ในปี 1995 ผู้ประกอบการธุรกิจผู้เต็มไปด้วยไฟแห่งความทะเยอทะยานชื่อ แจ็ก หม่า (Jack Ma) ได้เดินทางมายังประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ตอนนั้นเขาพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศจีนซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาแต่กลับแทบไม่เจออะไรเลย นั่นย่ิงทำให้ความสนใจของเขาเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้นไปอีก เขากับเพื่อน ๆ เลยตัดสินใจสร้างเว็บไซต์แรกที่เกี่ยวกับประเทศจีนขึ้นมาชื่อว่า chinapages.com โดยภายในบ่ายวันเดียวกันนั้นก็มีนักลงทุนชาวจีนติดต่อมาเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่เขาทำอยู่ ภายในเวลา 3 ปีพวกเขาสร้างรายได้ประมาณ 800,000 เหรียญ (หรือประมาณ 27 ล้านบาท)
ต่อจากนั้นบริษัทของเขาก็ทำงานกับบริษัทสัญชาติจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่ตัวบริษัทยังตั้งอยู่ที่อเมริกา เขาทำเงินได้มากมายแต่พอปี 1999 เขาตัดสินใจทำบางอย่างที่ใหญ่ขึ้นอีกนั่นก็คือการสร้างร้านค้าออนไลน์แบบ B2B ของเอเชียที่ประเทศจีน เพราะช่วงเวลานั้นโรงงานทั้งหลายในประเทศจีนกำลังได้รับความสนใจจากทั่วทุกแห่งของโลก เขาเห็นโอกาสว่าอินเทอร์เน็ตจะสามารถเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างสองฝั่งได้อย่างแน่นอน และนั่นก็เป็นต้นกำเนิดของเว็บไซต์ Alibaba
ตอนนี้เราทุกคนรู้จักเว็บไซต์แห่งนี้เป็นอย่างดี มันเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เราสามารถเข้าไปค้นหาสินค้าที่ในราคาส่งจากโรงงานได้ ในปี 2000 เขาได้รับเงินทุน 25 ล้านเหรียญ และในปี 2005 บริษัท Yahoo ก็ลงทุนเพิ่มไปอีก 1 พันล้านเหรียญ 10 ปีต่อมา Alibaba กลายเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ระดมทุนเพิ่มจากการเข้าตลาดหุ้นที่นิวยอร์กอีก 25,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าใครติดตามชีวิตของ แจ็ก หม่า นั่นก็คงจะรู้ว่ากว่าเขาจะมาถึงตรงนี้ได้เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จากชายคนหนึ่งที่สมัครงานกว่า 30 แห่งไม่มีใครรับ ขนาด KFC ยังไม่เอา จนตอนนี้มูลค่าทรัพย์สินรวมกันของเขามีมากกว่า 40,000 ล้านเหรียญ
นี่คือบทเรียนทางธุรกิจ 5 ข้อจากชีวิตของแจ็ก หม่า ตลอดเส้นทางอันท้าทายที่ผ่านมา
1. ผิดพลาดและผิดหวัง เป็นเรื่องธรรมดา
“ผมสอบตกชั้นประถม 2 ครั้ง สอบตกมัธยมต้น 3 ครั้ง และพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัย 3 ปี ต่อจากนั้นก็สมัครงานไป 30 ที่ก็ถูกปฏิเสธทั้งหมด ตอนที่ KFC มาประเทศจีน ผมก็ไปสมัคร มีคนสมัคร 24 คน และมีคนได้งาน 23 คน ผมเป็นคนเดียวที่ไม่ได้งาน ผมสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัย Harvard และโดนปฏิเสธ 10 ครั้ง”
เรามักคิดว่าความล้มเหลวนั้นคือขั้วตรงกันข้ามของความสำเร็จ ความจริงแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่แยกออกจากกันไม่ได้ต่างหาก มีวลีหนึ่งจากไอน์สไตน์ที่บอกว่า “คนที่ไม่เคยทำผิดพลาด คือคนที่ไม่เคยลองทำอะไรใหม่ ๆ เลย” คุณไม่เคยล้มเหลวถ้าได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ความล้มเหลวจริง ๆ จะเกิดขึ้นก็ตอนที่เราหยุดพยายามแล้วนั่นเอง
Alibaba ไม่ได้สำเร็จภายในค่ำคืนเดียว มันถูกสร้างขึ้นในปี 1999 และใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษก่อนที่จะกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเหมือนอย่างทุกวันนี้ ตอนนี้มันเป็นบริษัทที่สร้างผลกำไรได้มหาศาล ในปี 2021 แตะ 100 ล้านเหรียญไปเรียบร้อย แจ็ก หม่า บอกว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ต้องผ่านความผิดพลาดมาหลายครั้ง ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและความท้าทาย กลับไปแก้ไขใหม่ จนสามารถมีวันนี้ได้ เพราะไม่ใช่แค่เรียนรู้จากความผิดพลาดเท่านั้น พวกเขานำความรู้เหล่านั้นกลับไปลองใหม่ ครั้งแล้วครั้งเล่า
“ผมไม่คิดว่าจะมีหลายคนที่โดยปฏิเสธมากกว่า 30 ครั้งนะ อย่างเดียวคืออย่ายอมแพ้ […] ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่เสมอ และอย่าเอาแต่บ่นเท่านั้น”
2. โอกาสเกิดขึ้นเมื่อมีคนบ่น ไม่ใช่อยู่ที่เราบ่น
“ทุกวันนี้มีคนบ่นอยู่ตลอดเวลา พวกเขาบอกว่า ‘ฉันไม่มีโอกาสเลย’ ผมก็บ่นเหมือนกันตอนที่ยังเด็ก ๆ จนกระทั่งผมรู้ว่าบ่นไปก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไร แต่โอกาสเกิดขึ้นเสมอในที่ที่มีคนบ่น มันมีโอกาสเยอะมากในโลกใบนี้ เพราะมีคนบ่นอยู่ตลอดเวลา […] แน่นอนว่ามันไม่ได้รู้สึกดีหรอกเมื่อถูกปฏิเสธอยู่บ่อย ๆ เราก็เศร้าได้ แต่อย่างน้อย ๆ เราก็รู้ว่าโลกใบนี้ยังมีโอกาสอยู่มากมาย ถ้าเราคว้าโอกาสเหมือนกับที่เราเห็นโลกใบนี้ ถ้าเราแก้ไขปัญหาที่คนบ่นได้สักอัน นั่นก็คือโอกาสแล้ว”
แจ็ก หม่า อธิบายว่าเมื่อ 10-20 ปีก่อนนั้นอินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยโอกาส เพราะไม่มีใครคิดหรอกว่ามันจะทำอะไรได้มากขนาดนี้ แต่ตอนนี้อินเทอร์เน็ตเป็นที่ที่เต็มไปด้วยคนเก่ง เต็มไปด้วยการแข่งขัน เพราะทุกคนอยู่ที่นี่หมด
มันยากที่จะคาดเดาว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคืออะไร แต่วิธีที่ดีที่สุดที่พอจะทำให้เห็นว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นคือการฟังเรื่องที่คนบ่นกันเยอะ ๆ โดยเราเองไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบ่นเหล่านั้น ถ้าเป็นเป็นธุรกิจที่มีอยู่แล้ว เราก็สามารถใช้กลยุทธ์นี้เพื่อจะสร้างข้อได้เปรียบคู่แข่งในท้องตลาดได้โดยการออกสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า ส่วนถ้าใครกำลังจะเริ่มทำธุรกิจก็จะทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ คืออะไร และปัญหาที่พวกเขาเจอมันใหญ่หรือเล็กมากแค่ไหน
3. ถ้าพยายาม อย่างน้อยก็มีความหวัง
“ตอนที่ผมยังเด็ก ผมบอกว่า ‘ทุกอย่างเป็นไปได้’ แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นไปได้ ตอนที่คุณกำลังสร้างอะไรบางอย่าง เราต้องคิดถึงคนอื่น ๆ ด้วย ลูกค้าของเรา สังคมที่อยู่ พนักงานในบริษัท คนถือหุ้น และนั่นนี่ แต่มันก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ผมคิดว่าถ้าคุณทำงานหนักต่อไปมันจะเกิดความเป็นไปได้ แต่ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นสักอย่าง ถ้าคุณได้ลองทำ อย่างน้อย ๆ ก็ยังมีความหวัง”
เราไม่มีทางรู้หรอกว่าไอเดียที่เรามีในหัวนั้นจะมีค่ามากขนาดไหน ถ้ายังไม่เคยได้ลองทำ หลายคนมีไอเดียที่ดีเยี่ยม แต่ไม่เคยลงมือทำ อาจจะเพราะกลัว อาจจะยังไม่กล้า อาจจะยังคิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ อาจจะบอกว่ามันยังไม่ใช่เวลา หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่ลองก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้ การได้ลองทำอย่างน้อย ๆ มันยังทำให้มีความหวังว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริง ๆ
4. อนาคตจะถูกขับเคลื่อนด้วยประสบการณ์
“ในอนาคตจะไม่ใช่การแข่งขันในเรื่องของความรู้ เป็นการแข่งขันของความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ การเรียนรู้ การคิดอย่างอิสระ อนาคตไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยความรู้ แต่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและขับเคลื่อนด้วยประสบการณ์ ถ้าคุณคิดเหมือนเครื่องจักร คุณจะมีปัญหาแน่นอน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราได้ทำให้ผู้คนดูเหมือนเครื่องจักร ในอีก 20 ปีข้างหน้า เราจะทำให้เครื่องจักรดูเหมือนคนแทน”
ถ้าเราสังเกตดูจะเห็นว่าช่วงหลัง ๆ โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ๆ พัฒนาแบบก้าวกระโดด เต็มไปด้วยเรื่องใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ถ้าใครไม่ตามข่าวสารอาจจะหลุดประเด็นและสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ได้ไม่ยากเลย เพราะฉะนั้นภายในอีก 10-20 ปีข้างหน้า โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอีกเยอะมาก มากกว่า 10-20 ที่ผ่านมา ทั้ง AI, Robotics, Virtual Reality หรือ Wearable Tech สิ่งเหล่านี้คืออนาคตและทุกอย่างนั้นมีประสบการณ์ของมนุษย์ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง
โรบอตที่มีส่วนคล้ายมนุษย์มากขึ้น AI สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ VR ก็จะทำให้ประสบการณ์ของเราเหมือนจริงมากขึ้นในโลกเสมือน หรืออย่าง Wearable Tech ก็อยู่กับเราตลอดไม่ว่าเราจะกำลังเจอประสบการณ์อะไรอยู่ก็ตามที
อุตสาหกรรมโรงงานที่เคยขับเคลื่อนธุรกิจของโลกจะเริ่มล้าหลังและเราจะแข่งขันกันด้วยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการแทนแล้วในอีกไม่มีทศวรรษข้างหน้า
5. ทำเรื่องบ้า ๆ แต่อย่าทำอะไรโง่ ๆ
“ในปี 1999-2000 หลายคนพูดว่า: “แจ็กคนนี้บ้าไปแล้ว ทำอะไรก็ไม่รู้ไม่เข้าใจเลย” ฉันจำครั้งแรกกับนิตยสาร Time ได้อยู่เลย พวกเขาเรียกผมว่า ‘Crazy Jack’ ซึ่งผมคิดว่าบ้าก็ดีนะ เราบ้าแต่เราไม่โง่ เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร ถ้าทุกคนเห็นด้วยกับผม ถ้าทุกคนเชื่อในความคิดของผม ฉันก็จะไม่มีโอกาสแบบนี้หรอก”
การถูกปฏิเสธนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ หลายคนไม่เข้าใจว่าไอเดียที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ นั้นตอนแรก ๆ ก็ดูเหมือนบ้าบอ เป็นไปไม่ได้ หรือเสียเวลาสิ้นดี ตราบใดที่คุณรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ การฟังคนที่พยายามจะขัดขวางก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร คุณแค่ต้องลุยต่อไป หาคนที่สามารถช่วยเหลือคุณได้ ไม่ว่าจะด้านอารมณ์ การเงิน หรือทางกลยุทธ์ต่าง ๆ ก็จะทำให้โอกาสที่จะสำเร็จเพิ่มขึ้นไปด้วย สิ่งสำคัญคือการสร้างทีมที่เชื่อในเป้าหมายเดียวกัน
“ตอนเราเริ่มต้นทำธุรกิจ เรามีผู้ก่อตั้ง 18 คน รวมผมด้วย ในจำนวนนั้น 17 คนเป็นนักเรียน ทุกวันนี้คนคิดว่า 18 คนเหล่านี้เป็นคนที่ฉลาดที่สุดในประเทศจีน เราไม่คิดว่าเราฉลาด พูดจริง ๆ เลย เราทุกคนจบการศึกษาจากโรงเรียนที่ยากจนมาก สิ่งเดียวที่เราทำคือสามัคคีกัน เราทุกคนเชื่อในอนาคต มองโลกในแง่ดี เรียนรู้จากความผิดพลาด และไม่เคยยอมแพ้”
นั่นคือเส้นทางการเริ่มต้นของ แจ็ก หม่า ตัวเขาและเด็กนักเรียนอีก 17 คนในอะพาร์ตเมนต์ มองไปไกลถึงอนาคตว่าอยากให้มันเป็นยังไง เชื่อในความคิดและกล้าลงมือทำ ตอนที่พวกเขาสร้าง AliPay มีแต่คนบอกว่ามันเป็นไอเดียที่งี่เง่า แต่ตอนนี้มีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกทุกปี
มีประโยคหนึ่งที่ แจ็ก หม่า กล่าวเอาไว้ เขาบอกว่า
“สักครั้งในชีวิต ลองทำอะไรซักอย่าง ทุ่มเทสุดตัวให้กับอะไรสักอย่าง ลองเปลี่ยนแปลงดู มันไม่มีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้นได้หรอก”
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส