“นี่ ๆ ได้ยินหรือยังที่ดาราคนนั้น.. ที่เล่นละครที่ดัง ๆ หลังข่าวคนนั้นแหละ เออ.. ใช่.. เขาบอกว่านอกใจภรรยาที่กำลังท้องลูกคนที่ 2 ที่บ้านอะเธอ!” หรือ “วันก่อนเห็นคนนั้นอะที่เป็นอินฟลูบนอินสตาแกรม ที่มีคนตามเป็นล้าน ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต โหว.. เธอ อย่างหยิ่งอะ ทักนี่ไม่ยิ้มเลย!” หรือ “ข่าวเรื่องการเสียชีวิตของดาราคนนั้นต้องมีเงื่อนงำอะไรสักอย่างแน่นอนเลย”
เราเห็นข่าวซุบซิบแบบนี้อยู่บ่อย ๆ ตามโลกออนไลน์ แฮชแท็กดัง ๆ ตามทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก ข่าวของดาราดังที่มีชื่อเสียงนั้นมีอยู่แทบทุกที่และตลอดเวลาเลยด้วยซ้ำ เราอาจจะรู้สึกว่ามันดูเยอะ ไร้สาระ ไม่น่าสนใจ แต่สมองเราก็อดไม่ได้ที่อยากจะอยากรู้เรื่องเหล่านี้อยู่ลึก ๆ (จะเรียกว่าเผือกก็คงประมาณนั้น) ทำไมเราถึงต้องไปสนใจข่าวดาราเหล่านี้ด้วยล่ะ?
ถ้าให้อธิบายโดยหลักการพื้นฐานแล้วเรื่องนี้ที่จริงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปกติ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราวิวัฒนาการมาจนถึงตอนนี้ได้เพราะเรานั้นสนใจเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในระดับที่เหนือกว่าเรา ซึ่งถ้าพูดกันตามตรง (แม้จะดูเหลื่อมล้ำและเศร้าขนาดไหนก็ตาม) ดาราหรือคนที่มีชื่อเสียงถือว่าอยู่ในระดับชั้นที่อยู่ด้านบน สูงกว่าคนปกติทั่วไป และเหตุผลที่เราสนใจข่าวซุบซิบของดาราคนดังก็มาจากสิ่งนี้นั่นแหละ เราสนใจต้องใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อความอยู่รอดและปรับตัว เพียงแต่ว่าช่วงนี้มันหนักเพราะถูกเร่งโดยสื่อและเทคโนโลยีที่เข้าถึงคนได้ทุกซอกทุกมุมมากกว่า
เจมส์ ฮูแรน (James Houran) นักจิตวิทยาจากบริษัทที่ปรึกษา HVS Executive Search ผู้เป็นคนช่วยสร้างแบบสอบถามชุดแรกเพื่อวัดระดับของสิ่งที่เรียกว่า Celebrity Worship Syndrome (ความผิดปกติทางจิตที่มีอาการเสพติด หมกมุ่นกับตัวตนและชีวิตของคนดังในระดับคลั่งไคล้บูชา) ในคนทั่วไปบอกว่า “ในสังคมของเรา คนดังมีส่วนคล้ายคลึงกับยาเสพติด เพราะมันอยู่รอบตัวเราทุกที่เลย และเข้าถึงได้ง่ายด้วย”
แน่นอนว่าการติดตามข่าวซุบซิบของดารานั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มันมีมานานแล้วตั้งแต่ยุคสมัยก่อน เอาง่าย ๆ ถ้าเราดูละครย้อนยุคก็จะเห็นแม่ค้าในตลาดสดนินทาเจ้าขุนมูลนายของเมือง หรือคนงานในบ้านเล่าเรื่องอื้อฉาวของนายให้คนอื่น ๆ ฟังลับหลัง ไม่ใช่แค่ในสังคมไทยเท่านั้น การซุบซิบเรื่องของคนที่สถานะเหนือกว่าเรานั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มานานนมแล้วตั้งแต่ยุคนักล่าเก็บของป่าล่าสัตว์แล้ว แดเนียล ครูเกอร์ (Daniel Kruger) นักจิตวิทยาวิวัฒนาการแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน บอกว่าไพรเมตสายพันธุ์อื่น ๆ ก็คอยติดตามดูกลุ่มที่มีสถานะเหนือกว่าตนเองในสังคมอย่างใกล้ชิด เขาอธิบายต่อถึงเหตุผลว่ามันคือการเรียนรู้พฤติกรรมของบุคคลที่มีสถานะสูงกว่าตนเองแล้วลองเลียนแบบเผื่อว่าตัวเองจะไต่บันไดของชั้นสังคมขึ้นไปได้บ้าง และอีกอย่างหนึ่งคือมันเป็นเรื่องของการเข้าสังคม เมื่อรู้ว่าคนในสถานะที่สูงกว่าทำอะไร เราก็จะมีเรื่องให้พูดหรือเข้าสังคมได้ง่ายขึ้นและใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อเอาตัวรอด
แบรด พิตต์ จะเลิกกับ แองเจลิน่า โจลี หรือ จัสติน บีเบอร์ จะแต่งงานหรือคืนดีกับใคร เรื่องเหล่านี้ไม่ได้กระทบกับชีวิตของเราโดยตรงอยู่แล้ว แต่เราก็ยังสนใจอยู่ดี และสื่อก็พร้อมจะประเคนป้อนข่าวเหล่านี้ให้กับเราเสมอ นอกจากเหตุผลทางจิตวิทยาแล้วแล้วยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนอีกว่าสมองของเรานั้นชื่นชอบข่าวซุบซิบเหล่านี้มาก ถึงแม้เราจะบอกว่าไม่สนใจขนาดไหนก็ตาม
เว็บไซต์ ‘Wired’ ได้เขียนบทความเล่าถึงการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร ‘Social Neuroscience’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งผลการทดลองออกมาน่าสนใจมาก พวกเขาเอาอาสาสมัคร 17 คนไปนอนในเครื่องสแกนสมองและฟังผู้หญิงคนหนึ่งอ่านประโยคที่เป็นเรื่องซุบซิบเกี่ยวข้องกับตัวของอาสาสมัครคนนั้น หรือเพื่อนสนิทของเขา หรือคนดังที่มีชื่อเสียง (ซึ่งเป็นดาราที่อาสาสมัครบอกว่าไม่ได้สนใจอะไรเป็นพิเศษ) ซึ่งเรื่องที่จะมีการเล่าให้ฟังนั้นจะอยู่ในสองรูปแบบ ด้านบวก/ด้านลบ เกี่ยวกับคนที่กำลังจะพูดถึง ยกตัวอย่างเช่น การไปช่วยเด็กที่หลงทาง หรือขับรถเมาแล้วชนเกิดอุบัติเหตุ
ระหว่างที่ฟัง สมองของอาสาสมัครก็จะถูกสแกนและบันทึกเอาไว้ ส่วนอาสาสมัครก็จะให้คะแนนเรตติ้งว่าเรื่องที่ฟังนั้นน่าสนใจขนาดไหน ถ้าตามจากเรตติ้งที่อาสาสมัครให้ก็คือพวกเขาชอบที่จะฟังเรื่องด้านบวกของตัวเองมากกว่าเรื่องด้านบวกของเพื่อนหรือดาราที่มีชื่อเสียง แต่กลับกันจะพวกเขาจะชอบเรื่องด้านลบของเพื่อนหรือของดารามากกว่าของตนเอง ถึงตรงนี้อาจจะไม่ได้มีอะไรที่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ ทุกคนล้วนอยากฟังเรื่องดี ๆ เกี่ยวกับตัวเองและโลกหมุนรอบตัวอยู่แล้ว
แต่มันมาน่าสนใจเมื่อเทียบระหว่างเรื่องด้านลบแย่ ๆ ของเพื่อนกับของดารา อาสาสมัครบอกว่าพวกเขาชอบเท่า ๆ กัน ซึ่งเอาตามตรงแล้วถ้าเราสังเกตพฤติกรรมออนไลน์ของคนทั่วไปหรือของตัวเองก็ตามต้องบอกว่ามันไม่เป็นแบบนั้นเลย เราสนใจเรื่องของดาราหรือคนที่มีชื่อเสียงอย่างมาก และติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดแบบวินาทีต่อวินาทีเลยทีเดียว ซึ่งตรงนี้แหละที่ภาพสแกนสมองกลายเป็นข้อมูลเชิงลึกบ่งบอกบางอย่างที่แท้จริงซ่อนอยู่ข้างใน ถึงอาสาสมัครจะบอกว่าไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษกับข่าวซุบซิบดาราในเชิงลบ แต่ส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับความสุข (เรียกว่า The Caudate Nucleus) ตื่นตัวเป็นพิเศษเมื่อยินข่าวซุบซิบของดาราที่เสีย ๆ หาย ๆ ทำเรื่องไม่ดี ยิ่งไปกว่านั้น การนินทาคนดังในเชิงลบนี้ยังส่งผลให้ส่วนของสมองที่ใช้เพื่อควบคุมตนเองตื่นตัวไปในเวลาเดียวกันด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งคืออาสาสมัครดูเหมือนพยายามข่มอารมณ์ความรู้สึกที่ชื่นชอบในการรับฟังเรื่องราวอื้อฉาวเหล่านี้ด้วย
แน่นอนว่างานวิจัยดังกล่าวจะสรุปรวมทุกอย่างอย่างสมบูรณ์คงเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อย ๆ เราก็เห็นภาพอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ข้างในที่ไม่เคยรู้มาก่อน การทดลองครั้งนี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยในประเทศจีน ซึ่งในบทความผู้เขียนเองก็บอกว่ามันอาจจะมีความแตกต่างของข้อมูลและผลลัพธ์เมื่อทดลองในประเทศอื่นที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป ชาวตะวันตกอาจจะไม่ได้รู้สึกผิดที่จะมีความสุขเวลาฟังข่าวซุบซิบนินทาเชิงลบเหมือนอย่างชาวตะวันออกก็เป็นไปได้
สุดท้ายแล้วความอยากรู้อยากเห็น อยากซุบซิบนินทาเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ โดยพื้นฐานแล้วเราแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพราะเราสามารถส่งต่อข้อมูลมากมายจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ มนุษย์หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง เรื่องสมมติ นิทาน หรือเรื่องซุบซิบคนดังที่ไหนสักแห่ง เราเรียนรู้และเข้าใจโลกผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในหนังสือของโรเบิร์ต ไรท์ (Robert Wright) ชื่อ ‘The Moral Animal’ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าธีมของนิทานที่มนุษย์จับใจความได้มากที่สุดคือ “ใครนอนกับใคร ใครโกรธใคร ใครโกงใคร” นักจิตวิทยา ดอกเตอร์ ฮามิรา ริอาซ (Dr. Hamira Riaz) ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวคิดเรื่องความสำเร็จเห็นด้วยว่า “เราเรียนรู้บทเรียนเกี่ยวกับสภาพของมนุษย์ผ่านการเล่าเรื่อง” และเรื่องราวของดาราหรือคนที่มีชื่อเสียงนั้นได้รับความสนใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นยิ่งมีข่าวนินทาต่าง ๆ ออกมาก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่กำลังสนใจเรื่องราวตรงนี้อยู่ เป็นทักษะที่เราใช้ในการเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดนั่นเอง
เพราะฉะนั้นเวลาเห็นข่าวเกี่ยวกับดาราที่เรารู้สึกว่ามันช่างไร้สาระ เสพไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับชีวิต แต่ก็อยากเผือกกับเขาบ้าง ก็อ่านบ้างก็ได้ มันเป็นธรรมชาติของเรา ขอเพียงแค่อย่าหมกมุ่นจนไม่หลับไม่นอนจนเสียงานเสียการแค่นั้นเอง
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส