เจ้าชายฟิลิปไม่โปรดหอยนางรม
เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยโดย ชาร์ล โอลิเวอร์ (Charles Oliver) ข้าราชบริพารประจำพระราชวังบักกิงแฮมว่า เจ้าชายฟิลิปทรงโปรดปรานอาหารธรรมดาทั่วไป แต่จะไม่ชอบหอยนางรมเอามาก ๆ
“มันเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด เพราะมันจะมีอาหารอยู่แค่อย่าง สองอย่างเท่านั้นที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ และพระสวามีจะไม่โปรด ซึ่งบรรดาเจ้าภาพในแต่ละงานจะได้รับการเตือนล่วงหน้า โดยระบุไว้ในระเบียบปฎิบัติอย่างชัดเจนว่า ‘ทั้งพระราชินีและท่านดยุกแห่งเอดินบะระ ต่างไม่โปรดหอยนางรม’ “
เจ้าชายฟิลิปจะโปรดปรานจินและโทนิค ลาเกอร์เบียร์ ไปจนถึงแชมเปญ แต่ในเรื่องอาหารแล้วนั้น เจ้าชายฟิลิปจะเป็นนักชิมมากกว่าเมื่อเทียบกับพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แล้ว
“เจ้าชายฟิลิปนี่จัดว่าเป็นนักชิมเลย พระองค์ชอบลองอาหารแปลกใหม่ตลอดเวลา และมักจะตื่นเต้นเวลาที่เจอส่วนผสมในอาหารที่แปลกใหม่”
ดาร์เรน แม็กเกรดี้ (Darren McGrady) อดีตพ่อครัวหลวงกล่าว
5.เจ้าชายฟิลิปมีญาติเป็นนาซี
จากข้อที่ผ่านมา ที่เล่าว่าพี่สาวของเจ้าชายฟิลิปได้แต่งงานไปมีครอบครัวนั้น แท้จริงแล้วสามีของเธอนั้นเป็นทหารนาซี นับเป็นข้อเท็จจริงที่พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่อยากให้โลกรับรู้เลย หลังแต่งงานแล้ว เซซิล พระเชษฐภคินีองค์โตของเจ้าชายฟิลิปและสามีนั้นก็เข้าเป็นสมาชิกของพรรคนาซี แต่แล้วทั้งคู่ก็ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก เสียชีวิตทั้งคู่ในปี 1937 นับเป็นเหตุที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ เจ้าชายฟิลิปจำต้องบินไปร่วมพิธีศพ และจำต้องเดินร่วมในพิธีท่ามกลางเหล่าทหารนาซี ในวันที่เจ้าชายฟิลิปเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธในปี 1947 นั้น พระองค์ไม่ทรงเชิญพระเชษฐภคินีอีก 3 คนให้มาร่วมงานเลย
แม้ว่าจะมีสายสัมพันธ์เกี่ยวดองกับนาซี แต่ในฐานะสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ และเป็นประชาชนชาวอังกฤษคนหนึ่ง เจ้าชายฟิลิปยืนหยัดสถานะที่ชัดเจนของตนด้วยการเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่เป็น นายทหารราชนาวีในกองทัพอังกฤษ เข้าร่วมรบกับกองทัพพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนเจ้าหญิงอลิซ พระมารดาของเจ้าชายฟิลิปนั้นได้พำนักอยู่ในกรุงเอเธนส์ ได้ให้ที่พักแก่ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้พระองค์ได้รับการเชิดชูเกียรติจากอนุสรณ์สถานการสังหารหมู่ ยาด วาเชม (Yad Vashem)ให้เป็น “ผู้ผดุงคุณธรรมแห่งประชาชาติทั้งมวล” (Righteous Among the Nations)
6.พระราชบิดาของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ยอมรับในตัวเจ้าชายฟิลิป
พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวัยสาวได้พบกับเจ้าชายฟิลิปเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 13 ปีเท่านั้น นับจากวันนั้นทั้งคู่ก็เขียนจดหมายโต้ตอบกันในฐานะเพื่อน จนความสัมพันธ์ก่อตัวเป็นความรัก มีบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารไทม์เมื่อปี 1957 ได้ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระบิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธในวันนั้น
“ไม่ยอมรับอย่างจริงจัง ที่ทั้งคู่คบหากัน ถึงแม้ว่าเจ้าชายฟิลิปในวัยหนุ่มนั้นจะมีเชื้อสายอังกฤษ และประวัติทางทหารที่ดี แต่สิ่งที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงเป็นกังวลก็คือ พสกนิกรชาวอังกฤษจะคิดเห็นเช่นไร ถ้าเอาเจ้าชายกรีกมาเป็นพระสวามีของรัชทายาทแห่งราชวงศ์อังกฤษ”
บทความในนิตยสารไทม์ยังระบุต่ออีกว่า
“นอกจากนั้นแล้วยังมีบางอย่างในตัวเจ้าชายฟิลิป ที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 มองแล้วรู้สึกขัดหูขัดตา ก็ในเรื่องเสียงหัวเราะที่ดังอึกทึกของเขา การพูดจาแบบขวานผ่าซาก และมารยาทที่ไม่งดงาม”
บวกกับสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างจน เมื่อเทียบกับมาตรฐานของราชวงศ์ทั่วไป ประวัติครอบครัวที่โดนขับไล่ และมีเชื้อสายเป็นชาวเยอรมัน และยังมีความเกี่ยวโยงกับนาซีอีกด้วย คุณสมบัติทั้งหมดนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พิจารณาแล้วว่าเจ้าชายฟิลิปไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นพระสวามีของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ แต่สุดท้ายด้วยเหตุผลกลใดไม่มีการเปิดเผย เจ้าหญิงเอลิซาเบธก็เอาชนะข้อคัดค้านของพระราชบิดาได้สำเร็จ ทั้งคู่ได้เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1947
7.พระองค์ทรงเป็นทั้งศิลปินและนักออกแบบ
เชื่อว่าเป็นพระอัจฉริยภาพในด้านที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน ในวันที่พระองค์ทรงเกษียณจากงานราชการแล้ว เจ้าชายฟิลิปก็ได้มีเวลามาทำงานที่ทรงโปรดอีกครั้ง นั่นก็คือ ‘การเขียนภาพ’
ในวันครบรอบวันพระราชสมภพครบ 90 พรรษา เมื่อปี 2011 นั้น ทางพระราชวังได้จัดงานนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของเจ้าชายฟิลิป ในงานนี้ได้จัดแสดงภาพเขียน และผลงานที่พระองค์ได้ทรงออกแบบหลายชิ้น มีทั้ง กำไลข้อมือ ที่พระองค์ทรงออกแบบให้กับพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2, ศิลปะบนกระจกแก้ว (Stained Glass) ที่เคยประดับอยู่บนพระราชวังวินด์เซอร์ และจะได้กลับไปติดตั้งอีกครั้งหลังจากที่เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ แต่ชิ้นที่สะดุดสายตาผู้ชมมากที่สุดก็คือ ภาพเขียนที่น่าจะเป็นภาพที่เจ้าชายฟิลิปคุ้นพระเนตรมากที่สุด เพราะเป็นภาพของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในพระอิริยาบถส่วนตัว กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ระหว่างพระกระยาหารเช้า ในพระราชวังวินด์เซอร์ เมื่อปี 1965
(อ่านต่อหน้า 2)
8.เจ้าชายฟิลิปมีความเกี่ยวดองเป็นพระญาติกับพระราชินีนาถเอลิซาเบธ
ที่จริงแล้วพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิปนั้นมีความเกี่ยงดองเป็นพระญาติกันอยู่ก่อนแล้ว แม้ว่าในวันนี้พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 น่าจะไม่ทรงเห็นชอบยินดีนักกับการสมรสกันในหมู่ญาติพี่น้องเดียวกัน แต่ในอดีตกาลนั้นดูจะเป็นเรื่องราวปกติในราชวงศ์ต่าง ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ต ที่มีลำดับญาติค่อนข้างใกล้ชิดกัน พระบิดาของเจ้าชายอัลเบิร์ต และพระราชมารดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นพี่น้องกัน ก็เท่ากับว่าทั้งคู่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แต่ถ้าเทียบกับคู่ของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิปแล้วทั้งคู่ไม่ได้มีลำดับญาติที่ใกล้ชิดกันขนาดนั้น ทั้งคู่มีศักดิ์เป็น ‘ลื่อ’ (ลูก หลาน เหลน ลื่อ) ของพระราชินีวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต ที่กล่าวมาข้างต้น
ในอดีตนั้นการสมรสกันเองในราชวงศ์เดียวกันนั้นค่อนข้างเป็นขนบธรรมเนียมจำเป็นที่ยึดถือต่อกันมาช้านาน จุดประสงค์เพื่อความสร้างความเสถียรในอำนาจการปกครอง แต่ขนบธรรมเนียมก็ค่อย ๆ เลือนหายไปตามวันเวลา ผู้สืบทอดเชื้อสายจากพระราชินีวิกตอเรียในวันนี้แทบจะแผ่กระจายไปทั่วทุกสารทิศแล้ว เหตุเพราะพระราชบุตรและพระราชธิดาทั้ง 9 พระองค์ของพระราชินีวิกตอเรียนั้น ต่างก็สมรสกับคู่ที่อยู่นอกราชวงศ์ไปทั่วทั้งทวีปยุโรป ทำให้พระราชินีวิกตอเรียได้รับการขนานนามว่า “สมเด็จย่าแห่งยุโรป”
9.ทรงเป็นวีรบุรุษสงคราม
ในช่วงที่เจ้าชายฟิลิปยังทรงพระเยาว์นั้น พระองค์ประสบความสำเร็จในการรับราชการทหารอย่างมาก พระองค์ทรงเข้าเรียนโรงเรียนนายเรือเมื่อพระชนมายุเพียง 18 ปีเท่านั้น ได้รับยศเป็น ‘ว่าที่เรือตรี’ (midshipman) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ระหว่างศึก ยุทธนาวีแหลมมะตะปัน (Battle of Cape Matapan)เมื่อปี 1941 พระองค์ก็ทรงมีบทบาทอย่างมากในงานเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟค้นหาอากาศยาน บทบาทของพระองค์โดดเด่นจนได้รับการรายงานไปยังนายทหารระดับสูง ทำให้เจ้าชายฟิลิปได้รับเหรียญกล้าหาญ the Greek War Cross of Valor
อีกวีรกรรมของเจ้าชายฟิลิปได้รับการเปิดเผยเมื่อปี 2002 เมื่อเพื่อนทหารที่ได้ร่วมรบในวันนั้นได้ออกมาเล่าถึงวีรกรรมของเจ้าชายฟิลิปว่า ในคืนหนึ่งระหว่างที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันระดมทิ้งระเบิดลงมาอย่างไม่ขาดสาย ทหารอังกฤษอยู่บนเรือ จอดซุ่มแอบสายตาของข้าศึกอยู่แต่ก็ไม่มีลู่ทางที่จะล่องเรือออกไปได้ เจ้าชายฟิลิปก็เกิดไอเดียหลักแหลมในการเบี่ยงความสนใจของเครื่องบินเยอรมัน ด้วยการโยนแพชูชีพออกไปพร้อมกับพลุควัน อุบายนี้ได้ผล ทำให้เรือรบอังกฤษสามารถหนีออกไปได้
“เจ้าชายฟิลิปช่วยชีวิตพวกเราไว้ได้ในคืนนั้น”
วีรกรรมของพระองค์ ทำให้เจ้าชายฟิลิปได้รับตำแหน่ง ผู้บัญชากองเรือรบของอังกฤษ ในปี 1953
10.พระองค์ทรงเป็น นักอนุรักษ์สภาพแวดล้อม
อ้างอิงจากบทประทานสัมภาษณ์ของ BBC
“ในขณะที่มนุษย์เรามีความสามารถพิเศษเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์บนโลกใบนี้ แล้วการที่เรายังคงทำลายโลกที่เราอยู่นั้นมันช่างเป็นเรื่องโง่เง่าสิ้นดี สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เขาก็มีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะคงอยู่บนโลก เราไม่มีสิทธิพิเศษใด ๆ บนโลกนี้มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เลย ถ้าพวกเขายังอยู่บนโลกนี้กับเราก็จงให้โอกาสเขาได้มีชีวิตรอดต่อไปด้วยเถอะ”
เจ้าชายฟิลิปไม่ได้ทรงห่วงใยโลกเพียงแค่พระดำรัสเท่านั้น อ้างอิงจากเว็บไซต์ของราชวงศ์อังกฤษ เจ้าชายฟิลิปทรงรถพระที่นั่งไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 1960 แล้ว เพราะพระองค์ทรงกังวลว่า ควันไอเสียจากรถจะไปสร้างมลภาวะให้แก่โลก เวลาที่พระองค์เสด็จไปไหนมาไหนในลอนดอน เจ้าชายฟิลิปก็เจาะจงใช้รถพระที่นั่งที่ใช้แก๊ส LPG เท่านั้น เพราะจะปล่อยไอเสียน้อยกว่ารถใช้น้ำมัน
11.พระองค์ทรงถ่อมตนอย่างมาก
เป็นที่รู้กันในหมู่ประชาชนอังกฤษว่าเจ้าชายฟิลิปมักจะตรัสสิ่งที่อยู่ในพระทัยออกมาอย่างเปิดเผย แต่ถ้าเมื่อใดที่พระองค์จะต้องพูดเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์เอง พระองค์มักจะนิ่งเงียบ ซึ่งเหตุที่พระองค์ทรงเป็นเช่นนั้น เพราะเจ้าชายฟิลิปทรงมีแนวความคิดว่า ในฐานะที่พระองค์เป็นพระสวามีของสตรีที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกคนหนึ่งแล้ว ท่านไม่จำเป็นต้องได้รับความสนใจจากสื่อใด ๆ ทั้งสิ้น
“พ่อเป็นคนธรรมดาและติดดินเอามาก ๆ แล้วท่านก็ไม่ชอบที่จะพูดถึงตัวเองเลย คำแนะนำที่ดีที่สุดที่ท่านเคยบอกกับทุกคนก็คือ จงพูดเกี่ยวกับอะไรก็ได้ แต่จงอย่าพูดถึงตัวเราเอง ไม่มีใครสนใจตัวคุณหรอก”
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ทรงเอ่ยถึงพระบิดากับ BBC
มีครั้งหนึ่งที่ BBC ได้ถามพระองค์ว่า “ทรงคิดว่าตัวพระองค์ประสบความสำเร็จในบทบาทของตัวเองหรือไม่”
เจ้าชายฟิลิปทรงตอบว่า
“ใครจะมาสนใจว่าข้าพเจ้าคิดอะไร ข้าพเจ้ามองว่ามันไร้สาระเสียด้วยซ้ำ”
12.ทรงเป็นขวัญใจของเหล่าข้าราชบริพาร
เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจาก แมตต์ สมิธ นักแสดงผู้รับบทเป็นเจ้าชายฟิลิปใน The Crown ซีรีส์เรื่องดังของ Netflix ท่านดยุกเป็นสมาชิกราชวงศ์คนโปรดของเหล่าข้าราชบริพาร
“ในพระราชวังวินด์เซอร์แล้ว ท่านทรงโดดเด่นที่สุดในหมู่สมาชิกราชวงศ์ทั้งหมด ถ้าคุณได้คุยกับเหล่าข้าราชบริพารแล้วล่ะก็นะ เจ้าชายฟิลิปจะเป็นคนที่พวกเขารักอย่างจริงใจ”
“ท่านเป็นคนหัวรั้น ไม่เชื่อฟังใครง่าย ๆ แล้วก็มีความทะเล้น ผมคิดว่าท่านค่อนข้างเป็นคนสุภาพแล้วก็เปิดกว้างกับข้าราชบริพารทุกคน นั่นจึงทำให้พวกเขารักและนับถือท่าน”
13.พระองค์ไม่ได้ทรงอยู่ร่วมชายคากับสมเด็จพระราชินีนาถฯ
ยกเว้นในช่วงที่ต้องกักตัวจากเหตุไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ที่พระองค์ทรงกลับมาอยู่กับพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในพระราชวังวินด์เซอร์ แต่ที่จริงแล้วหลังจากเจ้าชายฟิลิปได้ทรงเกษียณมานั้น พระองค์ก็ทรงขอแปรพระราชฐานออกจากพระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ออกไปอยู่เป็นการส่วนตัว ห่างไกลจากความชุลมุนวุ่นวาย ซึ่งไม่ได้มีเหตุเกี่ยวข้องใด ๆ กับสถานะสมรสของทั้งคู่แต่อย่างใด แต่ท่านดยุกอยากจะใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายในฟาร์ม ในป่า ของตำหนักซานดริงแฮม (Sandringham Estate)
เพ็นนี จูเนอร์ (Penny Junor)ผู้เขียนพระประวัติส่วนพระองค์ของเจ้าชายฟิลิปเล่าว่า ความปรารถนาส่วนหนึ่งของท่านดยุกและสมเด็จพระราชินีนาถฯ ก็คือการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย
“ทั้งคู่ทรงสมถะมาก ๆ ท่านชอบที่จะอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ สะดวกสบาย แล้วก็ไม่อยากจะอยู่ในที่ที่เต็มไปด้วยข้าราชบริพารขวักไขว่ บางทีพวกเราเนี่ยแหละที่อยากจะอยู่ในพระราชวังโอ่อ่าหรูหรา แต่สำหรับท่านทั้งสองแล้วกลับอยากจะอยู่แบบพวกเรานี่แหละ”
14.ทรงเป็นนักบินมีใบอนุญาต
เจ้าชายฟิลิปทรงมีความเชี่ยวชาญทั้งทางอากาศและทางทะเล พระองค์ทรงฝึกหัดการบินระหว่างที่ประจำอยู่ในกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร แล้วในที่สุดก็ได้รับตรา RAF wings ในปี 1953 พระองค์ยังได้รับใบอนุญาตขับเฮลิคอปเตอร์ด้วยในปี 1956 และได้รับใบอนุญาตนักบินส่วนตัวในปี 1959
เจ้าชายฟิลิปทรงขับเครื่องบินครั้งสุดท้ายในปี 1997 ขณะมีพระชนมายุ 76 พรรษา พระองค์ทรงมีชั่วโมงบินมากถึง 6,000 ชั่วโมง แล้วทรงขับอากาศยานมาแล้วกว่า 76 แบบ
15.พระองค์มีอัจฉริยภาพตรัสได้ 3 ภาษา
เจ้าชายฟิลิปทรง “ฟังภาษากรีกเข้าใจอย่งถ่องแท้” แต่ไม่สามารถตรัสในภาษากรีกได้อย่างคล่องแคล่วนัก เช่นเดียวกับภาษาเดนิช ทั้งที่มีเชื้อสายเดนส์ แต่พระองค์สามารถตรัสภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่วเช่นเดียวกับพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และยังตรัสฝรั่งเศสได้ดีมากอีกด้วย