ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาเรามักเห็นการปะทะคารมอันคมคายบนโลกออนไลน์ระหว่าง 2 ซีอีโอจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีอย่าง เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) และ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) อยู่เป็นประจำ

ทั้งคู่มักออกมาโต้แย้งกันถึงเรื่องความเห็นเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศ เพราะต่างก็เป็นเจ้าของธุรกิจเดินทางท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ด้วยกันทั้งคู่ มัสก์ทำ SpaceX ส่วน เบโซสทำ Blue Origin แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องอวกาศเพียงเท่านั้นที่ทั้งคู่ต้องเผชิญหน้ากัน มัสก์และเบโซสยังแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเผ็ดร้อนในการทำธุรกิจอื่น ๆ มัสก์เรียกเบโซสว่าเป็นพวกชอบเลียนแบบทั้งเรื่องโครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมและรถแท็กซี่ไร้คนขับ ส่วนเบโซสก็ออกมากระทบกระทั่งว่าเป้าหมายของมัสก์จะไปดาวอังคารนั้นช่าง “ไม่น่าดึงดูด” ด้วยเช่นกัน

ปฎิเสธไม่ได้หรอกว่าทั้งสองนั้นเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อวงการเทคโนโลยีและธุรกิจเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทุกครั้งที่มีการออกมาพูด ลงมือทำ หรือแค่ทวีต ก็สร้างเสียงฮือฮาและการถกเถียงในกลุ่มผู้ติดตามจำนวนหลายล้านคนได้อย่างกว้างขวาง ช่วงต้นปี 2021 เบโซสผู้ก่อตั้งบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่างแอมะซอน (Amazon) ถือเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่พอมาช่วงปลายปี 2021 ตำแหน่งนี้กลับกลายเป็นของมัสก์ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2021 และทำให้เบโซสกลับลงไปอยู่อันดับ 2 โดยช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเบโซสก็ออกมาทวีตเรื่องความสำเร็จของบริษัทแอมะซอน ซึ่งก็มีกลุ่มแฟน ๆ ออกมารีทวีตมากมาย แต่มัสก์ก็ป่วนอีก ส่งทวีตตอบกลับเป็นเหรียญเงินหมายเลข “2” กลับไปแทน เพื่อแสดงให้เห็นว่าตอนนี้เขาขึ้นเป็นที่หนึ่งเรียบร้อยแล้วนะ

เรื่องราวการแข่งขันของทั้งสองคนนี้เป็นทั้งสีสันความบันเทิงและสิ่งที่แสดงถึงนิสัยที่ไม่ยอมแพ้ของทั้งคู่ด้วย แต่เรื่องราวทั้งหมดมันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะความจริงพวกเขาเริ่มงัดข้อกันตั้งแต่ช่วงต้นของยุค 00’s แล้วด้วยซ้ำ

จุดเริ่มต้นของคู่ปรับตลอดกาล

ในช่วงต้นของยุค 00’s ตอนนั้นเบโซสยังไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ แอมะซอนของเขาก็เพิ่งผ่านพ้นวิกฤติดอตคอมมาหมาด ๆ หลังจากเข้าตลาดหุ้นในปี 1997 และอายุเพียงห้าขวบเท่านั้น ตอนนั้นยังไม่มีโปรแกรม Prime, บริการสตรีมมิงวีดีโอ หรือ บริการคลาวน์ Amazon Web Service ที่เราคุ้นเคยกันในตอนนี้เลย แต่ถ้าใครติดตามอ่านประวัติของเบโซสมาบ้างจะรู้ว่าตั้งแต่เป็นเด็กเขาสนใจเรื่องเกี่ยวกับอวกาศมาโดยตลอด เขาให้สัมภาษณ์ในวัย 18 ปีกับสื่อ Miami Herald ในปี 1982 ตอนที่จบมัธยมปลายในฐานะตัวแทนของรุ่นเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ว่า

“[เขาอยากจะ] สร้างโรงแรมในอวกาศ สวนสนุก และที่อยู่อาศัยสำหรับคนสัก 2-3 ล้านคนที่จะไปอยู่ในวงโคจรรอบโลก”

และด้วยความสนใจเรื่องการเดินทางและใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศของเขา Blue Origin จึงถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน ปี 2000 เป็นสตาร์ตอัปที่โฟกัสไปยังการพามนุษย์ไปใช้ชีวิตในอวกาศ

ในช่วงเวลานี้ มัสก์ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วไม่น้อย เป็นเศรษฐีและมีทรัพย์สินมากกว่าเบโซสแต่ยังไม่ได้ถือตำแหน่งซีอีโอของ Tesla มัสก์สร้างรายได้จากการขายบริษัท Zip2 สตาร์ตอัปซอฟต์แวร์คู่มือเมืองออนไลน์ให้กับบริษัทคอมพิวเตอร์เจ้าใหญ่ (ในเวลานั้น) อย่าง Compaq ไปถึง 300 ล้านเหรียญ และกำลังสร้าง PayPal ระบบจ่ายเงินออนไลน์ที่ภายหลังก็ขายให้กับ eBay ไปถึง 1,500 ล้านเหรียญด้วย

มัสก์ทำเงินได้ประมาณ 160 ล้านเหรียญจากการขาย PayPal และใช้เงินตรงนั้นเพื่อสร้าง SpaceX ในปี 2002 มัสก์กล่าวในการสัมภาษณ์กับ South by Southwest ในปี 2018 ว่า

“ตอนแรกผมไม่ให้เพื่อนมาลงทุนด้วยซ้ำ เพราะทุกคนจะขาดทุนหมด ผมคิดว่าผมควรจะเสียเงินของตัวเองมากกว่า”

และต่อจากนั้นไม่นานการเผชิญหน้ากันครั้งแรกระหว่างสองคนนี้ก็เกิดขึ้นระหว่างมื้อเย็นที่พวกเขาเจอกันในปี 2004 ที่ตอนนั้นทั้ง SpaceX หรือ Blue Origin ยังถือว่าอยู่ในวัยแบเบาะกันอยู่ ไม่ได้มีการสร้างจรวดหรือส่งคนไปยังนอกโลก ไม่ได้มีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเหมือนอย่างในตอนนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดทั้งคู่ที่มีนิสัยชอบการแข่งขันอยู่แล้วให้เริ่มปะทะคารมกัน จากรายละเอียดของหนังสือ ‘The Space Barons’ ของคริสเตียน ดาเวนพอร์ต (Christian Davenport) บอกว่าตอนที่ทั้งคู่ถูกถามเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการใช้จรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reusable Rockets) ก็เริ่มแสดงความเห็นที่แตกต่างกัน มัสก์กล่าวภายหลังว่า “เราพูดถึงเรื่องของการออกแบบจรวด ซึ่งทางเทคนิคแล้วมันชัดเจนมากเลยที่เขา [เบโซส] กำลังทำเรื่องที่ผิด” ซึ่งเหตุผลที่เขาพูดแบบนั้นเพราะว่า SpaceX ได้ลองทำมาแล้ว แต่มันไม่เวิร์ก เลยอยากแนะนำให้เบโซสไม่ต้องไปเสียเวลาตรงนั้น มัสก์กล่าวต่อว่า

“ผมพยายามจะให้คำแนะนำดี ๆ แต่เขาไม่สนใจเลย”

Pad 39A

ช่วงเวลาต่อจากนั้นต่างคนก็แยกย้ายกันไปมุ่งมั่นกับธุรกิจของตัวเอง ไม่มีการยุ่งเกี่ยวกัน จนกระทั่งในปี 2013 ที่ SpaceX พยายามจะถือครองสิทธิ์ในการใช้ฐานปล่อยจรวด Pad 39A ที่รัฐฟลอริดาของ NASA เพียงคนเดียว จังหวะนั้น Blue Origin และ United Launch Alliance (คู่แข่งอีกคนของ SpaceX) ก็ยื่นเรื่องต่อต้านต่อรัฐบาลว่ามันไม่ควรเกิดขึ้น ฐานปล่อยจรวดแห่งนี้ควรทำให้กลายเป็นฐานปล่อยจรวดสำหรับทุกบริษัทมากกว่า มัสก์ออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังว่ามันเป็นกลยุทธ์การพยายามสกัดกั้นอันจอมปลอม (phony blocking tactic) ที่เบโซสสร้างขึ้นมาเท่านั้น

“[Blue Origin] ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างยานอวกาศที่บินขึ้นไปในทางตรงและไม่ได้มีการโคจร (suborbital) ที่เชื่อถือได้เลย แม้จะใช้เวลากว่า 10 ปีในการพัฒนาแล้วก็ตาม” มัสก์กล่าวต่อ “หากพวกเขากลับมาในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วยจรวดที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการประเมินของ NASA สำหรับใช้กับมนุษย์แล้วสามารถจอดเทียบท่ากับสถานีอวกาศได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Pad 39A ถูกสร้างขึ้นมาไว้ใช้ เรายินดีที่จะตอบสนองความต้องการของพวกเขาทันทีเลย”

มัสก์ตบท้ายอย่างแสบสัน

“เอาตามตรง ผมคิดว่าเรามีโอกาสเจอยูนิคอร์นกระโดดโลดเต้นในท่อกันไฟซะมากกว่า [ที่เรื่องนั้นจะเกิดขึ้น]”

สุดท้าย…คำคัดค้านของเบโซสก็ถูกปัดตกไป และ SpaceX ก็ได้สิทธิ์ใช้ฐานปล่อยจรวด Pad 39A ในเวลาต่อมา

ปีถัดมา 2014 ก็ปะทะกันอีกครั้งในเรื่องของสิทธิบัตร “Drone Ships” ที่เป็นฐานลงจอดจรวดแบบลอยน้ำ สำหรับจรวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่ง Blue Origin ของเบโซสพยายามไปจดสิทธิบัตรของเทคโนโลยีอันนี้ ซึ่งถ้าสำเร็จก็หมายความว่าทุกครั้งที่ SpaceX ต้องการใช้เทคโนโลยีเดียวกัน พวกเขาต้องจ่ายเงินให้กับ Blue Origin ด้วย แต่แน่นอนล่ะว่ามัสก์ไม่ยอมเด็ดขาด เขายื่นร้องเรียนว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ของใหม่ (Old Hat) คอนเซ็ปต์ของมันมีมาหลายสิบปีแล้ว การที่ Blue Origin จะเอาไปเป็นของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้

SpaceX ชนะการยื่นฟ้องครั้งนี้ และ Blue Origin ต้องถอนคำขอจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องทุกอย่างของเทคโนโลยีนี้ออกไป

ย้ายสนามมาสู้กันออนไลน์ต่อ

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราเห็นการปะทะกันของทั้งคู่แบบใกล้ชิดติดขอบสนามตามกันแบบเรียลไทม์บนทวิตเตอร์ได้เลยทีเดียว เรามักเห็นการจิกกัดและข่มกันอยู่บ่อยครั้ง

ตอนที่ Blue Origin นำจรวด New Shepard กลับมาลงจอดได้สำเร็จในปี 2015 เบโซสทวีตว่า “สัตว์ป่าที่หายากที่สุด – จรวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้” เพื่อแสดงถึงว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นมันยิ่งใหญ่ขนาดไหนที่สามารถนำจรวดลงสู่พื้นเป็นแนวตั้งได้ ตอนนั้นมัสก์ส่งทวีตกลับไปขิงว่าที่จริงแล้วจรวด Grasshopper ของ SpaceX ก็ทำมาก่อนแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน แล้วตอนนี้ก็ยังอยู่ 

นอกจากเรื่องการแข่งขันเกี่ยวกับการเดินทางไปอวกาศแล้ว พวกเขาก็ยังมีปะทะกันเรื่องการทำงานด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน มัสก์เคยบอกกับ แอชลี แวนซ์ (Ashlee Vance) คนที่เขียนชีวประวัติของเขาว่าเบโซสมักพยายามดึงตัวคนที่มีความสามารถของ SpaceX ไปเสมอโดยการล่อด้วยเงินเดือนที่มากขึ้นสองเท่า แถมตอนที่ให้สัมภาษณ์กับ BBC เมื่อถูกถามถึง เบโซสเกี่ยวกับเรื่องการแข่งขันธุรกิจต่าง ๆ มัสก์ตอบนักข่าวเชิงล้อเล่นว่า “เจฟฟ์ไหนนะ?”

มัสก์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งที่ใช้สื่ออย่างทวีตเตอร์เป็นกระบอกเสียงเพื่อแสดงความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลา นั้นรวมไปถึงการเรียกเบโซสว่า “เลียนแบบ” อยู่หลายครั้ง ตั้งแต่เรื่องโครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม และตอนที่แอมะซอนเข้าซื้อบริษัทรถแท็กซี่ไร้คนขับ (Zoox)

ในส่วนของเบโซสเองแม้ว่าเขาจะไม่ได้ออกมาตอบโต้หรือปะทะกับมัสก์โดยตรง เขามักจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านแผนการแถลงในงานของบริษัทซะมากกว่า อย่างการบอกว่าดาวอังคาร (ที่เป็นเป้าหมายหลักของ SpaceX) นั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่ใช่เรื่องน่าจูงใจเลย” เป็นต้น เขากล่าวว่า

“สำหรับเพื่อนที่อยากย้ายไปอยู่ดาวอังคาร? ลองไปอยู่บนยอดเขาเอเวอเรสต์สักปีหนึ่งแล้วดูว่าคุณยังชอบอยู่รึเปล่า เพราะนั่นเป็นเหมือนสวนสวรรค์เลยนะถ้าเทียบกับดาวอังคาร” เบโซสกล่าวในปี 2019 และต่อมาในงานเปิดตัวยานลงจอดดวงจันทร์ของบริษัท (Blue Moon) เขาก็พูดเชิงประชดประชันอีกว่าดาวอังคารนั้น “ไกล…ไกลมาก ๆ เลยทีเดียว”

มัสก์ทวีตโต้กลับทันทีบอกว่าการใช้คำว่า “Blue” กับอะไรที่กลม ๆ เหมือนลูกบอล (ยานลงจอดดวงจันทร์ของเบโซสเป็นรูปทรงกลม) นั้นเป็นทางเลือกในการสร้างแบรนด์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แล้วมัสก์ก็ล้อเลียนยานลงจอดโดยการทวีตภาพที่เขาลบคำว่า “Moon” ออกจากชื่อของยาน “Blue Moon” แล้วเติมคำว่า “Balls” เข้าไปแทน (ในภาษาอังกฤษคำว่า Blue Balls เป็นแสลงที่หมายอาการปวดลูกอัณฑะหลังจากที่เพิ่งหลั่งโดยที่ไม่ถึงจุดสุดยอดได้ และมักทำให้อัณฑะนั้นเกิดรอยช้ำหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำได้)

แม้ระหว่างที่ทั้งคู่นั้นจะชิงไหวชิงพริบและข่มกันอยู่เป็นส่วนใหญ่ ในหลาย ๆ ครั้งเราก็จะเห็นการให้กำลังใจและส่งข้อความเหมือนเพื่อนตบบ่ารู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งกำลังทำงานหนักขนาดไหนด้วยเช่นเดียวกัน อย่างตอนที่จรวดลำหนึ่งของ SpaceX ระเบิดหลังจากทดสอบบิน เบโซสเขียนโพสต์หนึ่งไว้บนอินสตาแกรมว่า

“ใครก็ตามที่รู้ว่าสิ่งนี้มันยากแค่ไหนจะรู้สึกทึ่งกับการทดสอบของ Starship วันนี้”

แต่ล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา NASA ประกาศเลือก SpaceX ให้เป็นบริษัทผู้พัฒนายานอวกาศเพื่อส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ภายใต้โครงการ Artemis ที่ตั้งเป้าส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์อีกรอบเพียงบริษัทเดียว ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจให้กับเบโซสอีกครั้งหนึ่งจนต้องยื่นเรื่องคัดค้านเป็นเอกสารความหนาถึง 50 หน้าขอให้ตัดสินใจใหม่อีกรอบ บอกว่าการตัดสินใจของ NASA นั้น “ไม่แฟร์” ซึ่งตอนแรก NASA ได้แจ้งว่าจะให้สองบริษัทไป แต่สุดท้ายด้วยปัญหาเรื่องการเงินจึงต้องเลือกบริษัทเดียวซึ่งนั้นก็คือ SpaceX

เบโซสยังคงเดินหน้าต่อไปในภารกิจและเป้าหมายที่เขาวางเอาไว้คือการเดินทางสู่อวกาศ โดยวันที่ 20 กรกฎาคม 2021 เขาก็ทำได้สำเร็จ โดยสารจรวด New Shepard ใช้เวลาไปเกือบ 11 นาที เดินทางไปถึงอวกาศและกลับสู่พื้นโลกได้อย่างปลอดภัย เป็นครั้งแรกของการส่งมนุษย์ขึ้นไปยังอวกาศของ Blue Origin ด้วย ซึ่งเบโซสประกาศอย่างดีใจว่าเป็น “วันที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาในชีวิตของเขา”  เลยทีเดียว

แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับมัสก์สักเท่าไหร่ เพราะในส่วนของ SpaceX แล้ว ในช่วงเดือนกันยายน 2020 ได้ทำภารกิจส่งยานแคปซูล พร้อมลูกเรือ 4 คนที่เป็นประชาชนทั่วไป ขึ้นไปโคจรรอบโลก 3 วันและกลับมาอย่างปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว

การปะทะคารมหรือยียวนกันของทั้งสองคนนั้นแสดงให้เห็นอีกอย่างหนึ่งคือเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่ทั้งคู่มีและความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่อยู่ข้างหน้า อันที่จริงแล้วทั้งคู่ก็มีปลายทางที่ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นดวงจันทร์หรือดาวอังคาร ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล สิ่งที่พวกเขาตั้งใจทำคือการพยายามสร้างโอกาสให้กับมนุษย์และคนรุ่นต่อไป ให้มีโอกาสที่จะออกไปค้นหา สำรวจสิ่งที่ไม่เคยรู้ ไขปริศนาที่ของการมีตัวตนอยู่ของมนุษย์ ไปมีชีวิตหรือสร้างประโยชน์ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ ไปสร้างอาณานิคมใหม่บนดาวดวงอื่นเมื่อโลกเสียหายจนไกลเกินจะเยียวยาและไม่สามารถรองรับการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ได้อีกต่อไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ดูจะเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ขับเคลื่อนพวกเขาอยู่เบื้องหลัง

ส่วนการแข่งขันชิงดีชิงเด่นแบบเผ็ดร้อนที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ มันก็เป็นแค่สีสันที่ทำให้ชวนติดตามว่าจะขับเคี่ยวกันอย่างสนุกสนาน ตราบใดที่ไม่เกินเลยหรือล้ำเส้นความพอดี ก็ถือว่ามันช่วยขับเคลื่อนให้ทั้งคู่นั้นไม่หยุดพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ก็เหมือนการแข่งขันกีฬา ถ้าไม่มีคู่แข่งเราก็อาจจะเฉื่อยและไม่พัฒนาตัวเองสักที

มีคำกล่าวหนึ่งของ Ovid กวีชาวโรมันในยุคของจักรพรรดิเอากุสตุส บอกว่า

“ม้าไม่เคยวิ่งเร็ว จนกระทั่งมีม้าตัวอื่นที่ต้องวิ่งไล่ตามหรือต้องเอาชนะ”

เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีมัสก์ เบโซสก็อาจจะยังมาไม่ถึงจุดนี้
และถ้าไม่มีเบโซส มัสก์ก็อาจจะยังไปไม่ถึงไหนเช่นเดียวกัน

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
อ้างอิง 7 อ้างอิง 8 อ้างอิง 9
อ้างอิง 10 อ้างอิง 11 อ้างอิง 12
อ้างอิง 13 อ้างอิง 14

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส