นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ประกาศจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีโลก หรือ The World’s Billionaires ซึ่งภายในลิสต์จะประกอบด้วยผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญ ประจำปี 2565 ทั้งนี้ มีเศรษฐีของไทยติดอันดับดังกล่าวไปถึง 28 ราย โดยมี 10 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ (ไทย) | ชื่อ | ธุรกิจ | มูลค่าทรัพย์สิน | อันดับ (โลก) |
1 | ธนินท์ เจียรวนนท์ | เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) | 13,500 ล้านเหรียญ | 137 |
2 | เจริญ สิริวัฒนภักดี | ไทยเบฟเวอเรจ | 12,000 ล้านเหรียญ | 156 |
3 | สารัชถ์ รัตนาวะดี | กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ | 11,800 ล้านเหรียญ | 161 |
4 | สุเมธ เจียรวนนท์ | เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) | 5,300 ล้านเหรียญ | 509 |
5 | จรัญ เจียรวนนท์ | เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) | 5,200 ล้านเหรียญ | 523 |
6 | มนตรี เจียรวนนท์ | เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) | 5,100 ล้านเหรียญ | 536 |
7 | สมโภชน์ อาหุนัย | พลังงานบริสุทธิ์ | 4,000 ล้านเหรียญ | 728 |
8 | ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ | โรงพยาบาลกรุงเทพ | 3,400 ล้านเหรียญ | 883 |
9 | วานิช ไชยวรรณ | ไทยประกันชีวิต | 3,200 ล้านเหรียญ | 951 |
10 | ชูชาติ – ดาวนภา เพชรอำไพ | เมืองไทยแคปปิตอล | 2,500 ล้านเหรียญ | 1,238 |
สำหรับธุรกิจของเจ้าสัวทั้ง 10 รายข้างต้น สามารถจัดกลุ่มธุรกิจออกมาได้ทั้งหมด 5 ประเภท ที่ดันเจ้าสัวไทยให้ติดอันดับมหาเศรษฐีโลก
1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
แน่นอนว่าอุตสาหกรรมนี้ มีความต้องการอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ก็จะมีการจับจ่ายเพื่อซื้ออาหารมากขึ้น โดยเฉพาะการออกไปกินข้าวนอกบ้านตามร้านอาหารต่าง ๆ ก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
โดยข้อมูลจากสถาบันอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปีที่แล้ว (2564) การส่งออกอาหารไทยมีมูลค่าสูงกว่า 1.1 ล้านบาท ขยายตัวถึง 11.8% จากตลาดจีนที่กำลังการซื้อเริ่มกลับมา
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ปีนี้ (2565) จีนให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลังมีคำสั่งห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดสดใช้หลอดพลาสติก รวมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้อย่างเข้มงวด ทำให้ผู้ประกอบการน่าจะมองหาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ข้อมูลว่า ส่วนมาก 90% เป็นการบริโภคภายในประเทศ โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเริ่มกลับมาขายดีอีกครั้ง หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ร้านอาหารกลางคืน เช่น ผับ บาร์ สามารถกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ เช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่หลายแบรนด์ออกเครื่องดื่มทางเลือกมาในตลาด
2. ธุรกิจพลังงาน
ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้า แม้ว่าค่าไฟฟ้าจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ออกมา ณ ปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าการที่กระทรวงการคลังประกาศลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าลง 40% ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจะทำให้แต่ละครัวเรือนหันมามองถึงการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง และเป็นสัญญาณว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนน่าจะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนค่าไฟฟ้าที่แพงนั้นก็อาจทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหว หันมาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์เซลล์ (Solar Rooftop) มากขึ้น
ส่วนความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กรมธุรกิจพลังงาน รายงานว่าช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมที่ผ่านมา มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.3% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นถึง 13.4% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่กลับมาฟื้นตัวหลังประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ไทยเราเองก็ส่งออกสินค้าได้ดีขึ้นเช่นกัน
3. ธุรกิจการแพทย์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดให้ธุรกิจทางการแพทย์เป็นดาวเด่นของปีนี้ เพราะประชาชนหันมาใส่ใจเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น หลังการระบาดของโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการป้องกัน ที่จะเริ่มเห็นการจับจ่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคมากขึ้นในกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะตลาดอาหารเสริมที่ออแกนิก และอาหารที่ทำจากธรรมชาติ จะได้รับความนิยมค่อนข้างมากในปีนี้ หรือหากเจ็บป่วย ก็มักจะหาข้อมูลดูแลตัวเองในเบื้องต้น รวมถึงซื้อยารักษาโรคผ่านระบบออนไลน์ด้วยตัวเอง
อีกหนึ่งตลาดที่เติบโตต่อเนื่องและคาดว่าจะเติบโตระยะยาวอย่างแน่นอน คือการแพทย์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีทั้งกำลังซื้อและต้องจับจ่ายเพื่อดูแลสุขภาพอย่างแน่นอน รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับความสวยและความงาม โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้มีโอกาสเติบโตขึ้นแน่นอน หากเศรษฐกิจฟื้นตัวในปีนี้ การจับจ่ายในส่วนนี้ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
4. ประกันภัย
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อประกันภัยและประกันชีวิตเพิ่มขึ้น โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ประชาชนมีความเข้าใจและตระหนักเรื่องของสุขภาพมากขึ้น จึงซื้อประกันภัยเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลในอนาคต ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประกันมีจำนวนมากขึ้น หลากหลาย และราคาจับต้องได้ ตอบสนองความต้องการ จึงได้รับความนิยมไม่ยาก
ขณะเดียวกัน การที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการวางแผนเกษียณของคนในยุคปัจจุบัน ทำให้ประกันชีวิตแบบบำนาญและประกันชีวิตควบการลงทุน (หรือ Unit Linked) มีแนวโน้มเติบโตในปีนี้
ทั้งนี้ ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตมีการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาจทำให้กำลังซื้อลดลงในภาวะเงินเฟ้อ จึงถือว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต แต่ก็มีปัจจัยที่ต้องปรับตัวตามกันตลอดทั้งปี
5. ธุรกิจการเงิน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โควิด-19 คือปัจจัยหลักที่ทำให้ระบบการเงินทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ประกอบกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมออนไลน์ ทั้งการโอนและการชำระเงิน ทำให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงการออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาลส่งเสริมการทำธุรกรรมออนไลน์ทั้งสิ้น ส่งผลให้ร้านค้าส่วนมาก ทั้งรายใหญ่และรายย่อยต้องปรับตัว มีคิวอาร์โค้ดแปะที่หน้าร้านเพื่อรับชำระเงินผ่านระบบออนไลน์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจการเงิน คือความปลอดภัยในการใช้บริการ ทุกธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินต้องออกแบบระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย และป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้น
โดยคน Gen Y และ Gen Z เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในตลาดนี้ เพราะรักความสะดวกสบาย แม้กระทั่งการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ก็ออกแบบมาให้เข้าถึงง่ายด้วยปลายนิ้ว จนทำให้มีธุรกิจเฉพาะด้านเกิดใหม่ขึ้นมาตลอด ที่เห็นได้ชัดก็คือธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดอยู่ตลอดเวลา
ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, Forbes
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส