ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตามที่กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายภาษี e-Service หรือกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT for Electronic Service: VES) ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมานั้น

กรมสรรพากรคาดจัดเก็บภาษี e-Service ทั้งปีทะลุเป้าหมื่นล้าน หลัง 5 เดือนแรก จัดเก็บได้กว่า 3,000 ล้านบาท
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

ปัจจุบัน มีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียน VES รวม 127 ราย และมียอดมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวม 60,874.98 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,261.25 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพากรจะเก็บ VES ได้ใกล้เคียง 10,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท

โดยผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศแยกตามประเภทแพลตฟอร์มและบริการสะสม 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ประเภทแพลตฟอร์มและการบริการมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์
(ล้านบาท)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ล้านบาท)
บริการโฆษณาออนไลน์38,421.592,689.51
บริการขายสินค้าออนไลน์ 15,904.131,113.29
บริการสมาชิก เพลง หนัง เกมส์ ฯลฯ5,718.61400.30
บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง528.9637.03
บริการแพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเดินทาง ฯลฯ301.68 21.12
รวม60,874.984,261.25
ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2565

กฎหมายภาษี e-Service เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย และมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1,800,000 บาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ VES บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

ภาษี e-Service นี้ จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์และมีรายได้เกิน 1,800,000 บาท จะต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการออนไลน์เหมือนกันไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากภาษี e-Service จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ภาษีนี้ยังเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศไทย และช่วยสร้างฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า “การจัดเก็บภาษี e-Service ซึ่งเป็นภาษีประเภทใหม่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ครึ่งแรกของปีงบประมาณ (เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) ได้เกินเป้าตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 101,695 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14 แต่อีกส่วนมาจากเครื่องมืออื่น ๆ เช่น Data Analytics ซึ่งมีการนำมาใช้เต็มรูปแบบในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้กรมสรรพากรสามารถระบุกลุ่มสาขาเป้าหมายที่มีศักยภาพได้เพิ่มเติมและตรงเป้ามากขึ้น”

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส