ในโลกที่ทุกอย่างเชื่อมต่อกัน ทำให้การสื่อสารนั้นรวดเร็วเพียงแค่กดปุ่ม ‘send’ ก็สามารถทักหาอีกฝั่งหนึ่งได้แล้วในเสี้ยววินาที โลกของเราเล็กลง เข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น มันเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ตามมาด้วยปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะในเมื่อเราสามารถติดต่อได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าใครก็ตามก็สามารถทักหาเราได้เสมอ ไม่ว่าอีกฝั่งจะเป็นใครก็ตามที ซึ่งรวมไปถึงคนที่เราไม่อยากให้ติดต่อมานอกเวลาด้วยอย่างหัวหน้างาน ลูกค้า หรือ บริษัทโฆษณาขายของ
เมื่อเส้นบาง ๆ ระหว่างช่วงเวลางานกับช่วงเวลาส่วนตัวหายไปเนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้การทำงานจากบ้านหรือที่อื่นนอกจากออฟฟิศเป็นทางเลือกใหม่ที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ในเมื่อ “บ้านกลายเป็นออฟฟิศ” และ “ออฟฟิศก็คือบ้าน” ไม่มีการแยกกันชัดเจนเหมือนเมื่อก่อน เลยกลายเป็นว่าเมื่อไหร่ที่ลืมตาตื่นคือทำงาน จะได้พักอีกทีก็ตอนหลับตานอนเพียงเท่านั้น
นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมกระแส “Right to Rest” (สิทธิ์ของการพัก) หรือ “Right to Disconnect” (สิทธิ์ของการหยุดเชื่อมต่อ) ถึงมีการพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าให้อธิบายแบบรวบรัดเลยมันก็คือสิทธิ์ของพนักงานบริษัททุกคนที่ควรได้รับเมื่อหมดเวลางานแล้วก็ควรจะได้พักแบบจริง ๆ ไม่ใช่แค่ตอกบัตรออกจากออฟฟิศแต่หัวหน้ายังไลน์ไปตามงาน หรืออีเมลไปขอรายงานตอนเที่ยงคืนตีหนึ่ง
มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ด้วยความที่วัฒนธรรมการทำงานของบ้านเรา พนักงานค่อนข้างที่จะเกรงใจหัวหน้า พอถูกตามงานที่นอกเหนือเวลางานมักจะไม่กล้าที่จะปฎิเสธ ไม่ใช่ว่าหัวหน้าทุกคนจะเข้าใจ กลัวว่าถ้าปฏิเสธไปก็อาจจะกระทบหน้าที่การงานของตัวเอง แต่ถ้าทำครั้งหนึ่งก็มักมีครั้งที่สองสามสี่ตามมา เพราะฉะนั้นถ้ามีการออกกฏหมายบังคับหรือห้ามให้หัวหน้าตามงานหรือทวงงานนอกเวลางานออกมาช่วยก็จะทำให้เรื่องการบอกปฎิเสธหรือการทำงานล่วงเวลาที่กระทบกับชีวิตส่วนตัวลดน้อยลงตาม แถมไม่พอถ้าเป็นบริษัทที่กำลังหาพนักงานรุ่นใหม่หรือกลุ่มเจน Z ที่กำลังทยอยจบการศึกษากันตอนนี้จะเห็นว่าประเด็นเรื่อง “Work-Life Balance” เป็นสิ่งที่เด็กกลุ่มนี้ให้ความสำคัญมากเช่นกันในการเลือกทำงาน ถ้าบริษัทต้องการดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถก็ต้องปรับตัวไปกับความต้องการของกลุ่มแรงงานที่จะมาเป็นกำลังหลักของบริษัทด้วย
บางประเทศอย่างโปรตุเกสได้ทำเรื่องนี้ให้เป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว
ในกฎข้อบังคับนี้บอกว่าบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 10 คนนั้นจะถูกปรับถ้าติดต่อกับพนักงานนอกเหนือเวลาทำงาน เมื่อการปรับเงินรวมกับโอกาสในการสูญเสียพนักงาน (หรือการหาพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน) ก็ทำให้วัฒนธรรมการทำงานแบบติดต่อได้ตลอดเวลา (Always-On) ทุเลาลงไปได้ค่อนข้างมาก เสียงตอบรับของกฎหมายนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี ทำให้พนักงานมีเวลาส่วนตัวมากยิ่งขึ้น ลดความเครียดและแรงกดดันในการทำงานลงไปได้ค่อนข้างเยอะ
การทำงานในยุค Covid-19 ที่มาพร้อมความยืดหยุ่น เช่น WFH (Work From Home) 100% หรือ แบ่งกันเข้าออฟฟิศวันเว้นวันมันเป็นเรื่องที่ดี แต่มันก็มาพร้อมกับข้อกำหนดตกลงที่ไม่ได้เขียนในสัญญาจ้างงาน สมมุติว่าสามารถ WFH ได้ 100% แต่ช่วงเวลาที่ควรทำงานกลับมีธุระต้องไปส่งลูกที่โรงเรียน คุณจะบอกว่าไม่ว่างเพราะไปทำธุระส่วนตัวก็ไม่ได้ ตราบใดที่สามารถทำงานได้ในช่วงเวลานั้นไม่มีใครทราบหรอกว่าคุณทำงานจากที่ไหน แต่นั่นแหละคือปัญหา เพราะบางทีกลายเป็นชีวิตส่วนตัวเข้ามาปนกับช่วงเวลาการทำงาน งานจึงล่าช้าไม่เสร็จต้องทำต่อช่วงนอกเวลา จึงไม่แปลกใจที่จากสถิติแล้วการ WFH จะทำให้เราต้องทำงานนอกเหนือเวลางานเยอะขึ้นแล้ว บางทีช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ถูกกลืนไปด้วยเช่นกัน (มีสถิติบอกว่ากว่า 68% ของพนักงานที่ทำงานจากบ้านต้องทำงานในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ด้วย)
แต่แน่นอนว่านั่นเป็นปัญหาของการจัดการบริหารเวลา เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคน ซึ่งอาจจะกระทบกับผลงานในภายหลัง แต่ก็ไม่ควรถูกนำมาเป็นข้ออ้างให้มีการตามงานหรือติดต่อนอกเวลางาน เพราะเมื่อไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนอย่างการไปทำงานออฟฟิศ เคลียร์งานให้จบ แล้วก็กลับบ้านแบบเมื่อก่อน มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าจะต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา แม้ขนาดคนที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ก็ไม่ต่างกัน ลูกค้าก็คาดหวังว่าเราต้องตอบไลน์และโทรหาได้ไม่ว่าจะกี่โมงก็ตามที
แต่บางทีมันก็มากจนเกินไป
วัฒนธรรมทำงานหนักแบบที่เรามักได้ยินหรือประสบอยู่นั้นไม่ได้ผลกระทบทางด้านลบต่อสุขภาพของเราเพียงเท่านั้น มันยังลดทอนประสิทธิภาพในการทำงานของเราลงด้วย มีผลสำรวจออกมาว่าคนที่ต้องคอยตอบและทำงานนอกเหนือเวลางานนั้นจะรู้สึกเครียดกว่า 70.4% และรู้สึกเหนื่อยล้าทางสภาพจิตใจประมาณ 63.5%
การไม่มีกฎข้อบังคับอย่าง “Right to Rest” นั้นทำให้เราเหมือนติดอยู่ตรงกลางระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว สมมุติว่ากำลังรับประทานอาหารเย็นกับครอบครัวแล้วก็คอยเช็กอีเมลทุก 5 นาทีเพราะกลัวว่าหัวหน้าจะติดต่อมา มันถือว่าเป็นการทำงานไหม? สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ ฯ (National Bureau of Economic Research) ได้ทำการสำรวจจากคนทำงานกว่า 3.1 ล้านคนโดยสรุปออกมาว่าโดยเฉลี่ยตอนนี้เวลาที่เราทำงานนั้นยาวขึ้นกว่า 48.5 นาที และช่วงการทำงานที่ยาวกว่า 55 ชั่วโมงต่ออาทิตย์นั้นก็เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและเส้นโลหิตในสมองแตกอย่างเฉียบพลันมากขึ้นถึง 35% และคนที่ทำงานมากกว่านี้ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะลดลงโดยอาจจะไม่ได้สร้างสรรค์งานดี ๆ ออกมาเลย เพราะฉะนั้นในระยะยาวแล้วไม่ว่าจะด้านไหน พนักงาน หัวหน้า หรือบริษัท ไม่มีใครชนะเลยในเกมการทำงานหามรุ่งหามค่ำนี้
เมื่อดูจากสถิติและปัจจัยทุกอย่างแล้ว ก็เหมือนว่าการติดต่อพนักงานหรือทำงานนอกเหนือเวลางานควรเป็นกฎหมายบังคับแบบมาตรฐานที่ควรถูกนำมาใช้ทั่วโลกกันได้แล้ว แต่แล้วแบบนี้มันหมายถึงว่าถ้ามีเหตุการเร่งด่วนคอขาดบาดตายก็ไม่ควรติดต่อเลยเหรอ? มันมีกรณีไหนบ้างไหมที่ควรเป็นข้อยกเว้นและมีเหตุผลเพียงพอในการติดต่อพนักงานหรือทำงานนอกเหนือจากช่วงเวลาปกติ? แน่นอนว่ามันมีอยู่แล้วล่ะ อย่างเช่นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตต้องการติดต่อแพทย์ผู้รักษาโดยด่วน หรืออย่างเช่นคุณสร้างปัญหาเอาไว้แล้วตอนนี้มันกำลังสร้างความเสียหายหนักให้กับบริษัท ก็ควรติดต่อได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นโดยพื้นฐานแล้วก็คงมีความยืดหยุ่นนิดหนึ่ง อะไรก็ตามที่มันเป็นความรับผิดชอบของคุณ ไม่ว่าเวลาเข้างานหรือนอกงานก็ควรจัดการกับมันให้เรียบร้อยโดยเร็วที่สุด สิทธิ์ในการพักหรือหยุดการติดต่อนั้นในความเป็นจริงก็อาจจะไม่ใช่ขาว-ดำซะทีเดียว แต่น่าจะเป็นพื้นที่สีเทาที่พึ่งพาความคิดและสามัญสำนึกของทุกฝ่ายที่เคารพกันซึ่งกันและกัน ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ ความจำเป็นความเร่งด่วนที่อาจจะเป็นความเสียหายที่แก้ไขไม่ได้ถ้าไม่ทำในทันที และชั่งน้ำหนักเอาให้ดี ๆ แม้จะมีข้อกฏหมายมาบังคับแล้วก็ตาม
สำหรับคนที่เป็นพนักงานในประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ สิ่งที่ควรทำคือการขีดเส้นแบ่งเวลางาน เวลาส่วนตัวและครอบครัวให้ชัดเจน เพราะความเครียดจากงานนั้นเป็นปัญหางูกินหางที่ไม่มีวันจบสิ้นถ้าเรายอมให้มันสิงอยู่ในหัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำงานออฟฟิศ ทำงานที่บ้านออนไลน์ หรือจะเป็นฟรีแลนซ์เจ้านายตัวเองก็ตาม หาจุดสมดุลให้ลงตัว อย่ากลัวการบอกปฎิเสธคนอื่นหรือปิดโทรศัพท์ไม่รับสาย ไม่อ่านไลน์นอกเวลางาน เพราะนั้นคือสิทธ์ขั้นพื้นฐานของเราที่ควรมอบให้กับตัวเอง เคารพเวลาส่วนตัวของคุณ แล้วคนอื่นจะเคารพมันด้วยเช่นเดียวกัน
แล้วถ้าเขาไม่เคารพไม่ว่าคุณจะทำยังไงก็ตามหล่ะ? ก็อาจจะเป็นสัญญาณของการบอกลาและมองหางานใหม่ก็ได้ เพราะหัวหน้าอาจจะไม่แคร์เรื่องสุขภาพของคุณ แต่คุณต้องแคร์ เพราะนี่คือชีวิตเดียวที่คุณมี ทำไมจะต้องเลือกที่จะตอบอีเมลตอนเที่ยงคืน ส่งแก้งานตอนตีสองกันล่ะ? ไม่จำเป็นเลย
มองหางานใหม่และพยายามชูประเด็นนี้ให้มั่นใจว่าที่ที่เราจะไปนั้น ‘สิทธิ์ของการพัก’ ไม่ใช่เรื่องแปลกและควรเป็นมาตรฐานที่ควรมาใช้เคารพซึ่งกันและกันได้แล้ว
เวลาของเรา สิทธิ์ของเรา ถ้ายังไม่มีกฏ ก็ไม่ต้องรอให้กฏหมายมาบอกว่าใครควรเคารพมันบ้าง
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส