นี่น่าจะเป็นครั้งแรก ที่ ‘ทาเลนต์’ ของ #beartai มาแบบแพ็กคู่! ‘ดาว-อรปรียา งามสง่า’ และ ‘เดือน-อรวรรยา งามสง่า’ คนข่าวฝาแฝด ที่ตอนนี้มีตำแหน่งการงานในฐานะผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าว ททบ.5 “เหมือนกัน” แถมในชีวิตของเธอทั้งคู่ยังทำอะไรเหมือน ๆ กันอีก จนเรียกได้ ว่าถ้ามาแบบเดี่ยว ก็อาจจะดูแปร่ง ๆ ไปสักนิด จึงต้องมากันแบบแพ็กคู่ให้สมบูรณ์แบบคูณสอง
สองสาว ‘ดาว-เดือน’ เริ่มต้นงานในฐานะทาเลนต์แล้ว กับรายการข่าวใหม่เอี่ยม ‘ข่าวx2’ ที่กำลังจะมีการปรับรูปแบบใหม่ นำเสนอข่าวดังในรอบสัปดาห์ พร้อมแทรกข้อมูลเชิงลึกและความรู้กฏหมายที่ทั้งคู่ถนัด
มาแบบคู่ ก็ต้องคุยกันแบบแพ็กคู่ เราจึงชวน ‘ดาว-เดือน’ มานั่งคุยกัน คุยเรื่องความเป็นฝาแฝด ครั้งแรกในฐานะคนทำสื่อออนไลน์ และเป้าหมายในการทวีคูณข่าวแบบคูณสอง ให้ข่าวเป็นประโยชน์ต่อคนเสพข่าว มากกว่าเป็นเพียงแค่ข่าวทั่ว ๆ ไป
เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าชีวิตการเป็นคู่แฝดเป็นยังไงบ้าง
ดาว : จริง ๆ ตอนเด็ก ๆ ดาวกับเดือนจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตลอด ตั้งแต่ช่วงอนุบาล ประถม มัธยม เรียนก็เรียนที่เดียวกัน ไปเที่ยวก็ไปด้วยกัน ใช้ชีวิตติดกันแทบจะตลอดเวลาเลยค่ะ แต่ว่าพอจบ ม.6 ดาวกับเดือนก็มานั่งคุยกันว่า มันคงต้องมีช่วงเวลาที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเราสองคนแล้วล่ะ เพราะเราคงใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตลอดไปไม่ได้ คงต้องออกไปใช้ชีวิต ไปมีครอบครัวเป็นของตัวเอง
แล้วก็เป็นความคิดของคุณพ่อด้วย ที่อยากให้ลองเรียนกันคนละมหาวิทยาลัยด้วย แต่ไม่ได้บังคับว่าอยากเรียนอะไร ตามใจเราเลย ซึ่งเราทั้งสองคนอยากเรียนกฏหมาย แล้วหลาย ๆ มหาวิทยาลัยก็มีคณะนิติศาสตร์อยู่แล้ว คุณพ่อก็เลยพูดเกริ่น ๆ แต่ไม่ได้บังคับนะคะ ว่าจะชอบเหมือนกันได้ ไม่เป็นไร แต่ลองแยกมหาวิทยาลัยเรียนกันไหม ลองแยกกันไปใช้ชีวิตเป็นของตัวเองดู
นั่นก็เลยเป็นเหตุผลที่ดาวกับเดือนแยกกันเรียนคนละที่ ดาวเรียนที่คณะสังคมศาสตร์ สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนเดือนเลือกไปเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เพราะว่าเราเองใช้ชีวิตด้วยกันมาตลอด กลุ่มเพื่อนก็กลุ่มเดียวกัน ถ้าลองแยกออกไปใช้ชีวิตดู เราอาจจะได้มีเพื่อนกลุ่มใหญ่ขึ้นก็ได้ ใช้เวลาช่วงเรียนนี่แหละในการหาเพื่อนใหม่ ๆ และออกไปใช้ชีวิตในโลกที่กว้างขึ้นกว่าเดิม เพราะยังไงสักวันหนึ่ง กลับมาทำงาน ก็ต้องกลับมาเจอกันอยู่ดี
เดือน : จริง ๆ ตอนแรกด้วยความที่เดือนกับดาวชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่เรียนมัธยมแล้ว เป็นพิธีกร เป็นดีเจในทุก ๆ กิจกรรมของโรงเรียน และเราสองคนก็ชอบพูด คลุกคลีกับการพูดมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตอนแรกก็คิดกันว่า หรือจะเรียนนิเทศศาสตร์ดี แต่คุณพ่อมองว่า เราจะชอบก็ชอบได้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การเป็นนักพูดหรือพิธีกรมันฝึกกันได้ ลองหาอีกคณะที่ต่อยอดในอนาคตได้อีกดีไหม เดือนก็เลยเลืิอกนิติศาสตร์
ดาว : ส่วนดาวตอนแรกจะเลือกเรียนบัญชี แต่ว่าสุดท้ายก็มาเลือกนิติศาสตร์เหมือนกัน แต่คนละมหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าถามว่าทำไมต้องนิติศาสตร์ เพราะดาวมองว่า ปกติผู้หญิงมักจะเสียเปรียบในเรื่องของกฏหมายอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของกฏหมายครอบครัว เพราะว่าถ้าวันหนึ่งเกิดเราจดทะเบียนสมรส และแต่งงาน แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดต้องหย่าขึ้นมา มันมีกฏหมายที่เกิดขึ้นหลังจากหย่าตามมาอีกมากมาย ทั้งเรื่องสินสมรส การจดทะเบียนรับรองบุตร ค่าเลี้ยงดูบุตร ต่าง ๆ นานา
ซึ่งผู้หญิงควรจะรู้ไว้เพื่อป้องกันตัว แล้วอีกอย่างก็คือ กฏหมายอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ขนาดหลังตายก็ยังมีเรื่องกฏหมายเกี่ยวกับเรื่องมรดกอีก ก็เลยตัดสินใจเรียนกฏหมาย ซึ่งตลอด 4 ปีเราแยกกันใช้ชีวิตเลยนะคะ แต่สุดท้ายก็ได้กลับมาทำงานที่ ททบ.5 ด้วยกัน เป็นไปตามที่คุณพ่อบอกเป๊ะ ๆ เลยว่า สุดท้ายสักวันหนึ่งก็ได้กลับมาเจอกันอยู่ดี
คุณทั้งคู่ตัดสินใจเป็นผู้ประกาศข่าวของ ททบ.5 ได้อย่างไร
ดาว : ตอนนั้น ททบ.5 เปิดรับสมัครผู้ประกาศข่าวรุ่นใหม่พอดีค่ะ เราสองคนก็เลยตัดสินใจไปสมัครพร้อมกันทั้งคู่ ซึ่งก็ต้องผ่านการทดสอบกระบวนการต่าง ๆ หลายรอบจนกว่าจะได้ ซึ่งพอได้เข้าไป ทางช่อง 5 เขาก็ฝึกเราให้เป็นทั้งผู้สื่อข่าว และผู้ประกาศข่าวไปด้วย
เพราะทางช่อง 5 มองว่า การที่เราจะเป็นผู้ประกาศข่าวได้ดี เข้าใจในเนื้อหาข่าว ต้องฝึกการเป็นผู้สื่อข่่าวด้วย ต้องเขียนข่าวเป็น ต้องรู้ว่าข่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร หาข่าวยังไง ต้องรู้กระบวนการของข่าว ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ การที่เราได้ลงพื้นที่เอง เราก็จะสามารถเข้าใจเนื้อหาและบริบทของข่าวที่เกิดได้มากขึ้น ตอนนี้ทั้งดาวและเดือนก็เลยต้องเป็นทั้งผู้ประกาศข่าว และลงพื้นที่เป็นผู้สื่อข่าวด้วยค่ะ
พูดถึงออนไลน์ ตอนนี้คุณทั้งคู่ก็ทำเพจของตัวเองด้วย เล่าให้ฟังหน่อยว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ดาว : ใช่ค่ะ ตอนนี้เราทั้งคู่กำลังทำเพจ ชื่อว่า Law with twins ที่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน สาเหตุที่ทำเพราะเรามองว่า เราอยู่ในวงการข่าวอยู่แล้ว และคนอ่านข่าวปกติ ก็จะอ่านแค่เนื้อข่าว หรือรู้แค่บริบทของข่าว แต่จริง ๆ แล้วในเนื้อข่าวมันมีเรื่องข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องสอดแทรกมากมาย ดาวคิดว่าหลายคนก็คงเป็น เวลาที่อ่านข่าวแล้วเราสงสัยว่า เขาผิดตรงไหน เข้าตามกฏหมายมาตราไหน หรือกระบวนการทางกฏหมายไม่ยุติธรรมกับเขาหรือเปล่า เราก็เลยอยากเอาสิ่งที่เราเรียนมา เอามาจับกับข่าวที่กำลังเป็นกระแสว่า มีข้อกฏหมายตรงไหนที่ทำให้เป็นแบบนั้น
เราเองเลือกข่าวที่เป็นกระแสมาก็จริง แต่คงไม่ได้ลงลึกเหมือนสำนักข่าว หรือเพจข่าว เพราะข่าวที่เป็นกระแส ใคร ๆ ก็นำเสนอได้ แต่เราอยากเอาข่าวมานำเสนอ พร้อมกับสอดแทรกประโยชน์ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เดือน : เราเองอยากทำเพจข่าวที่เป็นออนไลน์มานานมาก ๆ แล้วค่ะ แต่ว่าอย่างทีี่รู้กันว่าเพจข่าว สำนักข่าวตอนนี้มันมีมากมาย ก็เลยคิดว่าเราจะทำยังไงให้เพจของเราแตกต่างจากเพจอื่น ๆ ก็เลยคิดว่าอยากเอาสิ่งที่เราเรียนมา เอามาสอดแทรกกับข่าว เพราะถ้าเป็นเพจข่าวเฉย ๆ ก็จะพูดถึงแค่ประเด็นข่าว แต่เดิือนกับดาวจะเอามาตั้งคำถามต่อว่า เขาผิดตรงไหนยังไง แล้วก็เอามาบอก รวมถึงเป็นการแนะนำว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไรอย่างไรบ้าง
แนะนำรายการ ‘ข่าวx2’ หน่อยว่ารูปแบบเป็นอย่างไรบ้าง และจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ดาว : ตอนแรกที่เราสองคนคุยกับทีมงาน และมีความตั้งใจจะทำ รูปแบบก็จะคล้าย ๆ กับข่าวเช้า beartai BRIEF ที่จะเน้นข่าวไอที เทคโนโลยีนี่แหละค่ะ แต่ก็มองว่า มันอาจจะซ้ำซ้อนกันหรือเปล่า ก็เลยจะมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นการนำเสนอข่าวทั่ว ๆ ไป เป็นข่าวในรอบสัปดาห์ แต่จะเสริมเรื่องข้อมูลที่ลึกขึ้น และการเสริมข้อมูลเรื่องของกฏหมายลงไปด้วย เป็นการหยิบเอาข่าวในกระแสและสอดแทรกเรื่องกฏหมายเข้าไป เป็นทางออกให้กับประชาชนว่าจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง อย่างเช่นเหตุไฟไหม้โรงงาน จะมีการเยียวยาได้อย่างไร หรือเรื่องของภาษี ที่เกี่ยวข้องกับโครงการคนละครึ่ง หรือเรื่องภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เป็นต้น
เดือน : และต่อไปก็อาจจะมีการลงพื้นที่จริงด้วย ถ้ามีเรื่องที่น่าสนใจ เช่นที่เพิ่งทำไปล่าสุดใน ‘ข่าวx2’ ที่ไปรายงานสดเพื่อสำรวจการช่วยเหลือเยียวยาคนและสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความเดือดร้อน ที่มีผู้ประกอบการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ มันก็เป็นสิ่งที่เรานำเสนอที่มีความแตกต่างจากเพจข่าวอื่น ๆ ที่รายงานแค่ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง รวมถึงถ้ามีข่าวไอทีด้วยก็ได้ เพียงแต่ว่าตอนนี้เราอาจจะยังไม่ถนัดเรื่องของไอทีมาก เลยต้องทำการบ้านเยอะหน่อย ให้เข้าใจในสิ่งที่พูดมากขึ้น ถ้าในอนาคตมีความเข้าใจมากขึ้นก็อาจจะหยิบเอามานำเสนอด้วยก็ได้
คุณทั้งสองคนทำข่าวทีวีมาตลอด พอต้องมาทำสื่อออนไลน์ คุณมีประสบการณ์บ้างไหม หรือตื่นเต้นแค่ไหนในการเริ่มทำสื่อออนไลน์
ดาว : ด้วยความที่เราทั้งคู่ทำข่าวทีวีมาสองปี แต่ว่าเรายังไม่เคยลงมาทำสื่อออนไลน์เลย เลยยังไม่ค่อยรู้ว่ามันแตกต่างกันแค่ไหน หรือว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง ซึ่งทีี่ beartai BRIEF ก็ได้ให้โอกาสเราในการลองมาทำสื่อออนไลน์เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะการเสนอข่าวไอที และข่าวทั่ว ๆ ไปด้วย แน่นอนว่าเราอยู่ในวงการข่าว เรารู้อยู่แล้วว่าข่าวทั่วไปเป็นยังไง แต่สำหรับข่าวไอที อาจจะยังไม่ได้รู้ลึกขนาดนั้น ซึ่งการได้เข้ามาร่วมงานกับ beartai BRIEF ก็เป็นสิ่งที่เข้ามาเติมเต็มให้กับเรา และได้เริ่มอ่านข่าวไอทีในช่วงแรก ๆ
เดือน : เดือนและดาวเองยอมรับว่ายังไม่ได้ถนัดกับสื่อออนไลน์มากนัก แต่ก็ยังติดอยู่ที่ว่าเวลาเราทำคลิป หรือทำอะไรต่าง ๆ เราเองยังไม่แน่ใจว่าจะดีพอหรือยัง ไม่ค่อยรู้สึกมั่นใจเวลาลงคลิป แต่พอมาเห็นที่นี่เราก็เลยได้เห็นกระบวนการว่าทำอย่างไร ซึ่งทางทีมงานของ beartai BRIEF เองก็ช่วยซับพอร์ตเราในส่วนนี้ด้วย เราก็เลยสามารถทำเพจของเรา และทำรายการให้กับทาง beartai BRIEF ไปด้วยได้พร้อม ๆ กัน
ดาว : พอเราได้เรียนรู้ว่าสื่อออนไลน์ทำยังไง ยอมรับนะคะว่ามันแตกต่างจากทีวี ตอนที่ถ่ายคลิป ‘ข่าวx2’ เทปแรกที่เกี่ยวกับเรื่องไอที ยอมรับว่าตื่นเต้นกว่าอ่านข่าวทีวีอีก ทั้ง ๆ ที่ข่าวทีวีมันเป็นการอ่านสด ๆ นะ แต่ถ่ายคลิปออนไลน์ตืี่นเต้นกว่า ซึ่งมันก็ต้องเรียนรู้เป็นประสบการณ์กันไป
สำหรับคุณทั้งคู่ อะไรคือหัวใจสำคัญที่สุดในการนำเสนอเนื้อหา หรือการแข่งขันของข่าวออนไลน์ในยุคนี้
ดาว : หลายคนอาจจะมองว่าสื่อออนไลน์ต้องรวดเร็ว แต่ดาวมองว่าไม่ใช่ ความเร็วไม่ใช่สิ่งที่จะตัดสินว่าสื่อนั้นเป็นสื่อที่มีคุณภาพ หรือเป็นสื่อที่มีประโยชน์ แต่การได้รับข่าวสารของคนเรา มันต้องมีการรับรู้ในเชิงลึกด้วย ต้องรู้ว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่ ต้องผ่านการกลั่นกรองมาก่อน ซึ่งถ้าพูดถึงการทำเพจ Law with twins แน่นอนว่าเราคงแข่งไม่ได้ในเรื่องของความเร็ว
อย่างเช่นข่าว #ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ทุกคนรู้อยู่แล้วแหละว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราอยากนำเสนอมากกว่าคือ แล้วเหตุการณ์หลังจากนี้ล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น การช่วยเหลือ การเยียวยาหลังจากนี้ล่ะจะต้องทำอย่างไรบ้าง หรืออย่างเรื่องโครงการคนละครึ่ง ที่มีกระแสข่าวว่าต้องเสียภาษี ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นไหม แต่เวลาดาวอ่านข่าวจบ ดาวจะอ่านคอมเมนต์ด้วย เพื่อให้รู้ว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไรกับเรื่องนี้
คนอื่นอาจจะมองแค่ว่าไฟไหม้ที่ไหน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ด้วยความที่ดาวและเดือนเรียนกฏหมาย สิ่งแรกที่เราสองคนคิดก็คือ ไปค้นหาว่าโรงงานนี้ทำกรมธรรม์ไว้กี่ฉบับ ประกันที่ทำเอาไว้ ครอบคลุมความเสียหายจากอัคคีภัยไว้มากแค่ไหน คุ้มครองคนที่ได้รับความเสียหายเท่าไหร่อย่างไรบ้าง คนที่เดือดร้อนจะต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากประกันที่โรงงานทำไว้ นี่คือสิ่งที่คนที่ได้รับความเสียหายอยากจะรู้
คิดอย่างไรกับ beartai BRIEF ชอบตรงไหน หรือมีอะไรที่อยากแนะนำให้ปรับปรุงบ้าง
ดาว : ดาวคิดว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ๆ ค่ะ โดยเฉพาะอย่างรายการข่าวเช้า ที่มีพี่ ๆ ทาเลนต์มารายงานข่าวไอที เทคโนโลยี ซึ่งพี่ ๆ ทาเลนต์แต่ละคนก็มีความน่าสนใจ และมีประสบการณ์มาคุย เล่าข่าวให้ฟังในทุก ๆ เช้า ทำให้ดาวเองในตอนแรก ก่อนที่จะได้มาร่วมงานคิดว่ามันก็น่าสนใจ และน่าสนุกดีนะ ที่เราจะได้เรียนรู้ไปด้วย แต่ว่าพอเข้ามาจริง ๆ ก็พบว่า จริง ๆ แล้วโดยรวม ๆ ไม่ได้มีแต่ข่าวเทคโนโลยีนะ เพราะยังมีข่าวรอบวัน รวมถึงรายการสด ‘หนุ่ยทอล์ก’ ที่เอาเหตุการณ์ สถานการณ์ที่กำลังเป็นที่สนใจของคนมาคุยกัน มาหาคำตอบ
เดือน : แล้วบางครั้งมันก็มีอิมแพ็กต์ต่อสังคมด้วย อย่างเช่นเรื่อง Home Isolation ที่รายการ ‘หนุ่ยทอล์ก’ นำเสนอ พอปล่อยออกไปปุ๊บ ทางการก็มีมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ถือว่าเป็นอะไรที่ดีมาก ๆ ค่ะ
คำถามสุดท้าย คุณคิดว่า ข่าวดี ๆ จะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
เดือน : สำหรับเดือน ข่าวดี ๆ เป็นเหมือนสิ่งที่ชี้ทางให้กับคนให้รู้ว่าควรจะทำอะไรอย่างไรต่อไปดี การเสพข่าวดี ๆ ทำให้คนมองเห็นว่าเราสามารถจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรได้บ้าง เป็นแนวทางที่เขาจะสามารถนำเอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ๆ
โดยเฉพาะข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาครัฐเอง ทั้งเรื่องของกฏหมาย กฏระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไขต่าง ๆ ปกติข้อมูลพวกนี้มักจะใหญ่ ประชาชนอาจจะรู้สึกว่ามันย่อยยาก กลืนยาก สิ่งที่สื่อจะทำได้ก็คือ ย่อยมัน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอ การสนทนา หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้ประชาชนเอาไปใช้ได้เลย คิดต่อได้เลย นี่คือสิ่งที่เดือนคิดว่า มีแต่ข่าวดี ๆ เท่านั้นที่จะมีสิ่งนี้ค่ะ
แนะนำ :
- คุยอุ่นเครื่องเรื่องเทคโนโลยี ต้อนรับ ‘ขยล ตันติชาติวัฒน์’ ทาเลนต์ใหม่ข่าวเช้า beartai BRIEF
- เตรียมตัวต้อนรับสู่อนาคต กับ ‘ทศพล พิชญโยธิน’ ทาเลนต์ข่าวเช้า beartai BRIEF
- ‘นารากร ติยายน’ ประสบการณ์งานทีวี และข่าวไอที “ครั้งแรก” กับ beartai BRIEF
พบกับรายการ ‘ข่าวx2’ ได้ที่ เพจ Facebook และ YouTube : beartai BRIEF
ติดตาม beartai BRIEF ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/beartaiBRIEF
Twitter : https://twitter.com/beartaiBRIEF
Blockdit : https://www.blockdit.com/beartaibrief
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส