วันที่ 5 ตุลาคม 2020 บริษัท Apple ได้ปล่อยภาพยนตร์สารคดีรำลึกการจากไปครบ 10 ปีของบุคคลสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท (และของวงการเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้) อย่าง สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ออกมาให้ชม มันเป็นภาพยนตร์สั้นที่ทำให้เราได้เห็นถึงผลงานอันยิ่งใหญ่หลายต่อหลายชิ้นตลอด 40 ปีที่เขาทำธุรกิจมา ผลกระทบของสิ่งที่จอบส์มีต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แอนิเมชัน เพลง หรือสมาร์ตโฟน มันมากจนแทบจะเรียกได้ว่า เทคโนโลยีทุกอย่างที่เราใช้อยู่ตอนนี้ เขามีส่วนร่วมในการทำให้มันเข้าสู่ตลาดและกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน
ถ้าใครติดตามอ่านเรื่องราวของจอบส์จะรู้ดีว่ามีหนังสือชีวประวัติของเขาชื่อ ‘Steve Jobs’ โดยมันเป็นเล่มหนึ่งและเล่มเดียวที่จอบส์ขอให้ วอลเทอร์ ไอแซคสัน (Walter Isaacson) มาเขียนเล่า มีการสัมภาษณ์กว่า 40 ครั้ง และกับคนรอบตัวของจอบส์อีกเป็นร้อยคน ซึ่งในหนังสือเล่มนี้จอบส์บอกว่า เขาอยากให้ลูก ๆ ของเขารู้จักตัวเองมากขึ้นจากมุมมองที่มาจากเขาเอง ไม่ใช่คนอื่น อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวความเป็นมาของตัวเขาเอง ตั้งแต่ความเป็นมาของการก่อตั้งบริษัท Apple ในโรงรถกับ สตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) ไปจนถึงเบื้องหลังการกำเนิด iPhone และ iPad และเรื่องราวการต่อสู้กับโรคมะเร็งร้ายที่เป็นสาเหตุให้เขาเสียชีวิตในที่สุด ในหนังสือชีวประวัติเล่มหนานี้ มีเรื่องราวและบทเรียนอันมีค่าแฝงเอาไว้อยู่มากมาย ทั้งเรื่องราวธุรกิจสตาร์ตอัป การทำการตลาด ความคิดสร้างสรรค์ หน้าที่การงาน ไปจนถึงการใช้ชีวิตเลยทีเดียว
1. ลูกค้าไม่รู้หรอกว่าเขาต้องการอะไร จนกว่าเราจะแสดงให้เห็น
จอบส์เล่าถึงเหตุการณ์เปิดตัว Macintosh ในปี 1984 ที่มีนักข่าวถามเขาว่าได้ทำการสำรวจตลาดยังไง สิ่งที่เขาตอบกับนักข่าวคือ
“ตอนที่ อเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ประดิษฐ์โทรศัพท์เขาได้ทำการสำรวจตลาดไหม?”
นี่เป็นคาแรกเตอร์ของจอบส์ที่เราเคยได้ยินมาบ้างแล้ว เขาเป็นคนที่ดุดันและเชื่อมั่นในตนเอง เป็นคนที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและดื้ออยากทำให้สำเร็จ แถมยังเป็นคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบและมินิมอลลิสม์ด้วย
เขาจะโฟกัสไปยังดีไซน์ของสินค้าให้เหลือแค่สิ่งที่จำเป็น น้อยแต่มาก เอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกให้หมด ซึ่งเราก็เห็นแล้วในสินค้าและผลิตภัณฑ์แทบทุกอย่างที่เขาและบริษัททำนั้นเรียบง่าย แต่ทรงพลัง เต็มไปด้วยนวัตกรรมที่ดู “ไม่ยุ่งยาก” แต่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่สัมผัสอย่างมหาศาล มันเป็นลายเซ็นของ Apple ชนิดที่ว่าในคู่มือของ Mac รุ่นแรก ๆ นั้นจะมีคำกล่าวของ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ที่เขียนไว้ว่า “ความเรียบง่ายคือความลึกล้ำที่แท้จริง”
2. สร้างผลิตภัณฑ์ที่คุณอยากเห็น
ใครที่เกิดทันยุค iPod จะทราบดีว่าตอนที่เปิดตัวนั้นมันได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมาก มีแต่คนบอกว่าอยากได้มาใช้บ้าง ไม่เว้นแม้แต่พนักงานของบริษัทที่คลุกคลีอยู่กับมันทุก ๆ วัน เหมือนกันกับ iPhone ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกมากี่รุ่นคนก็ยังอยากได้เป็นเจ้าของ ซึ่งนั่นก็เป็นตัวชี้วัดที่ดีในการสร้างผลิตภัณฑ์บางอย่างขึ้นมา เราต้องสร้างสิ่งที่เราอยากเห็นและอยากใช้เอง
สร้างมันเพื่อทำให้ประสบการณ์การใช้งานของลูกค้านั้นเป็นที่น่าจดจำ ทำให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นของที่มีคุณค่าเมื่ออยู่ในมือของลูกค้า Apple ไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์อย่างเดียว พวกเขาขาย ‘ประสบการณ์’ ที่ช่วยให้ลูกค้าแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ดียิ่งขึ้น
เมื่อยกตัวอย่าง iPod ที่ตอนนั้นคนเจอปัญหากันอยู่ว่าจะจัดการและจัดเก็บเพลง MP3 กันยังไง Apple เลยมีสโลแกนที่ออกมาเขียนว่า “1000 เพลงในกระเป๋าของคุณ” ซึ่งมันชัดเจนเลยว่าสินค้าจะช่วยแก้ปัญหาอะไร เป็นประโยคที่ทั้งเรียบง่าย ชัดเจน และทรงพลังมาก
อีกเรื่องที่เราเห็นคือการวางสินค้าให้ลูกค้ามาหยิบจับเลยด้วยตัวเองในร้าน Apple Store คนที่เข้ามาคุยกับเราจะไม่ใช่พนักงานขาย แต่จะเป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องผลิตภัณฑ์และพร้อมตอบคำถามกับเราเมื่อเจอปัญหา ดังนั้นเราจึงเห็นว่าคนจะอยากเข้าไปที่ร้าน Apple อยู่ตลอด เพราะไปลองเล่นสินค้าเหล่านี้ได้ แม้จะยังไม่ซื้อ แต่พอได้เล่นได้ดู ความรู้สึกว่าอยากหาข้อมูลต่อและกลับมาอีกครั้งก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย
3. พัฒนาไปข้างหน้า ด้วยการลดสิ่งที่ไม่จำเป็น
โจนี ไอฟ์ (Jony Ive) ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายการออกแบบ (Chief Design Officer) เคยอธิบายเอาไว้ว่า “การจะทำให้เรียบง่ายจริง ๆ นั้น คุณต้องลงลึกอย่างมาก ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่นของสินค้าตัวนั้นเพื่อที่จะเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมด”
จอห์น สกัลลีย์ (John Sculley) อดีตซีอีโอของ Apple บอกว่า “สิ่งที่ทำให้หลักการของจอบส์ต่างจากคนอื่น ๆ คือการที่เขาเชื่อว่าการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ว่าคุณทำอะไร แต่เป็นสิ่งที่คุณตัดสินใจไม่ทำต่างหาก”
นั่นหมายถึงว่าบริษัทอย่าง Apple นั้นมีเงินมากมาย สามารถทำอะไรก็ได้ถ้าอยากทำ (ถ้าต้องการ) แต่พวกเขาก็เลือกที่จะโฟกัสไปที่สินค้าทีละตัวแล้วทำให้มันเด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น เน้นให้มันโดดเด่นและไม่พยายามทำทุกอย่าง
(อ่านต่ออีก 3 ข้อ หน้า 2 ได้เลย)
4. เรียนรู้ที่จะทำแค่ไม่กี่อย่าง แต่ทำออกมาให้ได้ดีมาก ๆ
การตัดสินใจที่ว่าจะไม่ทำอะไรสำคัญพอ ๆ กับการตัดสินใจว่าจะต้องทำอะไร
เราเห็นเรื่องราวของคนทำธุรกิจมากมายที่พยายามสร้างบริษัทเพื่อขอทุน ปั้นขึ้นมาขาย อาจจะเข้าตลาดหุ้นแล้วก็ได้เงินจบไปทำอย่างอื่นต่อ ที่จริงแล้วสำหรับจอบส์นั้นตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์คือสิ่งที่เขาหลงใหลและอยากทำมันออกมาให้ดี ซึ่งนั่นก็คือเป้าหมายหลัก ไม่ใช่ว่าจะทำ ๆ ออกมาขายให้ได้กำไรให้จบ ๆ ไปเท่านั้น จอบส์บอกว่า “เราทุกคนนั้นมีช่วงเวลาอันแสนสั้นบนโลกใบนี้ เราอาจจะมีโอกาสทำแค่ไม่กี่อย่างที่เยี่ยมและทำมันออกมาได้ดี” สิ่งคำคัญคือเลือกที่จะทำแค่ไม่กี่อย่าง แต่ทำมันให้ออกมาอย่างดีที่สุด
5. รู้จักวิธีการเล่าเรื่อง
เชื่อว่าทุกคนเคยอ่านหรือดูปาฐกถาของจอบส์กันบ้างแล้ว (ถ้าใครยังไม่เคย ตามลิงก์นี้ไปครับ
6. มองไปยังอนาคต
ตอนที่ออกแบบ iPhone จอบส์อยากได้หน้าจอที่เป็นกระจกไม่ใช่พลาสติกเหมือนกับที่มีในตลาดตอนนั้น เขาอยากได้กระจกที่มีความแข็งแรงและเป็นรอยได้ยาก เขาไปเจอกับ เวนเดล วีกส์ (Wendell Weeks) ที่ทำงานอยู่บริษัท Corning ผู้ผลิต Gorilla Glass ซึ่งจอบส์บอกว่าจะสั่งของเพื่อนำมาสร้าง iPhone ขอให้ส่งภายใน 6 เดือน แต่วีกส์บอกว่า Corning ไม่มีความสามารถในการผลิตเยอะขนาดนั้น แต่จอบส์กลับบอกเขาว่า “อย่าไปกังวล นายทำได้อยู่แล้ว ลองคิดให้ดี ๆ นายทำได้”
จอบส์เป็นคนที่หัวดื้อและในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการผลักดันให้คนรอบข้างมองไปข้างหน้า ไม่โฟกัสที่ปัญหาแต่ดูว่าพวกเขากำลังทำอะไร และจะไปถึงตรงนั้นได้ด้วยวิธีไหนมากกว่า
แม้เวลาล่วงเลยมาแล้วกว่า 10 ปี เรื่องราวของจอบส์ยังคงเป็นบทเรียนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่อ่านเรื่องราวของเขาได้เสมอ ตอนจบของปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จอบส์กล่าวประโยคหนึ่งให้เด็กรุ่นต่อ ๆ ไปเอาไว้ว่า “Stay Hungry, Stay Foolish” เพราะเวลาของเราทุกคนบนโลกนี้สักวันก็ต้องหมดลง เพราะฉะนั้นให้กระหายที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ เพื่อสร้างบางอย่างที่น่าจดจำเป็นของขวัญให้กับโลกใบนี้ และนั่นก็อาจจะเป็นบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่เขาอยากส่งต่อให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2
อ้างอิง 3 อ้างอิง 4
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส