ประโยคทองจาก กอร์ดอน เก็กโค (Gordon Gekko) ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Wall Street’ ที่แม้จะเป็นแค่เรื่องแต่งสมมุติขึ้นมา แต่มันวาดภาพให้เห็นเรื่องของการทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ลุ่มหลงในความร่ำรวยโดยไม่สนใจว่าจะต้องแลกมันมาด้วยอะไรบ้าง ประเด็นหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือถ้าคุณหายใจเข้าออกเป็นการทำงานแล้วล่ะก็รางวัลที่จะได้รับนั้นจะน่าตื่นเต้นและยิ่งใหญ่มาก ๆ ในท้ายที่สุด
ภาพชินตาที่เราเข้าใจคือคนทำงานอย่างหนักเพื่อจะสร้างฐานะให้กับตัวเอง จำกัดอยู่แค่ในวงแคบ ๆ อย่างการเงิน หรือคนทำธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง แต่ที่จริงแล้วเจ้าวัฒนธรรมทำงานหนักนั้นแตกกิ่งก้านแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ความจริงแล้วมันแทบจะอยู่ในทุกองค์กรและหน้าที่การงานเลยก็ว่าได้ เพียงแต่มาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
งานศึกษาชิ้นใหม่บ่งบอกว่าตอนนี้คนทำงานทั่วโลกทำงานล่วงเวลาแบบไม่ได้รับค่าตอบแทนมากกว่า 9.2 ชั่วโมง / อาทิตย์ (เพิ่มขึ้นจาก 7.3 ชั่วโมงจากเมื่อปีก่อน) โปสเตอร์ปลุกใจติดอยู่เต็มผนัง ‘Rise and Grind’, ‘Hustle Harder’, ‘Don’t stop when you’re tired’ ถ้าอยาก ‘เปลี่ยนโลก’ คุณต้องทำงานให้หนักมากขึ้นไปอีก และยิ่งในช่วงการระบาดของโควิดที่ทุกคนต้องทำงานจากบ้าน ชั่วโมงการทำงานของเราก็ยาวขึ้นไปอีก การตอบอีเมลตอนตีสองครึ่งกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าตอนนี้นาฬิกาชีวิตกับงานนั้นปนเปกันจนไม่สามารถแยกจากกันได้
ทั้งที่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำงานเป็นระยะเวลานาน ๆ แบบนี้ผลที่ตามมาคือการ “เบิร์นเอาท์” หรือหมดไฟในการทำงาน ที่ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ ทำไมเราถึงยังยกย่องวัฒนธรรมการทำงานหนักกันอยู่? แล้วมีทางไหมที่จะเปลี่ยนแปลงมันได้?
อย่างที่บอกไปว่าเจ้าวัฒนธรรมนี้มันฝังลึกและแพร่กระจายไปในแทบจะทุกแห่งในโลกปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่ที่ Silicon Valley หรือ Wall Street เท่านั้น แต่เราเห็นหลาย ๆ ที่มีวัฒนธรรมงานหนักไม่ต่างกัน อย่างในญี่ปุ่นก็มีชื่อเรียกว่า “คาโรชิ” (Karoshi) หรือการทำงานหนักจนตาย ย้อนไปตั้งแต่ช่วงหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศต้องการเร่งพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในประเทศแถบอาหรับก็มีรายงานว่าผู้ประกอบอาชีพแพทย์นั้นมีอาการเบิร์นเอาท์สูงขึ้น เพราะอัตราส่วนของแพทย์กับคนป่วยนั้นสูงจนเกินพอดี (ซึ่งโดยเฉพาะช่วงโควิดแบบนี้แพทย์ทั่วโลกก็คงเผชิญปัญหาที่ไม่ต่างกัน) เหตุผลของการทำงานหนักในแต่ละอุตสาหกรรมก็แตกต่างกันออกไป
แต่เหตุผลที่เรามักได้ยินเกี่ยวกับการทำงานหนักก็เพราะว่ามันน่าตื่นเต้น มันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แสดงฐานะว่าเรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะจำกัดความสำเร็จนั้นด้วยเม็ดเงินหรือว่าภาพถ่ายที่ถูกโชว์หราอยู่บนอินสตาแกรมว่าเรากำลังทำงานในฝันอยู่ ฉันกำลังทุ่มเทให้กับสิ่งที่รักอย่างสุดหัวจิตหัวใจ การพยายามทำให้งานนั้นดูเย้ายวนชวนฝัน กลายเป็นสิ่งปฏิบัติที่ทำกันในกลุ่มคนชนชั้นกลางถึงบน ส่วนใหญ่แล้วเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ นิตยสาร ‘The New Yorker’ เรียกการอุทิศตัวให้กับการทำงานหนักว่ามันเป็น “ลัทธิ” (cult) อย่างหนึ่งเลยทีเดียว แอนาท แลทช์เนอร์ (Anat Lechner) รองศาสตราจารย์คลินิกฝ่ายการจัดการที่ New York University บอกว่า
“เรายกย่องสรรเสริญวิถีทางการดำเนินชีวิต และวิถีการดำเนินชีวิตอันนั้นก็คือ : เราหายใจเป็นอะไร ฝันเป็นอะไร คุณก็ตื่นลืมตาขึ้นมาและทุ่มเทให้กับมันตลอดทั้งวัน หลังจากนั้นคุณก็นอน วน วน และวน อยู่แบบนี้”
ต้นกำเนิดของมันจริง ๆ อยู่ที่ไหนกัน? ทำไมการทำงานหนักจนตัวเองเหนื่อยล้าจนล้มป่วย, ไม่มีเวลาส่วนตัว, หลับแค่วันละชั่วโมงจึงเป็นเรื่องที่หยิบมาคุยโวโอ้อวดกันเหมือนตอนนี้?
ต้องย้อนกลับไปช่วงศตวรรษ 16 มีสิ่งที่เรียกว่า “Protestant Work Ethic” ที่เป็นความเชื่อของผู้นับถือลัทธิโปรเตสแตนต์ในยุโรปที่เชิดชูการทำงานหนัก มันเป็นหนทางสู่แสงสว่าง ความถูกต้อง สร้างรายได้อันงดงามให้กับธุรกิจ หลอกตัวเองว่าความเหน็ดเหนื่อยไมได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร และความเกียจคร้านเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ
สิ่งที่ทำให้ปัญหาฝังรากลึกลงไปอีกคือการมาถึงของยุคอุตสาหกรรมที่พยายามยกย่องส่งเสริมเรื่องความมีประสิทธิภาพ (efficiency) ทำให้การทำงานหนักอย่างสม่ำเสมอ แม้ต้องแลกมาด้วยเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ก็ตาม
พอมาถึงช่วงยุค 80’s ที่การทำงานหนักเป็นสิ่งจำเป็นในโลกทุนนิยม เพื่อผลักดันให้ครอบครัวนั้นกินดีอยู่ดี การแข่งขันทางธุรกิจนั้นสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนการทำงานหนักวันละหลายชั่วโมงกลายเป็นเรื่องปกติ จนเข้าสู่ยุค 90’s ถึงต้น 00’s เริ่มขยายถิ่นฐานจากแก๊งใส่สูท พนักงานบริษัทและการเงิน ไปสู่แก๊งฮูดดี้ พนักงานบริษัทไอทีเทคสตาร์ตอัปอย่างกูเกิลหรือเฟซบุ๊ก และโลกก็เริ่มจับตามองคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น
สังคมสรรเสริญผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพที่ออกมาป่าวประกาศว่า “อยากเปลี่ยนโลก” บอกเทคนิคและขั้นตอนการใช้เวลาตลอด 24 ชั่วโมงที่มีของตัวเองว่าจะใช้มันให้มีประโยชน์มากขนาดไหน และเรื่องตลกร้ายอย่างหนึ่งก็คือว่าแก๊งฮูดดี้สตาร์ทอัปที่โฟกัสพลังงานและแรงบันดาลใจของตัวเอง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ทำให้เรานั้นสามารถทำงานได้มากขึ้นด้วย
ปัจจุบันนี้หลายคนติดอยู่ในวงวนที่ต้องทำงานอย่างหนักเพียงเพื่อจะมีเงินมากพอที่จะจ่ายหนี้บัตรเครดิตตอนสิ้นเดือน หรือเพียงแค่ทำงานเพื่อให้ยังได้มีงานทำ หรือแม้แต่การทำงานเพื่อถีบตัวอย่างให้ขึ้นบันไดไปอีกขั้นของตำแหน่งหน้าที่ และสำหรับคนที่เชื่อในเรื่องของการทำงานหนักที่เกินพอดีนั้นก็จะต้องมีอะไรมาแสดงให้เห็นถึงความเหนื่อยยากลำบาก อาจจะเป็นรถยนต์ใหม่ที่สวยหรู หรืออาจจะเป็นการโชว์การทำงานที่รัก ที่มีความหมาย จนตัวเองเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนถ้วยรางวัลอันแปลกประหลาดวางแสดงให้กับคนรอบข้างได้เห็น ซึ่งถ้าเห็นประโยคทำนอง “ฉันไม่นอนหรอก นี่แหละคือแรงบันดาลใจในทุกสิ่งทุกอย่าง” บนโซเชียลมีเดียหรือได้ยินใครก็ตามพูด ก็เข้าข่ายเลยทีเดียว
องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization) ได้นิยามเบิร์นเอาท์เอาไว้ว่ามันเป็นโรคที่เกิดจาก “ความเครียดจากการทำงานอย่างหนักที่ไม่ได้รับการจัดการแก้ไข” โดยจะมีอาการเหนื่อยเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกแย่กับงานและทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ พูดอีกอย่างคือมันทำให้คุณเหมือนซอมบี้เดินไปทำงานแบบทื่อ ๆ แข็ง ๆ และทำให้ถามตัวเองอยู่เสมอว่า “ทำไมถึงยังทำงานตรงนี้อยู่?”
เบิร์นเอาท์นั้นเป็นสิ่งที่เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลานี้ ยิ่งเราเห็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงอย่าง อีลอน มัสก์ ทวีตว่า
“มีที่ทำงานสบาย ๆ อยู่หลายที่ แต่ไม่เคยมีใครสักคนที่เปลี่ยนโลกได้ด้วยการทำงานแค่ 40 ชั่วโมงต่ออาทิตย์”
ยิ่งตอกย้ำความเชื่อของลัทธิการทำงานหนักเกินไปให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จกับเขาบ้าง ก็ต้องทำงานให้ได้เท่ากับหรือมากกว่าเขาสิ เราอยู่ในสังคม 24/7 ทุกอย่างต้องเดี๋ยวนี้ ตอบอีเมลตอนตีสอง อ่านข่าวตอนตีสาม ไลน์ตามงานกันตอนเที่ยงคืน ประชุมวันอาทิตย์ ทุกอย่าง 24/7 หัวหน้าต้องเข้าถึงลูกน้องได้ตลอดเวลา เราไม่มีกำแพงขวางกั้นระหว่างงานกับเวลาส่วนตัวอีกต่อไป
สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือว่า ถึงแม้ว่าเราจะทำงานกันหนักขึ้นมากขนาดไหน เด็กรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงานกลับเจอปัญหาทั้งเรื่องหนี้สิน การจ้างงานที่ถูกกดขี่ ราคาที่พักอาศัยที่สูงขึ้น ค่าครองชีพที่แพงขึ้น ถูกกดดันโดยสังคมให้ออกไปตามหาความฝัน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก หรือหางานที่มั่นคงในโลกธุรกิจที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
มีแบบทดสอบของนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ที่บอกว่าพวกเขาทำงานมากกว่า 95 ชั่วโมงต่ออาทิตย์และนอนเพียงวันละ 5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น มันเป็นการทำงานหนักที่เกินพอดี มันเป็นปัญหาที่แก้ไขลำบาก ย่ิงโดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด พนักงานหลายคนต้องทำงานจากที่บ้านและไม่สามารถจัดแจงเวลางานและชีวิตส่วนตัวให้สมดุลได้ มีแบบทดสอบอีกอันที่ทำโดยบริษัท LinkedIn ที่สอบถามคนกว่า 5,000 คนเกี่ยวกับเรื่องการทำงาน ผลสำรวจออกมาก็คือ 50% และ 45% ของคนที่ตอบคำถามบอกว่าชั่วโมงการทำงานหรือความยืดหยุ่นในสถานที่ทำงาน สมดุลของชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมีความสำคัญกับพวกเขามากยิ่งขึ้นตามลำดับ นับต้ังแต่เกิดโรคระบาด
ถึงกระนั้นก็ตาม ปัญหาของการทำงานหนักมากจนเกินไปนั้นจะยังไม่คลี่คลายลงในเร็ววันนี้ แม้ว่าเราจะเข้าใจมันมากขึ้นว่ามันเกิดจากอะไรและมีโทษมากขนาดไหน เทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาทำให้การทำงานจากบ้านหรือที่อื่น ๆ นั้นสะดวกมากยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้เราไม่สามารถตัดขาดงานได้อย่างเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่อยู่ต่างประเทศแล้วประชุมกันตอนตีสอง เราก็ต้องเข้ามาด้วยอยู่ดีแม้จะง่วงแค่ไหนก็ตาม ถ้าเราไม่ทำ…บริษัทก็จะหาคนใหม่มาทำแทน เพราะตราบใดที่รายได้ ผลประโยชน์ และความสำเร็จยังเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าคุณภาพของชีวิต ก็จะยังมีคนทำตรงนี้อยู่ แม้คุณจะไม่ทำก็ตามที
‘ทำงานให้หนัก’ หรือไม่ ‘ก็ถูกปลด’
นี่คือแนวคิดของธุรกิจในยุคปัจจุบัน (แม้ว่าจะมีหลาย ๆ แห่งพยายามจะเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยมาก) ที่เป็นอันตรายอย่างมาก มีคนเปรียบเทียบเรื่องนี้กับการปลูกต้นไม้ว่า ถ้าเราเอาต้นไม้มาปลูกในดินห่วย ๆ ปุ๋ยแย่ ๆ แสงไม่พอ น้ำไม่รด ไม่ว่าต้นไม้ที่เอามาปลูกนั้นจะสวยขนาดไหน สุดท้ายมันก็ต้องตายอยู่ดี
โชคดีที่เราเป็นมนุษย์ ยังพอมีทางเลือก ลองหาวิธีการปรับสมดุลให้ชีวิตและการทำงานให้ดีขึ้น การไปยึดติดว่าห้ามเหนื่อย ห้ามพัก เท่ากับความสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวมากกว่าผลดี การเบิร์นเอาท์นอกจากจะทำให้การทำงานไม่มีความสุขแล้ว มันอาจจะทำให้งานที่เคยเป็นความฝันกลายเป็นส่ิงที่เกลียดไปเลยก็ได้
และถ้าใครเป็นเจ้านาย ก็อย่าไปไลน์หาลูกน้องตอนตีสามเลยครับ
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6 อ้างอิง 7
อ้างอิง 8 อ้างอิง 9 อ้างอิง 10 อ้างอิง 11 อ้างอิง 12 อ้างอิง 13
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส