ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของวงการเทคโนโลยีแต่มีข่าวพูดถึงเขาค่อนข้างน้อย (เมื่อเทียบกับอีลอน มัสก์, บิล เกตส์, มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก หรือเจฟฟ์ เบโซส) อาจจะด้วยนิสัยที่ค่อนข้างเก็บตัวจึงไม่ค่อยออกสื่อมากเท่าไหร่ ชายชาวอินเดียวัย 49 ปีคนนี้รับไม้ต่อในฐานะซีอีโอของ Google ต่อจากผู้ก่อตั้งและซีอีโอ แลร์รี เพจ (Larry Page)
ตอนที่พิชัยเดินทางมายังสหรัฐอเมริกาครั้งแรก ในปี 1995 เขาสอบได้ทุนเรียนปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Indian Institute of Technology Kharagpur (IIT) ในประเทศอินเดีย นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้ขึ้นเครื่องบินและค่าเดินทางนั้นเทียบเท่ากับเงินเดือนของพ่อที่ทำงานมาตลอดทั้งปีเลยทีเดียว
เขาเรียนจบสาขาวัสดุศาสตร์ ต่อด้วยวุฒิ MBA จากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตันในมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย หลังจากเรียนจบก็ไปทำงานที่บริษัทที่มีชื่อเสียงอย่าง McKinsey และเข้าสมัครงานที่ Google ในเวลาต่อมาด้วยความเชื่อที่ว่าอินเทอร์เน็ตเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะนำเทคโนโลยีเข้าถึงทุก ๆ คน วันที่ไปสัมภาษณ์งานเป็นวันที่ 1 เมษายน 2004 ซึ่งเป็นวันที่ Google เปิดตัวบริการ Gmail พอดี คนที่สัมภาษณ์ก็ถามพิชัยว่าคิดยังไงกับ Gmail บ้าง ซึ่งสำหรับพิชัยที่ไม่รู้จักบริการนี้มาก่อน เขาตอบผู้สัมภาษณ์ไปอย่างซื่อสัตย์เลยว่า “ไม่รู้จัก” และหลังจากนั้นคนสัมภาษณ์ก็เอาบริการนี้มาโชว์ให้เขาดูและเขาก็พยายามเข้าใจก่อนจะนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ เพื่อทำให้มันดียิ่งขึ้น หลังจากผ่านการสัมภาษณ์เขาก็กลายเป็นพนักงานของ Google ที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นมาโดยตลอดจนกระทั่งได้รับตำแหน่งซีอีโอในปี 2015
พิชัยเล่าเรื่องนี้ในการกล่าวปาฐกถาพิธีรับปริญญาออนไลน์ของคลาส 2020 ผ่านยูทูบ
แนวคิดแรกที่เขาบอกในการทำงานให้ประสบความสำเร็จคือ
1. Find Your Passion (หาแรงบันดาลใจของคุณให้เจอ)
“หาเวลาเพื่อที่จะหาสิ่งที่ทำให้คุณตื่นเต้นมากกว่าทุกอย่างในโลกใบนี้”
การตามหาแรงบันดาลใจนั้นต้องใช้ความกล้าหาญ การตามหาบางอย่างที่เรารักนั้นจะไม่เหมือนกับสิ่งที่พ่อแม่ เพื่อน หรือสังคมต้องการหรือคาดหวังจากเรา เขาเล่าว่าถ้าเขายังเรียนตามที่พ่อแม่ต้องการ ตอนนี้เขาอาจจะได้เป็นด็อกเตอร์ ซึ่งนั่นก็น่าจะทำให้พ่อแม่ของเขาภูมิใจอย่างมาก แต่มันก็ทำให้เขานั้นพลาดโอกาสในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและคนทั้งโลก และเขาก็คงไม่ได้มายืนในตำแหน่งซีอีโอของ Google อย่างแน่นอน
แรงบันดาลใจสำหรับพิชัยนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่แรงบันดาลใจสำหรับพิชัยนั้นเหมือนเป็นความเชื่อที่ยึดมั่น เป็นเรื่องที่ทำแล้วสามารถทำให้คนอื่นหรือโลกใบนี้เป็นโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม และนั่นก็นำมาซึ่งแนวคิดที่สองนั้นก็คือ
2. ไล่ตามแรงบันดาลใจด้วยมุมมองที่เปิดกว้าง
“Open mind” คือคำที่พิชัยเลือกใช้สำหรับแนวคิดนี้ เขารู้ดีว่าแรงบันดาลใจของเขาคือเทคโนโลยี แต่เขาก็ไม่ปิดกั้นว่าเทคโนโลยีจะพาเขาเดินไปทางไหนได้บ้าง ยกตัวอย่างหลังจากที่เรียนจบเขาไปทำงานให้กับบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) เพราะรู้สึกว่านี่อาจจะเป็นทางที่ทำให้เขาสามารถไปถึงสิ่งที่เขาต้องการได้
แต่พอทำไปได้สักพักใหญ่ ๆ แนวคิดของเขาก็เปลี่ยนไป เขาเริ่มเห็นแล้วว่าอินเทอร์เน็ตน่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงคนได้มากที่สุดและสร้างประโยชน์มากที่สุด เมื่อมุมมองตรงนี้เปลี่ยนเขาก็ต้องเปลี่ยนที่ทำงาน นั่นก็คือเหตุผลว่าทำไมเขาถึงไปสมัครงานที่ Google ก่อนที่จะเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มสร้างเบราว์เซอร์ Chrome ที่กลายมาเป็นเบราว์เซอร์ที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
“คุณจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นในทางของคุณเอง แม้จะไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง สิ่งที่สำคัญคือมีมุมมองที่กว้าง เปิดใจเพื่อหาสิ่งที่คุณรักให้เจอ”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส