งานประชุมด้านเศรษฐกิจระดับโลก (World Economic Forum) หรือ WEF 2022 จัดขึ้น ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเวทีนี้เป็นเวทีระดับโลกที่รวมตัวเหล่าผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชน มาหารือกันเพื่อกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อประชาคมโลก

หนึ่งในตัวแทนจากประเทศไทยคือ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ขึ้นแสดงความคิดเห็นในการสนับสนุนนโยบายสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) โดย ดร.เศรษฐพุฒิ เปิดเผยว่า ธปท. ได้เริ่มโครงการเพื่อพิสูจน์แนวคิดสกุลเงินดิจิทัลที่ออกใช้ระหว่างสถาบันการเงิน หรือ Wholesale CBDC มาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (แฟ้มภาพ)

โครงการดังกล่าวเรียกว่า ‘mBridge’ ซึ่งเริ่มต้นจากการทดลองการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงินข้ามพรมแดนกับธนาคารกลางฮ่องกง จากนั้นก็ขยายมาทดลองกับธนาคารแห่งประชาชนจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ตามลำดับ ซึ่งการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยใช้ CBDC นั้นเร็วกว่าการใช้เทคโนโลยีธนาคารแบบดั้งเดิม ที่อาจใช้เวลาหลายวันกว่าจะเสร็จสมบูรณ์

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นมีข้อดีในเรื่องความโปร่งใส แต่ก็ยังมีความท้าทายเรื่องการไม่เปิดเผยตัวตนที่อาจกระทบความสามารถของระบบในการรองรับปริมาณธุรกรรม และนั่นเป็นความเสี่ยงในการออกแบบ CBDC เนื่องจาก Smart contracts จะถูกกำหนดให้ระบุการจัดการทุกสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ยังยกตัวอย่างกรณีการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และเป็นตัวอย่างของความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในการออกแบบ CBDC

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ ยังกล่าวอีกว่า ธปท. เตรียมดำเนินโครงการนำร่องสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดย ธปท. หรือ Retail CBDC ในวงจำกัด ภายในไตรมาส 4 ปีนี้

นอกเหนือจากการสนับสนุนนโยบายสกุลเงินดิจิทัลของ ดร.เศรษฐพุฒิ แล้ว ผู้เข้าร่วมงานประชุม WEF 2022 ต่างเห็นตรงกันว่า การออกสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง หรือ CBDC นั้น เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำธุรกรรมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ เราอาจจะได้เห็นการใช้ CBDC ระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ การออกสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง มีข้อดีที่ชัดเจนคือ CBDC มีต้นทุนที่ถูกกว่า 50% และเร็วกว่าเทคโนโลยีการโอนเงินในปัจจุบันถึง 68% ซึ่งปัจจุบัน ค่าธรรมเนียมเฉลี่ยสำหรับการโอนประเภทนี้คือ 6.3% ของยอดรวมธุรกรรม

ที่มา: COINTELEGRAPH

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส