ตลาด NFT เรียกว่าเติบโตพุ่งสูงทะลุเพดาน สร้างงานศิลปะราคาพันล้านและเงินสะพัดหลักหมื่นล้านต่อวัน ความผันผวนและราคาที่อลังการสำหรับสินทรัพย์ที่หลายคนในโลกยังไม่เข้าใจแบบนี้ และการที่คนมากมายแห่กันไปซื้อขายจนเป็นกระแส มันคือฟองสบู่หรือเปล่า? ราคาที่ซื้อขายกันอยู่คือมูลค่าที่แท้จริง หรือเป็นเพียงการเก็งกำไร? ในบทความนี้เรามาวิเคราะห์ดูกัน
NFT หรือ Non-Fungible Token คือนวัตกรรมในการแปลงไฟล์ดิจิทัลให้ขึ้นไปอยู่บนบล็อกเชน เพื่อให้สามารถยืนยันความเป็นหนึ่งเดียว และยืนยันความเป็นเจ้าของของไฟล์นั้นได้ ซึ่งผู้สร้างก็สามารถใช้ประโยชน์จากความเป็นหนึ่งเดียวนั้นในการสร้างมูลค่าให้ผลงานของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ เพลง หรือไฟล์ทั่วไปต่าง ๆ โดยผู้ซื้อก็จะได้กรรมสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของไฟล์หนึ่งเดียวนั้นไป
ในช่วงที่ผ่านมา NFT ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีหลายชิ้นที่ขายไปได้ในราคาหลักล้าน และบนแพลตฟอร์มการซื้อขายขนาดใหญ่อย่าง Opensea ก็มีปริมาณการซื้อขายถึง 14,000 ล้านเหรียญ ในปี 2021 ที่ผ่านมา (ประมาณ 500,000 ล้านบาท)
ยกตัวอย่างผลงาน NFT ที่หลายคนคงเคยได้ยินคือ Everydays: The First 5000 Days ของ Beeple ที่เป็นภาพรวบรวมผลงาน 5,000 ชิ้น ที่เขาลงบนโซเชียลมีเดียของเขาเองมาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งปิดประมูลไปที่ 69.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 2,300 ล้านบาท)
หรือคอลเล็กชันรูปลิงสุดโด่งดังอย่าง Bored Ape Yacht Club ที่ประกอบไปด้วยรูปลิงหน้าตาเบื่อหน่าย 10,000 ภาพ ที่เคยมีการซื้อขายที่ราคาสูงสุดถึงภาพละ 15 ล้านบาท (อ้างอิงราคาเหรียญ Ethereum ที่ราคาประมาณ 100,000 บาท ณ เวลานั้น)
หรือจะเป็นฟองสบู่?
ด้วยปริมาณการซื้อขายจำนวนมหาศาลและราคาที่พุ่งสูงจนดูเหมือนไม่สมเหตุสมผล ทำให้หลายคนสงสัยว่าราคาของ NFT ที่เรากำลังเห็นกันอยู่ตอนนี้ อาจไม่ใช่ราคาจริง แต่เป็นเพียงราคาที่ถูกปั่นขึ้นมาด้วยกระแสเท่านั้น และตลาด NFT อาจกำลังอยู่ในภาวะฟองสบู่
คริส เบอร์รอน (Chris Burron) ผู้บริหารองค์กรประเมินงานศิลปะในลอนดอน บอกว่า การที่ NFT ราคาสูงขนาดนี้มาจากเศรษฐีหน้าใหม่ที่ร่ำรวยจากเหรียญคริปโท ซึ่งมีราคาสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา และเขาไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร เนื่องจากยังไม่มีแรงจูงใจในการเปลี่ยนเงินดิจิทัลที่มี ให้เป็นเงินเฟียต (Fiat Money) จำนวนมากขนาดนั้น เศรษฐีหน้าใหม่เหล่านี้จึงเอาเงินจำนวนมากไปซื้อ NFT จนทำให้ราคา NFT ขึ้นสูงมากในสายตาของคนทั่วไป และดึงดูดผู้คนเข้าไปในตลาดมากขึ้น
เมื่อมีการซื้อขายในราคาสูงมากขึ้น ผู้คนก็เริ่มเชื่อว่ามันสามารถทำกำไรได้ การเก็งกำไรจึงเกิดขึ้น และนั่นหมายความว่า ผู้คนในตลาดซื้อขายอะไรบางอย่างเพื่อมุ่งทำกำไรเป็นหลัก โดยไม่ได้สนพื้นฐานของสินทรัพย์นั้น ๆว่ามันคืออะไร ทำไมจึงมีราคาสูงขึ้น ทำให้สภาวะตลาดในตอนนี้ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับวิกฤตดอกทิวลิป เมื่อปี 1637 ซึ่งเป็นภาวะฟองสบู่ครั้งแรกของโลกที่เกิดจากการเก็งกำไรดอกทิวลิปจนราคาสูงเกินจริง
ทฤษฎีคนโง่กว่า
หลักการนี้เรียกว่า “Greater Fools Theory” หรือ “ทฤษฎีคนโง่กว่า” ถ้าเรียกเป็นภาษาที่คุ้นเคยก็คืออาการ “กลัวตกรถ” โดยคนที่ซื้อเชื่อว่าราคาจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็เลยยอมควักเงินซื้อสินทรัพย์ถึงแม้ว่าราคาจะแพง เพราะเชื่อว่าจะมีคนยอมซื้อที่ราคาสูงขึ้นไปอีก และเมื่อมีคนคิดแบบนี้เยอะ ราคาก็เลยขึ้นสูงไปเรื่อย ๆ เป็น “ฟองสบู่” จนเมื่อถึงราคาจุดที่คนไม่คิดจะซื้ออีกต่อไป ก็เลยเกิดการเทขายที่ราคาถูกลงมาเรื่อย ๆ เพื่อยอมเอาเงินทุนคืนไม่มากก็น้อยจากที่ยอมซื้อแพง ๆ ไป
จุดนี้เองที่ถือเป็นจุดหนึ่ง ที่เราสามารถหาความเชื่อมโยงระหว่าง NFT และดอกทิวลิปในปี 1637 ได้ ซึ่งก็คือการที่คนในตลาดส่วนมากซื้อขายกันตามกระแส เพราะเชื่อว่าราคาจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อีก โดยที่ไม่ได้เข้าใจในตัวสินทรัพย์มากไปกว่าการเก็งกำไร
ใคร ๆ ก็ทำได้
อีกหนึ่งความเสี่ยงของ NFT คือการที่ใคร ๆ ก็สามารถมี NFT เป็นของตัวเองได้ ความอิสระและไร้ตัวกลางนี้มีข้อดีตรงที่ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงโลกแห่งอนาคตได้อย่างง่ายดาย แต่มันก็เปิดโอกาสให้คนใช้เป็นช่องทางในการหาเงินอย่างว่องไว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดขาย NFT ในช่วงที่ผู้คนกำลังกลัวการตกรถเพื่อกอบโกยเงิน หรือขโมยภาพของคนอื่นมาตั้งขาย โดยทำให้ผู้ซื้อคิดว่าเป็นศิลปินตัวจริงและภาพจะมีราคา เมื่อตลาดเต็มไปด้วยผู้ซื้อและผู้ขายที่มองแต่เรื่องเงิน โดยที่ไม่เข้าใจพื้นฐานของสิ่งที่กำลังซื้อขาย นี่จึงเป็นความเสี่ยงที่ตลาดจะกลายเป็นการเก็งกำไรโดยสมบูรณ์และเกิดภาวะฟองสบู่ในที่สุด
การกระจายสู่คนทั่วไป
แน่นอนว่างาน NFT ชิ้นดัง ๆ ที่ซื้อขายกันในราคาแพง ๆ นั้น ถึงแม้จะราคาสูง แต่ก็เป็นการซื้อขายกันแค่ในวงคนมีฐานะเท่านั้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถควักเงินหลักล้านในการซื้อรูปภาพเพื่อเก็งกำไรได้ แต่สิ่งนั้นก็ไม่สามารถหยุดความต้องการของตลาดที่อยากจะมีส่วนร่วมในขบวนรถนี้ จึงทำให้การเก็งกำไรแพร่กระจายไปสู่ชนชั้นกลางด้วยการเข้าซื้อ NFT ที่มีมูลค่าในระดับที่ตัวเองพอเอื้อมถึง และหวังว่าราคามันจะสูงขึ้นไปอีกเหมือนกันรูปภาพดัง ๆ ที่เคยเห็นมา
ยกตัวอย่างคอลเล็กชัน Wall Street Bulls ซึ่งเปิดขายที่ราคาประมาณ 6,900 บาท (อ้างอิงราคาเหรียญ Ethereum ที่ประมาณ 100,00 บาท ในเวลานั้น) และสามารถขายจนหมดเกลี้ยง 10,000 ภาพ ภายใน 32 นาที และมีคนตั้งราคาขายที่ 2-3 เท่าทันทีหลังจากที่ซื้อ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าความต้องการในตลาดนั้นมีอยู่มาก และมันก็ได้กระจายไปสู่คนทั่วไปที่อยากเข้ามาเก็งกำไรในตลาด และได้ส่วนแบ่งจากเงินที่มากมายเหล่านั้นด้วย
ฟังดูแล้วก็อาจจะคล้ายคลึงกับตลาดดอกทิวลิปในสมัยนั้น ที่ดอกราคาแพง ๆ สวย ๆ ถูกซื้อขายในหมู่คนมีอันจะกิน แต่กระแสความนิยมก็แพร่มาถึงคนทั่วไป ทำให้ความต้องการของดอกทิวลิปเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ปีเตอร์ เอ็ม การ์เบอร์ (Peter M. Garber) ผู้แต่งหนังสือ ‘The Famous First Bubbles: The Fundamentals of Early Manias’ ได้เรียกสภาวะตลาดทิวลิปว่า “เป็นเพียงการพนัน” และ “ไม่ยั่งยืน”
ไม่ใช่ NFT ทุกชิ้นที่จะเป็นที่นิยม
แม้ความต้องการในตลาดจะมีอยู่มาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า NFT ทุกชิ้นจะขายออกเสมอไป เพราะบางคอลเล็กชันที่เปิดตัวออกมาก็เงียบกริบ ไม่มีคนสนใจ หรือบางคอลเล็กชันที่ผู้คนซื้อมา แต่ขายไม่ออก หรือขายต่อได้ในราคาที่เรียกว่าขาดทุนย่อยยับเลยก็มี
ยกตัวอย่าง NFT ของ ชอว์น เมนเดส (Shawn Mendes) นักร้องชื่อดัง ที่ถึงแม้ว่าจะขายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็วภายใน 10 นาที แต่ ณ ปัจจุบันราคาก็ตกลงมาจากวันที่เปิดขายกว่าครึ่ง เพราะไม่ใช่ทุกชิ้นที่จะสามารถซื้อมาเก็งกำไรได้เสมอไป ในกรณีนี้คนที่ชื่นชอบในตัวศิลปินและซื้อมาเก็บสะสมก็คงไม่กระทบอะไรเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นนักเก็งกำไรที่สนใจแต่ราคาก็คงเรียกได้ว่าติดดอยกันหนัก ๆ
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตลาด
เพราะฉะนั้น ในกระแส NFT ที่ยังคงพุ่งทะยานอยู่เรื่อย ๆ ในตอนนี้ ก็ไม่ได้ดูว่าจะมีแต่ขึ้นกันถ้วนหน้าเสมอไป แต่จะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มที่ยังคงขึ้นอยู่เรื่อย ๆ และมีมูลค่ามหาศาล และกลุ่มที่ไม่มีใครสนใจและแทบจะไม่มีมูลค่าอะไรแล้ว
ส่วนทางฝั่งของผู้ซื้อก็สามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มได้เช่นกัน คือกลุ่มที่ซื้อเก็บเพื่อความพึงพอใจ เหมือนกับคนที่ไม่เจ็บปวดจากการที่ราคา NFT ของเมนเดสร่วงลง กับกลุ่มคนที่ซื้อเพื่อเก็งกำไร ซึ่งก็คือคนที่เดิมพันกับการขึ้นลงของราคา NFT ที่ตัวเองซื้อ โดยไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่ซื้อไปคืออะไรนัก
จะเห็นได้ว่าสินทรัพย์หนึ่งจะเป็นฟองสบู่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดเป็นหลัก ถ้าตลาดเต็มไปด้วยนักเก็งกำไร คนที่จ่ายเงิน เพราะคิดว่าจะมีคนยอมจ่ายเยอะกว่า ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าราคาที่เห็นกันอยู่นั้นไม่ใช่ราคาที่แท้จริง หากแต่ว่าเป็นราคาที่ความโลภของตลาดพาไป
กลับกัน ถ้าตลาดประกอบไปด้วยคนที่เข้าใจพื้นฐานของสินทรัพย์นั้นเป็นส่วนใหญ่ การซื้อขายและการเก็งกำไรจะเกิดขึ้นน้อย และมูลค่าของสินทรัพย์นั้นจะสูงขึ้นหรือลดลงตามมูลค่าที่คนมองเห็นมันจริง ๆ ไม่ใช่เพียงการเก็งกำไรจากความเชื่อ
เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่า NFT จะเป็นฟองสบู่หรือไม่ก็ตาม แก่นหลักของมันก็คือการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและการยืนยันความเป็นเจ้าของให้กับไฟล์ดิจิทัล ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างหนึ่งที่อาจจะมาพัฒนาวิธีการจัดเก็บ ส่งมอบ และสืบสวนที่มาของไฟล์ดิจิทัลต่าง ๆ ในอนาคตให้ง่ายขึ้น และอาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ ในโลก ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถพัฒนาไปในด้านไหนให้เราเห็นได้บ้าง
การลงทุนใน NFT
ส่วนในเรื่องของการลงทุน ก็คงเห็นได้ว่าสภาวะตลาดในตอนนี้เต็มไปด้วยนักเก็งกำไรอยู่มาก ไม่ต่างอะไรจากตลาดคริปโทเคอรร์เรนซี เนื่องจาก NFT นั้นเป็นสินทรัพย์ที่ขึ้นอยู่กับสกุลเงินคริปโทนั้น ๆ โดยตรง เพราะฉะนั้น ถึงแก่นหลักของมันจะดูมีประโยชน์และเป็นส่วนสำคัญของอนาคต ก็ไม่ได้หมายความว่า NFT ทุกตัว เหรียญทุกเหรียญ จะมีชีวิตอยู่รอดไปจนถึงอนาคตกับเรา เหมือนบทเรียนช่วงวิกฤติดอทคอม ที่ถึงแม้อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ แต่ไม่ใช่ทุกบริษัทที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในสมัยนั้นที่อยู่รอดมาได้ คนที่ลงทุนในบริษัทที่ถูกต้องในสมัยนั้น ก็ได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากมันในปัจจุบัน การลงทุนจึงต้องศึกษาพิจารณาให้ดี ลงทุนด้วยความเข้าใจในสินทรัพย์ และยอมรับในความเสี่ยงที่อาจจะตามมา
ที่มา: The Art Newspaper, The New York Times, Business2Community, CNBC, EverydayMarketing, INSIDER, Cryptobriefing
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส