ช่วงปลายของยุค 90’s เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ แจ็ก ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) แฮกเข้าไปในระบบหลังบ้านของบริษัทชื่อ Dispatch Management Services ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลเกี่ยวกับการเรียกเมสเซนเจอร์ ส่งพัสดุ เอกสาร ฯลฯ จากเมืองนิวยอร์ก แต่การแฮกครั้งนี้มีเป้าหมายที่ไม่ใช่การทำเพื่อความสนุก แต่ดอร์ซีย์ต้องการสมัครงาน เขาแฮกระบบเพื่อแสดงให้เห็นถึงช่องโหว่และก็ส่งอีเมลไปบอกผู้จัดการบริษัทชื่อ เกรก คิดด์ ว่าต้องทำยังไงบ้างถึงจะอุดรอยรั่วเหล่านี้ได้ ถ้าเป็นบริษัทอื่นแทนที่ดอร์ซีย์จะได้งาน อาจจะได้เอกสารเรียกตัวไปขึ้นศาลก็ได้ แต่คิดด์เห็นอะไรบางอย่างในตัวของดอร์ซีย์ ตัดสินใจให้โอกาสเขามาทำงานในบริษัท ดอร์ซีย์ตอบรับงานย้ายจากมิสซูรีบ้านเกิดไปนิวยอร์กเพื่อทำงานและสมัครเรียนที่ New York University เอาไว้เผื่อด้วยเป็นแผนสำรองด้วย (ซึ่งก่อนหน้านี้คือเขาก็ดรอปจากมหาวิทยาลัยออกมา หลังจากที่เรียนได้ 2 ปีเพราะรู้สึกว่าการทำงานจริง ๆ น่าจะได้เรียนรู้อะไรที่มากกว่าในห้องเรียน)

เขาทำงานอยู่ที่นั่นหลายปี จนกระทั่งบริษัทประสบกับปัญหาเรื่องการเงิน จนต้องมีการปลดพนักงานออกมา มาถึงช่วงปี 1999 เขาดรอปจาก NYU แล้วบินไปเริ่มบริษัทสตาร์ตอัปสำหรับเรียกแท็กซี่และคนส่งของของตัวเองที่แคลิฟอร์เนีย แต่ไม่นานก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งจากบริษัทของตัวเองในปี 2002 เพราะไปงัดข้อกับบอร์ดบริหาร (แต่บริษัทก็ไปไม่รอดเพราะเจอฟองสบู่ดอตคอม) เขาก็ย้ายกลับไปที่มิสซูรีสักพักหนึ่ง และกลับมาซานฟรานซิสโกอีกครั้งในปี 2005 โดยไปอาศัยอยู่ที่บ้านของคิดด์ อาสาดูแลลูก ๆ ของเขาเพื่อแลกกับที่นอน ระหว่างนั้นก็หางานเขียนโปรแกรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำ จนกระทั่งไปพบกับ อีแวน วิลเลียมส์ (Even Williams) เจ้าของเว็บไซต์ Blogger ที่ถูก Google ซื้อไปในปี 2003 ซึ่งตอนนั้นกำลังทำสตาร์ตอัปเกี่ยวกับพอดแคสต์อันหนึ่งชื่อ Odeo ดอร์ซีย์สมัครงานกับเขาแล้วก็ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ระดับเริ่มต้นในช่วงปลายปี 2005

แต่ Odeo ก็ประสบปัญหาผู้ใช้งานไม่มากพอ ไม่ได้เติบโตเหมือนอย่างที่คาดการณ์เอาไว้สักเท่าไหร่ พนักงานของบริษัทเองยังไม่ใช้เลย แถมบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ก็เปิดตัวพอดแคสต์บน iTunes ในเวลาต่อมา ยิ่งเป็นเหมือนตะปูตอกฝาโลงของ Odeo เลยทีเดียว แต่ก่อนที่วิลเลียมส์จะปิดประตูของ Odeo เขาก็ทำการประกวดแข่งขันไอเดียขึ้นมาและดอร์ซีย์ก็หยิบไอเดียของทวิตเตอร์เข้าประกวดและได้รางวัลชนะเลิศ ซึ่งไอเดียพื้นฐานคือการส่งข้อความอัปเดตแบบสั้น ๆ ให้กับคนที่ตามเราอยู่

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของทวิตเตอร์ โดยทวีตแรกของดอร์ซีย์เกิดขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2006 เขียนว่า “just setting up my twttr” เขารับตำแหน่งซีอีโอในปี 2007 และถูกปลดออกจากตำแหน่งแค่เพียงปีเดียวถัดมา ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งอีกครั้งในปี 2011 ระหว่างนั้นเขาก็ไปเปิดสตาร์ตอัปชื่อดังอีกแห่งชื่อ Square ที่เป็นตัวกลางรับเงินผ่านบัตรเครดิตระหว่างสองฝ่าย

ตอนที่ดอร์ซีย์ต้องดูแลทั้ง Square และ Twitter เขาเป็นซีอีโอที่แตกต่างออกไป ใช้เวลากับงานอดิเรกของตัวเอง (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหามาแล้วในอดีต) เขายังลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ บริจาคเงินหลายล้านเหรียญ หนีไปพักผ่อนนั่งสมาธิเกือบสองเดือนทุกปี เขาทำสิ่งเหล่านี้ได้ยังไงกัน?

อย่ายอมแพ้ง่ายๆ

อย่างแรกที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับดอร์ซีย์ก็คือว่าเขาอยู่ในวงการเทคโนโลยีมาแล้วกว่า 20 ปี ตั้งแต่ตอนที่ทำบริษัทสตาร์ตอัปของตัวเองในปี 1999 ทุกอย่างก็ไม่ได้สวยหรูหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบ มีขึ้นมีลง ล้มเลิกผิดหวัง ปิดตัว หรือบางอย่างก็รอเวลานานหลายปีกว่าจะเป็นจริงได้ แต่เขาก็ไม่เคยยอมอะไรง่าย ๆ ยกตัวอย่างไอเดียของ Twitter นั้นที่จริงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000 แล้ว เขาได้ไอเดียมาจากแพลตฟอร์ม LiveJournal ที่กำลังโด่งดังอยู่ในตอนนั้น เขาคิดว่าอยากจะทำอะไรที่มันคล้ายกัน แต่เป็นอะไรที่รวดเร็วเหมือนการอัปเดตสถานะของตัวเองบนแชตแพลตฟอร์ม ซึ่งไอเดียนี้ก็ติดอยู่ในหัวเขามาโดยตลอด จนกระทั่งเขาได้ทีมที่จะทำให้มันเป็นความจริงได้ในปี 2006

“ทุกคนมีไอเดีย แต่ที่สำคัญคือการลงมือทำไอเดียนั้นและดึงดูดคนอื่นๆเพื่อช่วยคุณให้ทำไอเดียนั้นให้ได้ต่างหาก”

ตอนที่ดอร์ซีย์ถูกปลดออกจากตำแหน่งในปี 2007 นั้นบอร์ดบริหารลงความเห็นกันว่าเขายังมีประสบการณ์น้อยเกินไป ไม่เหมาะสำหรับตำแหน่งนี้ เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตอนนั้นได้ และแถมไม่พอ วิถีการทำงานของเขาที่มักจะกลับบ้านเร็วไปพักผ่อนอบซาวน่าและนั่งสมาธิก็ไม่ได้ทำให้บอร์ดมีความสุขสักเท่าไหร่

หลังจากเรื่องนี้เกิดขึ้น เขาก็กลับไปที่บ้านเกิดและหาอะไรใหม่ ๆ ทำอีกครั้ง 2 ปีให้หลัง เขาก็สร้างบริษัทสตาร์ตอัปชื่อ Square ในปี 2009 โดยไอเดียมาจากตอนที่เขาอยากขายของแต่คนซื้อมีแต่บัตรเครดิต และเขาก็รับบัตรเครดิตไม่ได้ ซึ่ง Square ก็เข้ามาแก้ไขปัญหาข้อนี้ กลายเป็นสตาร์ตอัปที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อีกสองปีต่อมา ตอนนี้ทีมบริหารของ Twitter ก็มีการสลับสับเปลี่ยนกันอีกครั้ง ดอร์ซีย์กลับมาเป็นซีีอีโออีกรอบ คราวนี้เขาจะไม่ใช่แค่ยุ่งกับการไปซาวน่าหรือนั่งสมาธิแล้ว เขาจะยุ่งกว่าเดิมเพราะต้องดูทั้งสองบริษัทเลย แต่ครั้งนี้เขาสามารถโน้มน้าวบอร์ดของทั้งสองบริษัทได้ว่าจะดูแลมันได้เป็นอย่างดี เขาแบ่งเวลาในทุก ๆ วันออกมาให้ชัดเจนและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในเวลาที่สั้นที่สุด เขาไม่เชื่อเรื่องการทำงานอย่างยาวนานแบบ 80 – 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลย

“ผมเลือกที่จะทำให้ทุกชั่วโมงมีประสิทธิภาพมากที่สุด หรือทุกนาทีด้วยซ้ำ ไม่อยากขยายเวลาเป็นชั่วโมง ๆ หรือนาทีเพื่อจะทำอะไรบางอย่าง ส่ิงที่ผมพบก็คือว่าการขยายเวลาให้มากที่สุดยิ่งทำให้คุณภาพแต่ละชั่วโมงลดลงไปด้วย”

ปี 2013 Twitter เข้าตลาดหุ้น เขากลายเป็นเศรษฐีพันล้าน 2 ปีต่อมา Square เข้าตลาดหุ้น มูลค่าสูงถึง 2,900 ล้านเหรียญ

ดอร์ซีย์ไม่เคยหยุดที่จะพยายาม ทำนู่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา ไอเดียอาจจะไม่ได้กลายเป็นความจริงภายในทันที บางทีอาจจะมาจากสิ่งที่เขาเลือกทำในเวลานั้น ๆ หลายคนอาจจะไม่ได้เก่งเรื่องการทำงานหลายอย่างพร้อมกันเหมือนอย่างดอร์ซีย์ แต่สิ่งที่ทำได้คือคอยหาโอกาสใหม่ ไอเดียใหม่ และท้าทายกับสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่

เลือกว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง

“แต่ละวันของผมนั้นจะมีธีมเป็นของตัวเอง วันจันทร์เป็นเรื่องบริหารจัดการ วันอังคารเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ วิศวกรรมและออกแบบ วันพุธเป็นเรื่องการตลาด การขยายธุรกิจ และการสื่อสาร วันพฤหัสบดีเป็นเรื่องพาร์ตเนอร์และฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ วันศุกร์เป็นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรและบริษัท มันเป็นบล็อกอย่างละ 24 ชั่วโมง ในวันที่ชื่อเริ่มต้นด้วยตัว T ผมทำงานของ Twitter ในตอนเช้า ตอนบ่ายทำของ Square ทุกวันอาทิตย์เป็นวันวางกลยุทธ์และสัมภาษณ์งาน ส่วนวันเสาร์เป็นวันหยุด”

การแบ่งวันออกเป็นธีมแบบนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับซีอีโอที่มีชื่อเสียงในซิลิคอนวัลเลย์ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ก็เป็นหนึ่งในนั้น วันจันทร์จะใช้สำหรับการประชุมทีมระดับผู้บริหาร วันพุธเป็นเรื่องการโฆษณาและการตลาด ส่วนตอนบ่ายก็จะใช้กับการออกแบบกับ จอนนี ไอฟฟ์ (Jony Ive) ซึ่งการแบ่งงานออกเป็นตีมแบบนี้จะเหมาะกับคนที่หน้าที่รับผิดชอบหลายหน้า และถ้าจะทำทุกอย่างไว้ในวันเดียวเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ต้องเผชิญอยู่แล้ว เมื่อเรารู้ว่าวันนี้คือวันที่ต้องทำงานอะไร มันจะช่วยทำให้โฟกัสได้ง่ายขึ้น รายงานไหนที่ต้องอ่าน ข้อมูลไหนที่ต้องเตรียม

สร้างกิจวัตรประจำวันสำหรับก่อนและหลังวันทำงาน

การแบ่งธีมเป็นของวันออกเป็นงานแต่ละประเภทนั้นเป็นเรื่องที่มีประสิทธิภาพ แล้วเราทำอะไรก่อนและหลังวันทำงานล่ะ? การมีกิจวัตรประจำวันก่อนแหละหลังการทำงานจะช่วยทำให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

สำหรับดอร์ซีย์แล้วทุกวันตอนเช้าเขาจะตื่นทุกวันเวลา 6 โมงเช้ากัน นั่งสมาธิประมาณ 1 ชั่วโมง ออกกำลังกายต่ออีกประมาณ 7 นาที เข้าอบซาวน่าอีก 20 นาที แล้ววันไหนที่เขาต้องไปทำงานที่ออฟฟิศเขาก็จะเดินไป ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที ส่วนวันอังคาร/พฤหัสบดี จะทำงานจากบ้าน

ตอนเย็นเขานอนประมาณห้าทุ่ม ก่อนหน้านั้นจะนั่งสมาธิอีกหนึ่งชั่วโมง รับประทานอาหารเย็น ซึ่งเป็นมื้อเดียวของเขาในแต่ละวัน

อย่าไปฟังเสียงวิจารณ์มากนัก

ดอร์ซีย์ถูกจัดลำดับเป็นซีอีโอที่แย่ที่สุดสองปีซ้อนของอเมริกาในระหว่าง 2016-2017 ส่วนใหญ่แล้วคนจะวิจารณ์ว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัวของตัวเองและงานอดิเรกมากกว่าการพยายามทำให้บริษัทเติบโต นักลงทุนหลายคนคาดหวังอยากได้ผลตอบแทนที่มากกว่านี้ใน Twitter และแน่นอนว่าแพะรับบาปก็เป็นดอร์ซีย์ไม่มีใครอื่น

อีกเรื่องคือเรื่องที่ดอร์ซีย์นั้นต้องแบ่งเวลาระหว่าง Square และ Twitter ก็ทำให้หุ้นส่วนหลายคนก็ไม่ค่อยพอใจ ดูเหมือนดอร์ซีย์ไม่โฟกัสแบบจริงจังกับอย่างใดอย่างหนึ่ง ในมุมของพวกเขามันใช้เวลาค่อนข้างเยอะ

แน่นอนว่าเหตุผลอาจจะเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ การแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น เรื่องความเป็นส่วนตัวที่ผู้ใช้งานใส่ใจมากขึ้น และอื่น ๆ อีกหลายร้อยเหตุผลที่นอกเหนือการควบคุมดูแลของดอร์ซีย์เพียงคนเดียว จริงอยู่ว่ามันเป็นหน้าที่ของซีอีโอและทีมที่จะต้องทำให้ดีที่สุด และไม่ว่าทำอะไรก็ดูเหมือนไม่เพียงพอในสายตาของคนอื่น

แต่ปฎิเสธไม่ได้หรอกว่าสิ่งที่ดอร์ซีย์ทำนั้นมีคุณค่าและสร้างผลตอบแทนที่ดีไม่น้อย มูลค่าทรัพย์สินของเขาในตอนนี้อยู่ที่ราว 14,000 ล้านเหรียญ ส่วนหุ้นของ Twitter และ Square ก็เติบโตได้ดี ถึงแม้ว่าเขาอาจจะดูเหมือนไม่อยู่กับที่ ต้องแบ่งตัวเองไปทำงานหลายอย่าง อาจจะนั่งสมาธิเยอะเกินไป เล่นโยคะมากกว่าเกิน หรือใช้เวลาอบซาวน่ามากเกินไปในมุมของนักลงทุน แต่แค่ภายใน 10 ปีที่ผ่านมาเขาได้สร้างสิ่งที่น่าเหลือเชื่อ นั่นก็คือนำบริษัททั้งสองให้ประสบความสำเร็จได้ สิ่งที่เขาทำก็คงมีส่วนถูกมากกว่าส่วนผิด วันที่ 7 เมษายน 2020 เขาได้บริจาคหุ้นของ Square มูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญเพื่อช่วยในสถานการณ์โควิด-19 เรื่องของรายได้ขั้นต่ำ และสนับสนุนสุขภาพและการศึกษาของเด็กผู้หญิงอีกด้วย

และถ้าเขามัวแต่กังวลกับเสียงวิจารณ์ของคนรอบข้างหรือนักลงทุน เขาก็คงยังไม่มาจนถึงจุดนี้

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3

อ้างอิง 4 อ้างอิง 5

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส