ผมเพิ่งสมัคร Disney+ Hotstar แบบรายปีไปเมื่อไม่กี่อึดใจที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะมันมีซีรีส์ใหม่หรือภาพยนตร์ที่ออกจากโรงสด ๆ ร้อน ๆ ที่ต้องการดู แต่สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจสมัครสมาชิกอย่างรวดเร็วกลับเป็นซีรีส์เก่า ภาพยนตร์เรื่องเดิมที่คุ้นเคยอย่าง ‘Modern Family’, ‘Lost’, ‘Family Guy’, ‘Finding Nemo’ และ ‘Toy Story’ ต่างหาก อาจจะต้องยอมรับอย่างโดยดีว่าปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา ผมแทบจะไม่ได้เสพซีรีส์หรือภาพยนตร์ใหม่เลย ซึ่งพฤติกรรมนี้ค่อนข้างแตกต่างจากตัวเองในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ที่จะคอยหาอะไรใหม่ ๆ มาดูอยู่ตลอดเวลา
จากรายงานจากเว็บไซต์ BBC.com ผมไม่ใช่คนเดียวที่เป็นแบบนี้ โชว์อย่าง ‘The Sopranos’ หรือ ‘The Office’ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเว็บไซต์รวมรวมข้อมูลเรตติ้งอย่าง Nielsen Data บอกว่า ‘The Office’ เป็นโชว์ที่มีคนสตรีมมากที่สุดในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจ เพราะสิ่งหนึ่งที่ทั่วโลกประสบเหมือนกันคือเรื่องของผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่ร้ายแรง และที่ทุกคนทำเหมือน ๆ กันอีกอย่างก็คือใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้เราเห็นการแข่งขันของบริการสตรีมมิงทั้ง Netflix, Disney, Apple และ HBO ที่พยายามสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ ให้กับสมาชิกตลอดเวลา แต่หลายคน (รวมทั้งผมด้วย) กลับเลือกดูหนังและซีรีส์เก่า ๆ ซ้ำไปซ้ำมา ทำไมเราถึงยังเลือกกดดูเรื่องเก่า ๆ เดิม ๆ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตอนจบจะเป็นยังไง?
ในช่วงปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เรื่องของการงาน การเงิน ธุรกิจ สุขภาพ ไปจนถึงขั้นตอนการรักษาและวัคซีนที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ทุกอย่างมันสุมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน เหมือนตื่นเช้ามาพร้อมกับข่าวอันหดหู่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอแต่เรื่องหนัก ๆ สมองของเรา แม้มันจะเป็นอวัยวะที่น่าทึ่งขนาดไหน มันก็มีขีดจำกัดที่จะรับความเครียดได้เช่นเดียวกัน
ด้วยสถานการณ์ภายนอกที่ไม่แน่นอน ช่วงเวลาแห่งความว้าวุ่น เราทุกคนต้องการหาอะไรบางอย่างที่ง่ายต่อการประมวลผล ไม่ต้องคิดมาก รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รู้สึกว่าเราสามารถควบคุมสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ โชว์เหล่านี้เรียกว่าเป็น Comfort Show ที่ทำให้อุ่นใจ ปลอดภัย คุ้นเคยและอบอุ่นเหมือนเพื่อนสนิทยามเหงามานั่งพิงไหล่ข้าง ๆ แล้วบอกว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี
ข่าวสารมากมายจากรอบด้าน แถมต้องตัดสินใจรายวันเลยว่าต้องทำอะไรต่อไป มากกว่าตอนก่อนที่โรคระบาดครั้งนี้จะเกิดขึ้นแบบมหาศาล เพราะฉะนั้นเมื่อถึงจุดที่สมองล้าจนไม่สามารถรับอะไรได้แล้ว ประชุมซูมมาทั้งวัน นั่งอ่านข่าวอัปเดตตลอดเย็น ดูแลลูกเรียนออนไลน์ แบ่งเวลาไปให้กับครอบครัว งานที่ยังค้างส่งเพราะทำงานจากบ้านไม่ได้สะดวกอย่างที่คิด พลังงานของสมองตอนนี้ถูกสูบเอาไปใช้จนหมดเกลี้ยง จังหวะนี้เองที่เมื่อมีเวลาได้พักผ่อนเล็กน้อย สมองก็ไม่อยากจะคิดแล้วว่าจะดูอะไรดี อยากได้อะไรก็ได้ที่เรารู้แน่นอนว่าจะชอบ บางอย่างที่เคยดูมาแล้ว เพราะไม่อยากตัดสินใจอะไรอีก ไม่อยากต้องไปทำความรู้จักคาแรกเตอร์ใหม่ พล็อตที่ซับซ้อน ต้องมานั่งลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และตอนจบอาจจะอยากเขวี้ยงมือถือหรือรีโมตทิ้งก็ได้ แต่สำหรับโชว์เก่า เรารู้เลยว่ามันจะไปทางไหน ตัวละครจะเป็นแบบไหน ใครจะเป็นแฟนกับใคร เลิกกันเมื่อไหร่ และก็รู้ว่าเดี๋ยวก็กลับมาคืนดีกัน นี่เลยเป็นเหตุผลแรกที่เราเลือกซีรีส์เดิมแล้วกดเพลย์ เพราะสมองล้าเกินกว่าจะประมวลผล
นักร้องชื่อดังอย่าง บิลลี ไอลิช (Billie Eilish) เคยให้สัมภาษณ์ไว้เกี่ยวกับซีรีส์ ‘The Office’ ว่า “มันเป็นเหมือนการดูแลรักษาความรู้สึกของตัวเอง มันเป็นที่พักใจ เป็นสถานที่เล็ก ๆ ที่หนีไปซ่อนตัวได้ มันอาจจะฟังดูงี่เง่านะ แต่โชว์นี้ได้ทำให้ผ่านช่วงเวลาแย่ ๆ มาได้ทั้งชีวิตเลย”
แน่นอนว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่เราย้อนกลับมาดูซีรีส์เก่าหรือหนังเก่าก็เพราะเราชอบมันนั่นแหละ สมองเราอาจจะล้าและหมดแรงก็จริง แต่เราก็คงไม่กลับไปดูถ้ามันไม่ได้สนุกตั้งแต่แรก มันอาจจะเป็นเหตุผลที่ดูง่าย ๆ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูอีกครั้ง เราจะเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พลาดไปในรอบก่อนหน้า ยิ่งทำให้รู้สึกตื่นเต้นและมีอะไรที่สนุกอยู่เสมอแม้ว่าพล็อตเรื่องทุกอย่างจะเหมือนเดิมก็ตาม การที่หยิบซีรีส์หรือภาพยนตร์เรื่องเดิมกลับมาดูซ้ำอีกครั้งอาจจะดูว่ามันน่าเบื่อ แต่นักจิตวิทยาหลายคนกลับบอกว่าการดูบ่อย ๆ ทำให้เกิดความหลงใหลในสิ่งนั้นขึ้นมาได้ เพราะเมื่อเป็นอะไรที่ซ้ำเดิม สมองไม่ต้องคิดมาก เรามักจะเหมาเลยว่านี่คือสิ่งที่ดี ซีรีส์ที่วนมาแล้วห้ารอบก็เป็นแบบนั้น สมองไม่ต้องทำงานเลยมีความสุข สิ่งนี้ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า “Mere Exposure Effect” ที่หมายถึงว่ายิ่งเราเสพบ่อยแค่ไหน เรายิ่งชอบมากขึ้นไปด้วย ยกตัวอย่างเพลงที่เราฟังบ่อย ๆ ตอนแรกอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร ฟังไปฟังมาติดหูซะงั้น
นอกจากเรื่องของสมองและความรู้สึกชอบในตัวคอนเทนต์แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ซีรีส์เก่าหรือภาพยนตร์เก่านำกลับมาด้วยคือความรู้สึกและความทรงจำที่สวยงามในช่วงเวลาในอดีต บางคนอาจจะเคยดู ‘How I Met Your Mother’ ระหว่างที่เรียนภาษาในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เป็นการใช้ชีวิตวัยหนุ่มที่เต็มไปด้วยความท้าทาย การกลับมาดูซีรีส์นี้อีกครั้งช่วยกระตุ้นความรู้สึกบางอย่างข้างใน ความทรงจำของช่วงเวลาที่สนุกสนาน ความรู้สึกดี ๆ ที่อยู่กับเพื่อนสนิท อาจจะเป็นความสัมพันธ์กับคนรักที่จบลงไปแล้ว เป็นช่วงวัยหนุ่มที่เต็มไปด้วยพลัง เหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนไปในช่วงเวลานั้นอีกครั้ง และนั้นก็เป็นความรู้สึกที่หาไม่ได้จากโชว์ใหม่ ๆ ที่เรายังไม่เคยดู
เคลย์ ลุธเลดจ์ (Clay Routledge) ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย North Dakota State University ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความอาลัยอาวรณ์ (nostalgia) บอกว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่สร้างเหตุผล เราชอบที่จะถามว่า ‘เราเป็นใคร?’ ‘อะไรคือสิ่งที่ทำให้ฉันเป็นฉันทุกวันนี้?’” และการกลับไปดูโชว์เก่า ๆ ตอนที่เรากำลังเติบโตในช่วงวัยรุ่นจนถึงเริ่มทำงานใหม่ ๆ จะทำให้ระลึกถึงคำถามเหล่านี้ได้
มีอีกงานวิจัยหนึ่งที่บ่งบอกว่าเวลาที่เราหยิบซีรีส์เก่ามาดูนั้นจะทำให้รู้สึกว่าสามารถกลับมาควบคุมตัวเองได้อีกครั้ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าโชว์เก่าที่คุ้นเคยจะช่วยทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นในตอนที่อ่อนล้า เพราะมันไม่มีอะไรที่จะทำให้เราแปลกใจหรือตกใจ ไม่ต้องมาคอยลุ้น รู้ว่าเราจะรู้สึกยังไงเมื่อเนื้อเรื่องจบลงไป มันไม่เคยทำให้ผิดหวัง
เพราะฉะนั้นครั้งต่อไปถ้าเรากลับมาดูซีรีส์หรือภาพยนตร์เก่า ๆ ก็ไม่ต้องกังวล คุณและผมไม่ได้มีอะไรที่แปลก แตกต่างจากคนอื่น เรามีสาเหตุที่กลับมาดูมันอีกครั้ง แม้จะแตกต่างกันออกไป
ในเชิงธุรกิจแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังทำให้บริการสตรีมมิงทั้งหลายพยายามหาซีรีส์คลาสสิกมาไว้กับตัวเองให้มากที่สุด อย่าง NBC Universal จ่ายเงินกว่า 500 ล้านเหรียญเพื่อเอา ‘The Office’ มาไว้บนบริการสตรีมมิง Peacock ของตัวเองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เป็นเวลา 5 ปี หรืออย่างซีรีส์ ‘Friends’ ที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์โดย WarnerMedia เพื่อให้มาอยู่บน HBO Max ด้วยเงินกว่า 425 ล้านเหรียญ (ซึ่งก็จะมีภาคใหม่ออกมาด้วย) ซีรีส์ทั้งสองเรื่องถูกฉายอยู่บน Netflix หลายปี และดึงดูดผู้ชมได้เยอะ เมื่อหมดสัญญา Netflix เลยไปดึง ‘Seinfeld’ เข้ามาแทนในช่วงปลายปี 2021 ส่วน HBO Max ก็ยังพยายามดึงซีรีส์ ‘The Big Bang Theory’ กับ ‘South Park’ มาด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการแข่งขันและเม็ดเงินในธุรกิจของโชว์คลาสสิกเหล่านี้ค่อนข้างสูงมากทีเดียว
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ให้บริการสตรีมมิงเหล่านี้ควรทุ่มเงินมหาศาลเพื่อจะเอาโชว์คลาสสิกมาไว้ในมือแล้วไม่ต้องสร้างคอนเทนต์ใหม่เลย เพราะถึงยังไงในอนาคต โชว์และภาพยนตร์ต่าง ๆ บางเรื่องเด็กยุคถัดไปก็อาจจะไม่สามารถเชื่อมโยงได้อีกต่อไป (เคยเห็นเด็กถามว่าโทรศัพท์บ้านคืออะไรไหมครับ?) ถึงจุดหนึ่งมันจะไกลกันเกินไปจน ‘The Office’ หรือ ‘Friends’ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนกลุ่มใหม่ต้องการ ถามว่าคนรุ่นต่อไปจะมีความรู้สึกคล้ายกันกับเราตอนนี้ไหม พวกเขาจะกลับมาดูโชว์เก่า (ที่เขาเติบโตมาด้วย) ในอนาคตรึเปล่า ก็คงเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตต้องทำคือสร้างโชว์ที่จะอยู่ได้ไปอีก 10-20 ปีโดยไม่เสียคุณค่า ไม่ใช่แค่บางอย่างที่ดูแค่คืนนี้ แต่เป็นอะไรที่กลับมาดูซ้ำแล้วซ้ำอีกได้เรื่อยๆ
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4
อ้างอิง 5 อ้างอิง 6 อ้างอิง7 อ้างอิง 8
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส