15 มิถุนายน MicroStrategy ออกมาปฏิเสธว่ายังไม่โดนเรียกหลักประกันเพิ่ม (Margin call) จากการกู้เงินโดยใช้บิตคอยน์ที่ถือครองเป็นหลักทรัพย์ประกัน และถ้าจำเป็นบริษัทก็มีหลักทรัพย์เพิ่มเติมมากมายที่จะนำมาวางค้ำประกันได้
บริษัทยังเผยว่าสามารถนำบิตคอยน์ที่ถือครองเข้าเติมเพื่อรักษาอัตราส่วนเงินกู้ต่อมูลค่าหลักประกันได้เสมอ แม้ในราคาปัจจุบัน (จะลดลงหนัก) บริษัทยังคงมีบิตคอยน์ที่ไม่ได้ใช้เป็นหลักประกันเพียงพอที่จะนำมาเติมให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญาเงินกู้
เดือนพฤษภาคม MicroStrategy ได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2022 และเผยว่าตอนนี้ได้เป็นบริษัทที่ถือครองบิตคอยน์มากที่สุดในโลกที่ 129,218 BTC
29 มีนาคม MacroStrategy บริษัทในเครือของ MicroStrategy ได้กู้เงินที่กำหนดเวลาชำระเงินต้นจากธนาคาร Silvergate ด้วยจำนวนเงิน 205 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (6,875 ล้านบาท) เพื่อนำเงินไปซื้อบิตคอยน์โดยการใช้บิตคอยน์ที่บริษัทถือครองอยู่มาเป็นหลักทรัพย์ประกัน
ต่อมาเดือนเมษายน MicroStrategy เผยว่าได้ซื้อบิตคอยน์ประมาณ 4,167 เหรียญด้วยเงินทุนมูลค่าประมาณ 190.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (6,366 ล้านบาท) ที่ราคาซื้อเฉลี่ยประมาณ 45,714 USD/BTC (1,527,761 บาท/บิตคอยน์) ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่บิตคอยน์ลดลงมาที่ระดับ 45,000 เหรียญสหรัฐฯ (1,500,000 บาท)
เดือนพฤษภาคมในช่วงที่บิตคอยน์ราคาลดลงมาประมาณ 30,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1 ล้านบาท) ไมเคิล เซย์เลอร์ (Michael Saylor) ซีอีโอของ MicroStrategy ได้ทวีตว่าบริษัทมีเงินกู้ระยะยาวอยู่ 205 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจำเป็นต้องรักษาเงิน 410 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (14,339 ล้านบาท) ไว้เป็นหลักทรัพย์ประกัน (มากกว่าเงินกู้ถึง 2 เท่า) ซึ่งบริษัทมีบิตคอยน์ 115,109 BTC ที่สามารถนำมาวางค้ำประกันได้ และต่อให้บิตคอยน์ลงมาต่ำกว่า 3,562 เหรียญสหรัฐฯ (124,582 บาท) ก็สามารถใช้หลักประกันอื่นๆ มาเพิ่มเติมได้
ในเดือนเดียวกัน เซย์เลอร์เผยว่าหากบิตคอยน์ลดลงต่ำกว่า 21,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 734,580 บาท) บริษัทอาจจะโดนเรียกหลักประกันเพิ่มเติมเพื่อรักษาเงินกู้
14 มิถุนายนที่ผ่านมา บิตคอยน์ได้ร่วงลงมาต่ำกว่าระดับ 21,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนักลงทุนต่างมีความกังวลว่า MicroStrategy อาจจะโดนเรียกหลักประกันเพิ่มและมีความเสี่ยงที่เงินกู้จะถูกชำระบัญชีหากบิตคอยน์ร่วงลงมาหนักกว่านี้
ที่มา : reuters, cryptopotato และ cnbc
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส