ตอนที่เรายังเด็กทุกคนต่างมีความฝันที่อยากเป็นอะไรสักอย่างเมื่อโตขึ้น แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เรียนจบมหาวิทยาลัย เริ่มทำงานไปได้สักพักก็จะเริ่มตระหนักแล้วว่าความฝันในการเป็นร็อกสตาร์หรือนักบินอวกาศนั้นอาจจะไม่มีโอกาสเป็นจริงได้อีกต่อไป หรือบางคนอาจจะไม่เคยมีความฝันเลย เรียนจบมาทำงานเป็น 10 ปีโดยไม่รู้เลยว่าตัวเองอยากทำอะไรในชีวิต
หลายคนอาจบอกว่า “จะไปสนใจทำไมว่าอยากเป็นอะไร” ทำอะไรก็ได้ขอแค่มันจ่ายค่าน้ำค่าไฟค่ามือถือ มีเงินเหลือกินเหลือเก็บตอนแก่ตัวก็พอแล้ว แต่ในงานวิจัยมากมายที่บอกว่าสุดท้ายเมื่อถึงวันที่สายเกินไปแล้ว เราจะรู้สึกเสียใจกับ ‘สิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำ’ มากที่สุด
แล้วมีวิธีไหนบ้างที่สามารถเคลียร์เมฆหมอกแห่งความสับสน ทำให้เราเห็นว่าเส้นทางไหนที่เราควรเดินต่อไปข้างหน้า ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) หนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกและผู้ก่อตั้งสายการบิน Virgin และ ผู้ก่อตั้งบริษัท Virgin Galactic (บริษัทในอุตสาหกรรมการบินท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ที่เพิ่งพาเขาและทีมขึ้นเครื่องบินจรวดแตะขอบอวกาศสัมผัสประสบการณ์ไร้แรงโน้มถ่วงได้สำเร็จเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา) ได้แชร์วิธีแก้ไขปัญหานี้ไว้ในบล็อกของเขา มันเป็นขั้นตอนการตั้งคำถามง่าย ๆ แต่ทรงพลังเป็นอย่างมาก
คำถามที่ 1 : ฉันรักในสิ่งไหน? (What do I love?)
ลองลิสต์ออกมาดูว่ามีอะไรบ้างที่เราหลงใหล ที่เรารัก ที่เราสามารถใช้เวลากับมันได้ทั้งวัน สิ่งที่ทำให้เราสนใจ มันอาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ไปจนเป็นอะไรที่ซับซ้อนหรือมั่ว ๆ เลยก็ได้ เมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาแล้วก็ลองเอามาวางดูว่าตอนนี้มีอะไรบ้างที่สามารถสร้างออกมาให้เป็นธุรกิจหรือกลายเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ได้บ้าง บางอย่างที่เราชอบอาจจะอยู่ในเทรนด์ที่กำลังมา หรือเป็นอะไรที่สามารถเอามาปรับใช้กับธุรกิจที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ยกตัวอย่างตอนที่ เจฟฟ์ เบโซส ลาออกจากงานประจำที่มั่นคง เพื่อมาเปิด Amazon ร้านขายหนังสือออนไลน์เพราะเขารู้สึกตื่นเต้นกับการเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและอยากรู้ว่ามันจะเติบโตไปทางไหน เขาบอกว่าไม่อยากอายุ 80 แล้วมีคำถามในหัวว่า “ถ้าเกิดว่าวันนั้นฉัน…” แล้วเสียใจที่ไม่ได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการตอนที่มีโอกาส
คำถามที่ 2 : อะไรกันที่ฉันไม่ชอบเลย? (What do I dislike?)
สำหรับคนที่ทำธุรกิจหรือวิ่งตามความฝันแล้ว ความรู้สึกไม่ชอบก็เป็นพลังงานขับเคลื่อนที่ทรงพลังเช่นเดียวกัน มันเป็นบ่อเกิดของไอเดียต่าง ๆ มากมาย สิ่งที่กวนใจเรา สิ่งที่เป็นปัญหากับชีวิต และถ้ามันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากพอ มันอาจจะเป็นฐานของไอเดียธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ แบรนสันบอกว่า “ธุรกิจในกลุ่มของบริษัท Virgin ที่จริงถูกจุดประกายขึ้นจากความรู้สึกโกรธเคืองของพนักงานที่บริษัทอื่นทำงานได้ไม่ดีพอ”
ยกตัวอย่างสตาร์ตอัป Square ของ แจ็ก ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) ที่ไอเดียมาจากตอนที่เขาอยากขายของแต่คนซื้อมีแต่บัตรเครดิต และเขาก็รับบัตรเครดิตไม่ได้ ซึ่ง Square ก็เข้ามาแก้ไขปัญหาข้อนี้
ทั้งสองคำถามเป็นคำถามที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน และไม่ได้บอกหรอกว่าปลายทางชีวิตจะเป็นยังไง แต่สิ่งที่สองคำถามนี้จะช่วยก็คือการทำให้เราเห็นทางข้างหน้าที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ช่วยให้หลุดพ้นออกจากจังหวะที่ไม่แน่ใจว่าต้องเดินไปยังไงต่อ เวลาที่ติดหล่มในชีวิต หันหน้าไปทางไหนก็รู้สึกมีแต่ความไม่ชัดเจน การตอบคำถามเหล่านี้ออกมาจากใจจะช่วยเป็นเข็มทิศได้อย่างดี
สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้คือ ‘ทดลอง’ ทำในสิ่งเหล่านั้น สองคำถามด้านบนสร้างสมมุติฐานให้เรา ต่อจากนี้คือการลองดูว่าเส้นทางไหนจะเหมาะกับเรา แบรนสันบอกว่า “ต้องคิดให้เหมือนนักวิทยาศาสตร์และพิสูจน์ไอเดียเหล่านั้นด้วยการทดลอง”
บทเรียนจากสิ่งที่แบรนสันเขียนคือมันทำให้ปัญหาที่ดูยิ่งใหญ่แตกย่อยออกเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่เราพอจะทำได้ เหมือนกับการคิดให้เล็กลง โฟกัสไปยังสิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเวลานี้ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อลงมือทำแล้วปัญหาทุกอย่างจะมลายหายไป แต่เป็นการแงะออกมาทีละส่วนว่ามีตรงไหนที่เราลองทำให้มันดีขึ้นได้บ้าง
จริงอยู่ว่าตอนนี้การเป็นนักบินอวกาศ หรือดาราฮอลลีวูดอาจจะเอื้อมถึงได้ยากแล้ว แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องใช้ชีวิตอยู่ในเมฆหมอกแห่งความทุกข์ ทนทำงานแบบไม่มีความสุขเพียงแค่ให้มีกินมีใช้ไปวัน ๆ จนวันที่แก่ตัวไม่มีแรงลุกเดินแล้วมาตั้งคำถาม ‘ถ้าวันนั้นฉัน…’ ทุกอย่างก็จะสายเกินไปจริง ๆ แล้ว
ตลอดชีวิตการทำงานของเรา โดยเฉลี่ยแล้วเรามีเวลาทำงานเพียง 80,000 ชั่วโมง ซึ่งคิด ๆ ดูแล้วมันก็น่าเสียดายที่เวลาเหล่านั้นจะถูกใช้ไปกับสิ่งที่เราไม่มีความสุขเลย
หยิบกระดาษกับปากกาออกมา ลองตอบ 2 คำถามนี้ดู หลังจากนั้นก็ลงมือทำ มันอาจจะเป็น 2 คำถามที่เปลี่ยนเส้นทางการทำงานของคุณไปเลยก็ได้
เครดิตภาพ: REUTERS
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส