การทำงานเป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนเมื่อเติบโตถึงจุดหนึ่งจะต้องทำอะไรสักอย่าง บางคนอาจจะโชคดีหน่อยได้ทำงานที่ตัวเองรักและได้สร้างรายได้ในเวลาเดียวกัน บางคนอาจจะทำ ๆ ไปเพียงเพื่อให้มีเงินสำหรับซื้ออาหารเลี้ยงครอบครัวได้
ทุกวันนี้เราเห็นคนบ่นเรื่องของการนั่งที่ออฟฟิศเป็นเวลานานหรือการทำงานที่ซ้ำซากจำเจหลายชั่วโมงต่อวันเพื่อแลกรายได้เพียงน้อยนิดแถมเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าก็ไม่ได้เอาใจใส่ความเป็นอยู่ของพวกเขามากมาย
แต่ถ้าเทียบกับงานที่มีในสมัยก่อนนั้น สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่นี่ การนั่งในออฟฟิศทำงานแปดโมงถึงห้าโมง อาจจะเปรียบเป็นงานในฝันเลยก็ว่าได้ แน่นอนว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของเราก็ดีขึ้นตามลำดับ มันอาจจะเปรียบกันไม่ได้โดยตรง แต่การมองย้อนกลับไปยังสิ่งที่เคยเกิดขึ้นก็จะทำให้เราเห็นว่ามันเป็นโชคดีของเรามากเช่นกันที่งานแย่ ๆ สมัยนี้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
อาชีพที่จะพูดถึงต่อไปนี้เป็น 7 อาชีพที่ “เคย” มีอยู่จริงในอดีต เป็นงานที่น่าเหลือเชื่อว่ามีคนทำในช่วงเวลาหนึ่งและก็เป็นเรื่องดีแล้วที่มันหายไป
1. Sin Eater (นักเขมือบบาป)
ในอังกฤษ, เวลส์ และ สก็อตแลนด์ ในช่วงยุคศตวรรษที่ 18 -19 จะมีบุคคลหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็น Sin Eater ของแต่ละหมู่บ้านอยู่ โดยหน้าที่ของพวกเขาคือการรักษาทางจิตวิญญาณ (Spiritual Healer) ผ่านพิธีกรรมอันแปลกประหลาด
ครอบครัวของคนที่กำลังจะตายหรือเพิ่งตาย จะจ้างนักเขมือบบาปมาเพื่อทำพิธี พวกเขาจะเอาขนมปังมาก้อนหนึ่งเพื่อเป็นฟองน้ำในการดูดซับบาปต่าง ๆ ของผู้ที่ล่วงลับ หลังจากทำพิธีกรรมเสร็จขนมปังก้อนนั้นก็กลายเป็นขนมปังที่เต็มไปด้วยบาป แล้วคนที่ถูกจ้างมาก็จะกินมันเข้าไปเพื่อปลดปล่อยบาปทั้งหมดของคนที่จากไป และรับบาปทั้งหมดไว้กับตัวเอง ตลอดพิธีกรรมครอบครัวจะนั่งอธิษฐานและดื่มกินกันไปด้วย
ความเชื่อคือคนที่ตายก็จะได้ไปสวรรค์ ส่วนนักเขมือบบาปก็จะตกนรกขุมต่ำสุดเพราะกินบาปของคนจำนวนมหาศาลเอาไว้ เขาจะโดนดูถูกจากคนทั้งหมู่บ้าน โดนรังเกียจและเกลียดชัง โดยแต่ละครั้งเขาจะได้เงินประมาณ 2 เหรียญ หรือ 60 บาทเท่านั้นเมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน
2. Vomit Collector (นักเก็บกวาดอาเจียน)
วัฒนธรรมการกินดื่มและความเป็นอยู่ของชาวโรมันผู้ร่ำรวยนั้นเป็นที่รู้กันดีว่ามันหรูหราใหญ่โตมากขนาดไหน เวลามีงานเลี้ยงฉลองแต่ละครั้งก็เหมือนการดื่มด่ำเหล้ายาแบบมาราธอนทั้งวันทั้งคืน แล้วพวกเขาทำยังไงถึงจะดื่มจะกินได้ทั้งวันทั้งคืนล่ะ? พวกเขาก็อาเจียนออกมาครับแล้วก็กลับไปสนุกสนานเริงร่าต่อ
เซเนกา (Seneca) นักปรัชญาชาวสโตอิกที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ในงานเขียนของเขาว่า “ชาวโรมันไม่อายเลยที่จะอาเจียนออกมา” และ “พวกเขาจะอาเจียน แล้วก็ไปดื่มกินต่อ แล้วก็อาเจียนอีกครั้ง”
ซึ่งแน่นอนว่าจะเหมารวมว่าชาวโรมันทุกคนเป็นแบบนี้ก็คงไม่ใช่ แต่อาจจะเป็นกลุ่มคนที่เซเนกาได้เจอที่ร่ำรวยอำนาจเงินทอง อยู่ในบ้านหลังใหญ่โตที่เต็มไปด้วยทาสมากมาย
ในงานปาร์ตี้เหล่านี้คนที่มาร่วมงานก็จะดื่มกินกันอย่างอิ่มหนำ ไม่ลุกไปจากโต๊ะเลยด้วยซ้ำ เวลาจะอาเจียนก็จะมีโถเพื่อเก็บโดยเฉพาะ บางคนไม่ทันอาจจะลงพื้นเลย และเหล่าทาสที่ทำงานเป็นนักเก็บกวาดอาเจียนก็จะเข้ามาคอยทำหน้าที่ เก็บไปทิ้ง คลานทำความสะอาดบนพื้นบ้าง ซึ่งค่าจ้างก็คงไม่ได้ เพราะเหล่าทาสที่ต้องทำตามที่เจ้านายสั่งทุกอย่าง
3. Groom of The Stool (ผู้เช็ดล้างส่วนพระองค์)
ในช่วงยุคกลางของอังกฤษนั้นพระราชาถูกยกเอาไว้บนหิ้งเหนือกว่าบุคคลทั่วไปในทุกด้าน แม้กระทั่งการทำความสะอาดร่างกายของตนเองก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำด้วยตัวเอง พระเจ้าเฮนรีที่ 8 (King Henry Tudor) ก็เอาแนวคิดนี้มาสร้างเป็นอาชีพหนึ่งชื่อว่า “Groom of The Stool” ซึ่งทำหน้าที่เช็ดอุจจาระเช็ดปัสสาวะทำความสะอาดส่วนพระองค์นั่นเอง
เมื่อไหร่ก็ตามที่พระราชาไปเข้าห้องน้ำก็จะมายืนรอเช็ด ไม่ว่าจะออกไปล่าสัตว์ เดินเล่น คนที่ทำอาชีพนี้จะติดตามไปด้วยเสมอ จะแบกเก้าอี้นั่งอึ ถังน้ำ ผ้าเช็ด อ่างล้างมือ ไปด้วยตลอดเวลา
มันเหมือนงานที่ดูไม่ค่อยมีเกียรติแต่อันที่จริงสมัยนั้นมีคนต้องการทำหน้าที่นี้เยอะอยู่ เพราะได้ใกล้ชิดกับพระราชาและเหล่าลูกชายของพวกขุนนางต่าง ๆ ก็แย่งกันทำงานนี้ด้วย เพราะครอบครัวจะได้ที่ดิน ตำแหน่ง และสิทธิพิเศษต่าง ๆ กลับมาด้วย
แต่สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ก็ยกเลิกตำแหน่งงานนี้ไปในปี 1901
4. Treadwheel Operator (คนงานหมุนล้อยกของ)
ถึงตอนนี้เราเห็นเหล่าวิหาร ปราสาท หรือสิ่งก่อสร้างจากยุคกลางของยุโรป เรามักประทับใจในความสวยงามและมหัศจรรย์ของมันอยู่เสมอ แต่เราเคยคิดไหมว่าในสมัยนั้นที่ไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่สามารถทำได้เหมือนตอนนี้ พวกเขาสร้างมันขึ้นมาได้ยังไงกัน
มันมีหลายทฤษฎีแต่ว่ามีหลักฐานชิ้นหนึ่งที่บ่งบอกว่าวิธีที่คนสมัยนั้นใช้คือให้คนเข้าไปวิ่งบนกงล้อขนาดใหญ่ (เหมือนหนูแฮมสเตอร์) เพื่อหมุนฟันเฟืองให้ดึงหินก้อนใหญ่ ๆ หรืออุปกรณ์ก่อสร้างขึ้นมาบนที่สูง ๆ ของอาคารที่กำลังก่อสร้างนั้นเอง เจ้าอุปกรณ์ชิ้นนั้นมีชื่อว่า ‘Treadwheel’
ให้ลองนึกภาพรถเครนที่มีแขนยื่นออกไป ส่วนตัวที่ขับเคลื่อนรอกที่ดึงของขึ้นลงจะขับเคลื่อนด้วยแรงงานมนุษย์ที่วิ่งอยู่ข้างในตลอดทั้งวันนั้นเอง มันอาจจะฟังดูไม่แย่เท่าไหร่นะ…ถ้าคนที่วิ่งในนั้นไม่ใช่คนตาบอด
ด้วยความที่เจ้า Treadwheel ไร้ซึ่งความปลอดภัย บางทีรับน้ำหนักไม่ไหว หักมาก็ตาย ยิ่งขึ้นไปอยู่ที่สูง ๆ ยิ่งไม่มีใครอยากทำหน้าที่ตรงนี้ โครงสร้างของมันแม้จะถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ยุคโรมัน แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยอยู่ดี พวกเขาเลยใช้คนตาบอดมาทำหน้าที่นี้แทน เพราะคนตาบอดมองไม่เห็นว่าตัวเองอยู่ที่ไหน วิ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว
5. Match Girl (สาวน้อยไม้ขีดไฟ)
อาชีพผลิตไม้ขีดไฟอาจจะฟังดูไม่แย่เท่าไหร่ แต่สภาพแวดล้อมและสารเคมีที่ใช้ผลิตนั้นทำให้อาชีพของเด็กสาวเหล่านั้นเป็นเรื่องที่โหดร้ายเหมือนกับหนังสยองขวัญเลยทีเดียว
ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษไม้ขีดไฟถูกผลิตขึ้นมาโดยเด็กผู้หญิงอายุ 4-16 ปี ทำงานกันวันละ 12-16 ชั่วโมง ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำและสภาพแวดล้อมในการทำงานก็แย่มาก ขั้นตอนการผลิตคือการจุ่มไม้ขีดสั้น ๆ ลงในฟอสฟอรัสขาวทีละอัน ๆ ถึงแม้ว่าร่างกายของเราจะมีฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบ แต่การสูดดมและเข้าไปผ่านทางเดินหายใจอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องที่อันตรายมาก โรงงานที่เด็ก ๆ เหล่านี้ทำงานก็ไม่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี และนั่นก็เป็นต้นเหตุของโรคชื่อว่า ‘Phossy Jaw’ ที่ทำให้กระดูกขากรรไกรผุกร่อนถูกกัดกิน มีอาการบวมและมีกลิ่นเหม็น
โรคนี้จะกระจายขึ้นสมองและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ วิธีการรักษาเดียวคือการผ่าตัดเอาขากรรไกรออก และถึงแม้ว่าจะเอาออกแล้วก็ไม่การันตีว่าจะรอด ส่วนคนที่รอดก็เสียโฉมไปตลอดกาล
ในปี 1888 หลังจากที่มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้มากมายและมีผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าวอีกจำนวนมาก มีการออกมาประท้วงกว่า 1,400 คน เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน หลังจากที่ตกลงกันได้การประท้วงก็จบลงไป แต่กว่าฟอสฟอรัสขาวจะถูกแบนก็ผ่านมาถึงช่วงต้นของศษวรรษที่ 20 แล้ว
6. Sewer-Hunter (นักล่าสมบัติในท่อน้ำทิ้ง)
เฮนรี เมย์ฮิว (Henry Mayhew) เขียนไว้ในหนังสือ ‘London Labour and the London Poor’ เกี่ยวกับช่วงเวลาที่เขาประสบกับกลุ่มคนที่อาศัยในสลัมยากจนของลอนดอนในช่วงที่ลอนดอนกำลังเติบโต จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและอุตสาหกรรมมากมายกำลังรุ่งเรือง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นคนรวยกับคนจนที่แตกต่างมาก จนเกิดมีอาชีพที่เรียกว่า ‘Sewer-Hunter’ หรือนักล่าหาสมบัติตามท่อระบายน้ำ
คนที่ทำอาชีพนี้จะลงไปยังท่อระบายน้ำพร้อมโคมไฟหนึ่งอันช่วงคืนน้ำลด หลังจากนั้นก็เดินไปตามท่อน้ำทิ้งเรื่อย ๆ เพื่อหาของมีค่าที่ไหลตามท่อข้างบนลงมา เป็นอะไรก็ตามที่พอจะเอาไปขายได้ อย่างเช่นช้อนส้อม เงินเหรียญ กระดุม เครื่องเงิน มีดหั่นผัก ฯลฯ
ที่แปลกก็คือว่าอาชีพนี้พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ ถือว่าดีกว่าคนทั่วไปที่ทำได้ในแต่ละวัน แต่สุดท้ายในปี 1840 อาชีพนี้ก็ถูกจัดว่าเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย จะถูกปรับถ้าลงไปในท่อระบายน้ำโดยไม่รับอนุญาต แถมให้รางวัลกับคนให้เบาะแสอีกด้วย แต่ด้วยรายได้และความจำเป็น อาชีพนี้ก็ยังมีคนทำอยู่ แม้จะอันตรายกว่าเดิม แถมยังเสี่ยงติดโรคถ้าโดนหนูท่อน้ำทิ้งกัดอีกด้วย
7. Rat-Catcher of the Sewers (นักจับหนูแห่งท่อน้ำทิ้ง)
สุขอนามัยของชาวอังกฤษยุควิกตอเรียนนั้นไม่ได้ดีมากอะไรนัก แต่สิ่งที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมคือหนูที่อยู่ตามท่อน้ำทิ้งที่แพร่กระจายโรคระบาดต่าง ๆ อย่างโรคห่าที่ทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมากในตอนนั้น เมื่อมีปัญหาก็ต้องมีคนพยายามหาโอกาสจากสิ่งที่เกิดขึ้น อาชีพนักจับหนูตามถนนและท่อน้ำทิ้งก็ถือกำเนิดขึ้น
พวกเขาจะเอาน้ำมันหอมระเหยจากใบไธม์มาทาบนมือแล้วก็ล้วงไปตามกองฟางหรือท่อน้ำเพื่อจับหนูด้วยมือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสในการโดนกัดจนแผลติดเชื้อและเสียชีวิตก็ไม่น้อยเลยทีเดียว
ชะตากรรมของหนูที่จับได้ก็จบไม่สวยงามเหมือนกัน มันจะถูกเอาไปใส่ในกรงเพื่อสู้กับหมาต่อสู้เพื่อความบันเทิงสำหรับคนที่มาดู หนูบางตัวก็จะถูกฆ่าในที่สาธารณะเพื่อแสดงศักยภาพของยาฆ่าหนูที่เหล่านักจับหนูทั้งหลายเอามาขายด้วย
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาชีพการงานที่เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าดูจากจุดที่เราอยู่ตรงนี้ก็ดูเหมือนว่าเป็นอะไรที่สุดโต่ง อันตราย และบางอันก็หดหู่หัวใจไม่น้อย แต่นั้นก็คือความจริงที่เกิดขึ้น ต่อไปในอนาคตเราอาจจะเห็นอาชีพอีกหลายอย่างที่ทำกันอยู่ตอนนี้ในมุมมองแบบเดียวกันก็เป็นได้ เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังคงมีอยู่ สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ และเทคโนโลยีของมนุษย์ยังคงเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านไปอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั้นก็หมายถึงหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยเช่นเดียวกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส