ข่าวการลาออกของ จอนนี่ ไอฟ์ (Jony Ive) หัวหน้าแผนกออกแบบของ Apple เมื่อสองปีก่อน แม้จะว่าเป็นเรื่องที่ทำให้คนตกใจกันอย่างมาก แต่ความจริงแล้วมันก็เป็นเรื่องที่หลายคนคาดการณ์ว่ามันจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วเหมือนกัน เกือบ 3 ทศวรรษที่เขาอยู่กับ Apple บทสัมภาษณ์ของไอฟ์, ทิม คุก (Tim Cook) และคนอื่น ๆ ในบริษัทกับสื่อ Financial Times หรือรายงานจาก The Wall Street Journal บ่งบอกว่า ที่จริงแล้วการลาออกของเขานั้นเป็นสิ่งที่ไอฟ์น่าจะตัดสินใจไว้ก่อนหน้านั้นได้สักพักแล้ว

ด้านหนึ่งบอกว่าสาเหตุมาจากทิศทางของบริษัทที่คุกกุมบังเหียนนั้นมุ่งเน้นให้ความสำคัญไปยังเรื่องของธุรกิจและสายการผลิตเป็นอันดับแรก ต่างจากตอนที่ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ยังมีชีวิตอยู่ แม้ว่าคุกจะพยายามทำให้ไอฟ์นั้นมีความสุขในการอยู่กับบริษัท แม้ไม่ได้บอกเป็นตัวเลข แต่รายได้ของเขานั้นสูงกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมากโข แต่พนักงานที่อยู่ในทีมออกแบบก็บอกว่าพวกเขาแทบไม่เคยเห็นคุกมาดูงานในส่วนของการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ไอฟ์นั้นรู้สึกหมดไฟในการทำงานตรงนี้ อ้างอิงจากส่วนหนึ่งของบทความที่มีการพูดคุยกับบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับไอฟ์บ่งบอกว่า

“ไอฟ์รู้สึกท้อแท้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อบอร์ดบริหารของ Apple นั้นมีแต่คนโชกโชนด้านการเงินและการบริหารจัดการ แทนที่จะเป็นส่วนของเทคโนโลยีหรือด้านอื่น ๆ ที่เป็นแก่นธุรกิจของบริษัท”

แม้คุกจะออกมาปฏิเสธถึงประเด็นนี้กับสื่อ NBC News ว่ามันไม่จริงเลย เป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานและไร้เหตุผลสิ้นดี แต่แหล่งข่าวอีกหลายแห่งก็รายงานว่าไอฟ์หมดใจให้กับบริษัทไปได้สักพักใหญ่ ๆ เพียงแต่รอเวลาและจังหวะที่เหมาะสมในการเดินออกไปให้นิ่มนวลที่สุดมากกว่า

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ไอฟ์กับจอบส์กลายเป็นคู่หูพาร์ตเนอร์ดรีมทีมที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ พวกเขาเข้ามากู้สถานการณ์ของบริษัทจากใกล้ล้มละลายให้กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ที่เขาออกแบบนั้นแม้ว่าจะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่อัดแน่นอยู่ข้างใน แต่ภายนอกนั้นกลับเรียบง่ายและสง่างามในเวลาเดียวกัน คุณรู้เลยว่าแต่ละส่วนของผลิตภัณฑ์นั้นมีหน้าที่อะไร ยกตัวอย่าง iMac ที่รวมทุกอย่างไว้ในกล่องเดียว ทิ้งความยุ่งยากของคอมพิวเตอร์ที่ต้องมีกล่อง มีจอ แยกจากกัน ทำให้ iMac นั้นใช้งานง่าย หรือแม้แต่ iPod เครื่องเล่น MP3 สีขาวขนาดเท่าฝ่ามือใช้การควบคุมด้วยปุ่มควบคุมการทำงานแบบวงกลม (scroll wheel) หรือพระเอกอย่าง iPhone ที่สังหาร Blackberry ที่ครองตลาดในเวลานั้นให้ราบคาบ หรือ iPad ที่ยื่นให้เด็กห้าขวบก็สามารถใช้มันได้อย่างไม่ลำบากมาก ไอฟ์ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Wired ว่า

“คนคิดว่าความเรียบง่ายนั้นคือการหายไปของความยุ่งยาก แต่มันไม่ใช่แบบนั้น บางอย่างที่เรียบง่ายจริง ๆ จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่ามันคืออะไร มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะออกแบบบางอย่างที่คุณแทบจะคิดไม่ถึงเลยเพราะมันดูมีความชัดเจน เป็นธรรมชาติ และแน่นอน”

ผลิตภัณฑ์ใหญ่ชิ้นสุดท้ายที่ไอฟ์มีส่วนร่วมคือ Apple Watch ที่เปิดตัวในปี 2015 ซึ่งหลังจากนั้นเรามักได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใช้งานที่บอกว่าสินค้าของ Apple นั้นซ้ำ ๆ เดิม ๆ ไม่มีอะไรใหม่ให้แปลกใจอีกต่อไป อัปเกรดข้างในแล้วก็ปล่อยขายสู่ตลาด แทบจะไม่มีผลิตภัณฑ์ที่สร้างความฮือฮาเลยเมื่อเทียบกับสมัยก่อน บริษัทเล็กอื่น ๆ ก็ไล่ตาม ออกสินค้าของตัวเองที่มีความคล้ายคลึงในราคาที่ถูกกว่าไม่ยากเย็นนัก

เมื่อถูกถามว่าถ้า Apple ไม่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมเหมือนเมื่อก่อนได้เขาจะทำยังไง? คุณจะเลิกรึเปล่า? ไอฟ์ตอบอย่างไม่ลังเลว่า

“ใช่ ผมจะหยุด ผมจะสร้างบางอย่างให้กับตัวเอง ให้กับเพื่อนแทน มาตรฐานต้องสูงอยู่เสมอ”

จากรายงานของ Bloomberg บอกว่าหลังจากเปิดตัว Apple Watch ไอฟ์ก็เริ่มลดหน้าที่รับผิดชอบของตนเองลง เข้ามาบริษัทเพียงอาทิตย์ละประมาณ 2 ครั้ง และบางทีก็ไปประชุมที่บ้านของพนักงานหรือโรงแรมในซานฟรานซิสโกแทน เขาสร้างออฟฟิศและสตูดิโอของตัวเองในเมืองด้วย ยิ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกเป็นอย่างดีว่าความสัมพันธ์ของเขากับ Apple นั้นกำลังจืดจางลงทุกที

สุดท้ายแน่นอนว่าอย่างที่เรารู้กัน เขาลาออกจากบริษัทในวันที่ 27 มิถุนายน 2019 และออกไปก่อตั้ง LoveForm บริษัทออกแบบของตัวเองพร้อมกับ มาร์ค นิวสัน (Marc Newson) เพื่อนร่วมงานของเขาที่บริษัท ซึ่งตลอดสายงานของนิวสันมีทั้งการออกแบบปากกาให้ Montblanc, กระเป๋า Louis Vuitton และนาฬิกาให้ Jaeger-LeCoultre ซึ่งความหลากหลายในประสบการณ์นี้เองที่ไอฟ์สนใจดึงนิวสันมาร่วมทำงานด้วยในบริษัทใหม่

มันเป็นความรัก ความหลงใหล ความจริงใจและจริงจังในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีเยี่ยมและสวยงามนั้นแหละที่ผลักให้เขาต้องตัดสินใจออกมาจาก Apple เราเห็นกันอยู่ว่าที่ผ่านมานั้น Apple เป็นเปลี่ยนตัวเองจากบริษัทฮาร์ดแวร์เป็นหลัก มาเป็นบริการออนไลน์ซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแม้มันจะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ไอฟ์ต้องการ สิ่งที่เขาอยากทำคือออกแบบสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตื่นตาตื่นใจ อิสรภาพจากการออกมาทำบริษัทของตัวเองนั้นจะช่วยสร้างโอกาสให้ลูกค้าที่มีวิสัยทัศน์ทางเดียวกับเขาสามารถเข้าถึงตัวเขาได้ ความท้าทายใหม่ ๆ จะวิ่งหาเขาอยู่ตลอดเวลา

Financial Times สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นการทำงานของไอฟ์ เขาบอกว่า

“ผมสนใจในการทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น ผมสนใจในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ที่มาจากการเอาใจใส่ ไม่ใช่มาจากความหละหลวม”

แน่นอนเราอาจจะไม่มีทางรู้ได้ว่าสิ่งที่ไอฟ์คิดหรือการตัดสินใจครั้งนี้มีสาเหตุอย่างอื่นเพิ่มเติมรึเปล่า แต่มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทิศทางของบริษัทจะเปลี่ยนไปเพราะมีเป้าหมายที่ต้องทำ การสูญเสียไอฟ์ของ Apple ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่มันเหมือนคนสองคนที่มีวุฒิภาวะทางความคิดและเห็นตรงกันว่านี่เป็นเวลาที่เหมาะสม (ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้) ที่จะแยกจากกัน

มีคำพูดหนึ่งของจอบส์ที่ถูกพรินท์ติดไว้บนฝาผนังหน้าห้องประชุมว่า

“ผมคิดว่าถ้าคุณได้ทำบางอย่างแล้วมันออกมาดี คุณก็ควรทำอย่างอื่นที่ยอดเยี่ยม อย่าไปยึดติดกับมันนานเกินไป แค่รู้ว่าสิ่งต่อไปคืออะไร”

จอนนี่ ไอฟ์อาจจะคิดแบบนั้นตอนที่เขาประกาศลาออกจากบริษัทก็เป็นได้

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4 อ้างอิง 5

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส