เมื่อเราพูดถึงคาแรกเตอร์ของ วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) เจ้าหนู มิกกี้ เมาส์ (Mickey Mouse) ถือเป็นคาแรกเตอร์ตัวแรก ๆ ที่ทุกคนมักจะนึกถึง มันเป็นตัวการ์ตูนที่เรียกได้ว่า “ทั้งโลกรู้จัก” ก็คงไม่ผิดนัก
แต่ที่จริงแล้วมันยังมีคาแรกเตอร์อีกตัวของดิสนีย์ชื่อ ‘Oswald the Lucky Rabbit’ ที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วง 1920’s ในยุคที่ภาพยนตร์เงียบยังเป็นกระแสหลักของธุรกิจภาพยนตร์อยู่ เบื้องหลังของเจ้ากระต่ายตัวนี้มีเรื่องราวที่น่าทึ่งของวอลต์ ดิสนีย์ กับการไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาและรับมือกับความผิดหวัง ด้วยการกลับมาพร้อมผลงานสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมอีกด้วย
ย้อนกลับไปในช่วงแรก ๆ ของดิสนีย์นั้น พวกเขายังเป็นสตูดิโอสตาร์ตอัปเล็ก ๆ เพราะฉะนั้นต้องพึ่งพาสตูดิโอและตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์ใหญ่ ๆ เพื่อทำให้ผลงานของพวกเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ด้วยความที่เป็นบริษัทเล็ก ๆ จึงไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก สตูดิโอและตัวแทนจำหน่ายจึงเป็นคนที่คอยตั้งข้อกำหนดของกฎและผลประโยชน์แทบทั้งหมด
ในปี 1927 ดิสนีย์ได้ร่วมงานกับสตูดิโอ Universal Pictures และบริษัทตัวแทนจำหน่ายชื่อ Winkler Pictures ในการทำการ์ตูนซีรีส์เรื่องใหม่ โดย Universal บอกว่าอยากได้ตัวคาแรกเตอร์เป็นกระต่ายสำหรับงานนี้
วอลต์ ดิสนีย์ เลยให้ อับ โอเวิกส์ (Ub Iwerks) เพื่อนสนิทและศิลปินวาดภาพการ์ตูนที่เชี่ยวชาญออกแบบและวาดเจ้ากระต่ายหูยาวชื่อ ‘ออสวาลด์’ (Oswald) ขึ้นมา
กลายเป็นว่ากระต่ายตัวนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก วอลต์ ดิสนีย์ เลยพยายามเจรจาขอเพิ่มค่าจ้างกับกำไรส่วนแบ่งกับ ชาร์ลี มินซ์ (Charles Mintz) เจ้าของบริษัท Winkler Pictures แต่ถูกปฏิเสธกลับมา
แถมไม่พอ ตอนที่ต่อสัญญาในปี 1928 มินซ์บอกกับดิสนีย์ว่าจะตัดส่วนแบ่งลงไปอีก เขาบอกว่า
“เอาไปแค่นี้แหละ ไม่งั้นก็เตรียมตัวเจ๊ง เพราะเราเอาเซ็นศิลปินเก่ง ๆ ของนายมาหมดแล้ว”
ไม่ใช่แค่ศิลปินเท่านั้นที่มินซ์เอาไป แต่คาแรกเตอร์ที่ได้รับความนิยมอย่าง ‘Oswald’ ก็ถูกรวบไปด้วย ในสัญญาที่ดิสนีย์เซ็นในตอนแรกมีเงื่อนไขซ่อนไว้ว่าตัวละคร ‘Oswald’ ตามกฎหมายแล้วจะกลายเป็นของ Universal Pictures โดยดิสนีย์ไม่รู้เรื่องนี้เลยจนภายหลัง
มินซ์ให้ทางเลือกกับดิสนีย์ว่าจะอยู่ภายใต้บริษัท Winkler Pictures หรือหยุดทุกอย่างแล้วไปเริ่มใหม่ทั้งหมด
ดิสนีย์ตัดสินใจเลือกอย่างหลัง
การสูญเสียคาแรกเตอร์ที่โด่งดังและเพื่อนร่วมงานของเขาไปเกือบหมดเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและผิดหวัง แต่เขาไม่ยอมแพ้แค่นี้ เขาโทรหา รอย ดิสนีย์ (Roy O. Disney) พี่ชายที่เป็นหุ้นส่วนในบริษัทแล้วบอกข่าวร้ายให้ฟัง
“เชิดหน้าเข้าไว้นะรอย เราจะหัวเราะเป็นคนสุดท้าย และมันจะเป็นการหัวเราะที่เยี่ยมที่สุดเลย”
จังหวะนั้นที่เขาสูญเสียแทบทุกอย่างที่ทำมา อนาคตไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาไม่เลือกที่จะฟ้องร้องทางกฏหมายต่อสู้กับมินซ์ หางานใหม่ หรือเสียเวลาบ่นเรื่องที่เกิดขึ้น สิ่งทราบดีว่าสิ่งที่เขามีคือจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และนั้นคืออาวุธที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่เขาสามารถใช้ได้ เขายังมีโอเวิกส์อยู่ด้วยและไอเดียในหัวก็ไม่มีใครขโมยจากเขาไปได้
ระหว่างที่นั่งรถไฟจากนิวยอร์ก (ที่บริษัท Winkler Pictures ตั้งอยู่) ไปลอสแอนเจลิส ดิสนีย์ก็นั่งคิดถึงตัวคาแรกเตอร์ใหม่ที่จะมาแทนเจ้ากระต่ายตัวนั้น จนออกมาเป็นตัวละครหนูตัวหนึ่ง ภรรยาของเขาเสนอชื่อ ‘Mickey Mouse’ หลังจากนั้นโอเวิกส์ก็ลองวาดภาพตามจินตนาการของดิสนีย์ออกมา
นอกจากความแตกต่างของรูปร่างหน้าตาของตัวคาแรกเตอร์แล้ว ดิสนีย์ต้องทำให้ มิกกี้ เมาส์ นั้นฉีกออกไปจากความคุ้นเคยเดิม ๆ ด้วย สิ่งที่เขาตอนนั้นคือการทำให้ มิกกี้ เมาส์ ‘พูดได้’
มันอาจจะฟังดูไม่ได้แปลกใหม่อะไรถ้าเทียบกับตอนนี้ แต่ในสมัยนั้นที่ภาพยนตร์เงียบถือเป็นมาตรฐาน ตัวการ์ตูนหนูที่พูดได้ถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายและสร้างความฮือฮาได้เป็นอย่างมาก เป็นการเปิดโลกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปสู่อีกยุคหนึ่งเลยก็ว่าได้
ดิสนีย์วาดภาพในหัวว่าจะเป็นการ์ตูนที่มีทั้งเพลง เสียงดนตรีประกอบ และบทพูดที่ทำงานร่วมกันไปพร้อม ๆ กับภาพเคลื่อนไหว เพื่อสื่อสารและให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมให้มากที่สุด
มิกกี้ เมาส์ เปิดให้ชมครั้งแรกในวันที่ 18 พฤศจิกายน 1928 เพียงแค่ 8 เดือนหลังจากที่เขาเสียคาแรกเตอร์กระต่ายตัวนั้นไป เมื่อฉายจบผู้ชมยืนปรบมือกันทั้งโรงเลยทีเดียว
วอลต์ ดิสนีย์กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการการ์ตูนแทบจะทันที รายได้และชื่อเสียงที่ได้กลับมานั้นทำให้เขาสร้างสรรค์งานที่แสนวิเศษออกมาอีกหลายต่อหลายชิ้นจนประสบความสำเร็จอย่างมากมาจนถึงทุกวันนี้
เรื่องราวของเขานั้นเป็นบทเรียนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา เราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้เวลาและพละกำลังเข้าปะทะเพื่อแตกหักกันไปข้างหนึ่งโดยไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น หรือจะสู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์และวิธีการที่เราควบคุมสถานการณ์ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราทั้งสิ้น
ในมุมหนึ่งก็ต้องขอบคุณที่ปัญหาเกิดขึ้นกับดิสนีย์ เพราะถ้าเขาตกลงมินซ์เรื่องอัตราส่วนแบ่งได้ ตัวละครหนูน่ารักอย่าง มิกกี้ เมาส์ อาจจะไม่มีวันเกิดขึ้น ซึ่งถ้าสะท้อนกลับมาดูในชีวิตของเราก็คล้ายกัน ปัญหาทั้งเล็กทั้งใหญ่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แม้ว่าเราทุกคนจะไม่ได้สร้าง ‘มิกกี้ เมาส์’ ที่โด่งดังระดับโลกทุกครั้งที่เผชิญกับเรื่องแย่ ๆ แต่ทุกครั้งที่เราเจอปัญหาและเลือกที่จะใช้สติเข้าแก้ไข เราจะกลับมาเข้มแข็งขึ้นและมีโอกาสได้หัวเราะเป็นคนสุดท้าย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส