ข่าวใหญ่ในแวดวงค้าปลีกล่าสุด คือ ธนาคารกสิกรไทย ได้แถลงความร่วมมือกับทางบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว ในการร่วมพัฒนา ‘ร้านถูกดี มีมาตรฐาน’ ให้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อที่เป็นศูนย์กลางชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ถ้าใคร ๆ เริ่มอ่านถึงตรงนี้ คงจะสงสัยกันว่า ทำไมธนาคาร อย่างธนาคารกสิกรไทย ถึงได้ตัดสินใจจับมือกับทางบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาวได้ แล้วทั้ง 2 แบรนด์เกี่ยวข้องอย่างไรกันล่ะเนี่ย วันนี้เรามา #beartai กันครับ !
รูปแบบวิถีชีวิตในการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคของผู้คนในชุมชนเป็นอย่างไร ?
ต้องเล่าปูพื้นกันก่อนว่า คนที่อยู่ในระดับชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล หรือบางครั้งก็เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงยากเช่นภูเขา รูปแบบการซื้อของอุปโภคบริโภคจะไม่มีร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก อาจจะด้วยทำเล หรือตำแหน่งที่ตั้งที่ไม่อำนวยมากพอจะสร้างร้านค้าเหล่านี้ ทำให้ช่องทางในการซื้อขายของนั้นจะอยู่ในร้านค้าระดับเล็ก หรือร้านค้าที่ประชาชนเป็นผู้รวบรวมสินค้ามาจัดจำหน่ายเอง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘ร้านสะดวกซื้อ’ เป็นส่วนมาก
รูปแบบการขายสิ้นค้าภายในร้านค้าโชห่วยนั้นจะมีสินค้าอุปโภค บริโภคแบบครบถ้วนภายในร้านเดียว ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ในการทำงานบ้าน ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ไปจนถึงสินค้าบริโภคอย่างน้ำดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และข้าวสาร อยู่ในรูปแบบ One-Stop Service หรือครบ จบในที่เดียว ที่ผู้คนในชุมชนสามารถเขาไปซื้อสินค้าได้ในร้านเดียว
ร้านโชห่วย สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนรากฐานได้อย่างไร
ถ้าเราลองสังเกตดี ๆ จะพบว่ารูปแบบของระบบนิเวศ (Ecosystem) ในการซื้อของภายในชุมชนนั้นจะอยู่กับการเข้าไปซื้อของในร้านโชห่วย เพื่อเติมของใช้ภายในบ้านอยู่ตลอด ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อคนในชุมชน มีความต้องการจะซื้อสินค้าเพียงเล็กน้อย แทนที่จะเดินทางไกลจากบ้าน เพื่อซื้อของในห้างสรรพสินค้า ก็จะตัดสินใจเลือกเดินเข้าโชห่วยแทน เพราะโชห่วยใกล้บ้านมากกว่า ส่วนในพื้นที่ห่างไกล ร้านโชห่วยก็จะเป็นทางเลือกแรก ๆ ของคนในชุมชนเลย
ซึ่งวงจรการซื้อของใช้ภายในร้านโชห่วยมาเติมในครอบครัว เมื่อใช้หมดก็จะมาซื้อของเพิ่มที่ร้านเดิม ร้านโชห่วยจึงเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของชุมชนในการเข้ามาจับจ่ายใช้สอย และใช้บริการต่าง ๆ โดยที่ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน ดังนั้นร้านโชห่วยจึงมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้
‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ เป็นคลื่นความเปลี่ยนแปลงธุรกิจค้าปลีกไทยได้อย่างไร
‘ร้านถูกดี มีมาตรฐาน’ เป็นโครงข่ายร้านสะดวกซื้อชุมชน ภายใต้การบริหารงานของนายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด
โดยนายเสถียรเล่าว่า เขามีแนวคิดในการยกระดับมาตรฐานร้านค้าปลีก หรือร้านโชห่วยทั่วไป ให้ทันสมัยด้วยความรู้ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการร้าน เช่น การรับสินค้า การเช็คสต็อก การรู้รายรับ-รายจ่าย การชำระเงิน โดยมีเครื่อง Point of sale (POS) ที่เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ในร้าน รวมไปถึงระบบหลังบ้าน เช่น คลังและการขนส่ง เป็นต้น ปัจจุบันมีร้านถูกดี มีมาตรฐาน เปิดแล้วกว่า 5,000 ร้านค้าทั่วประเทศ และตั้งเป้าว่าจะขยายเพิ่มเป็น 10,000 ร้านค้าภายในสิ้นปีนี้ และจะเพิ่มให้ถึง 30,000 ร้านค้าภายในสิ้นปี 2567
ระบบของร้านถูกดี มีมาตรฐาน จะเป็นการอัปเกรด ทำให้ร้านโชห่วยเป็นศูนย์กลางชุมชน ในการซื้อสินค้าและใช้บริการต่าง ๆ โดยในปัจจุบันนี้ร้านถูกดี เพิ่มระบบสมาชิกถูกดี และ ระบบสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า (Pre-Order) หรือบริการ ถูกดี สั่งได้ และการวางแผนที่จะเพิ่มระบบซื้อก่อน-จ่ายทีหลัง และสินเชื่อดิจิทัล อีกด้วย
นายเสถียร บอกถึงเป้าหมายว่า การพัฒนาร้านถูกดี มีมาตรฐาน ว่า ทั้งหมดนี้ จะทำให้ร้านถูกดี มีมาตรฐาน เป็นเสมือน ‘แพลตฟอร์ม’ และ ‘โครงข่าย’ ที่เชื่อมโยงกันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนทั่วประเทศ เชื่อมต่อผู้ผลิตและผู้ให้บริการต่างๆ ที่คนในชุมชนเคยเข้าถึงได้ยาก เช่น ให้บริการทางการเงิน เป็นจุดรับส่งสินค้าระหว่างชุมชนหรือระหว่างจังหวัด ฯลฯ ตั้งเป้าให้ ‘ร้านถูกดี มีมาตรฐาน’ เป็น ‘โซลูชั่น’ ที่จะเข้าไปตอบโจทย์และเพิ่มความสะดวกให้คนในชุมชน ทำให้การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทั่วประเทศง่ายขึ้น
ที่ผ่านมา ร้านค้าโชห่วยมักจะมีปัญหาเงินทุนหมุนเวียนในร้าน เนื่องจากยังไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดี และขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุน ขณะที่ฝ่ายลูกค้าที่มาซื้อขายซึ่งอาศัยอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ร้านค้าโชห่วยก็จะมีระบบที่เรียกว่า ‘การเซ็น’ หรือการลงบัญชีเอาไว้กับเจ้าของร้าน เพื่อจะเอาสินค้าไปใช้ก่อน และให้มีการชำระค่าสินค้าต่อในภายหลัง ซึ่งถือเป็นระบบการกู้ยืมเงินในระดับที่เล็กที่สุดเลยก็ว่าได้ นายเสถียรเล่าว่า เจ้าของร้านโชห่วย จะเป็นผู้ที่ร่วมตัดสินใจได้ว่าผู้ที่มากู้ยืมเงินเพื่อซื้อสินค้าในร้านนั้นมีเครดิตที่ดีพอที่จะสามารถเข้ามากู้ยืมเงินได้หรือไม่
ส่วนนี้เองที่ทาง ‘ร้านถูกดี มีมาตรฐาน’ ยังไม่พร้อมด้านเงินทุนที่จะให้บริการ จึงได้มีการร่วมมือกับทางธนาคารกสิกรไทย (KBank) เพื่อพัฒนาบริการการเงินที่ตอบโจทย์ผู้คนที่อยู่ในวงจรของร้านถูกดี มีมาตรฐาน ตั้งแต่เจ้าของร้าน คู่ค้า และชาวบ้านในชุมชน
KBank จะเข้ามาสนับสนุนผู้คนทั้งวงจรของร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ ได้อย่างไร
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เล่ารายละเอียดความร่วมมือกับ ทีดี ตะวันแดง โดย KBank จะร่วมลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนที่สนใจเปิดร้านมีโอกาสเป็นเจ้าของ และทำให้คนในชุมชนได้ใช้บริการการเงินและสินเชื่อครบวงจร โดยการลงทุนของธนาคารประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1) ร่วมลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด 2) ให้วงเงินกู้สำหรับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาวและบริษัทร่วมทุนที่ชื่อ เคบาว (kbao) และ 3) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนในชื่อ kbao (เค บาว) เพื่อให้บริการสินชื่อเต็มรูปแบบผ่าน ‘ร้านถูกดี มีมาตรฐาน’ อีกด้วย
สิ่งที่ KBank ทำอยู่เรียกว่า Financial Inclusion คือ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและได้ใช้บริการทางการเงินให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เพราะธุรกรรมการเงินพื้นฐานในชีวิตประจำวันของผู้คน เป็นกลไกเบื้องต้นที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น โดยมีโจทย์ 2 เรื่องที่เป็นเป้าหมายของ KBank เรื่องแรกคือ ยังมีพื้นที่ห่างไกลตัวเมืองที่สาขาธนาคารยังเข้าไปไม่ถึง เช่น หมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ทำให้เมื่อพวกเขาต้องการทำธุรกรรมการเงินพื้นฐาน เช่น ฝาก/ถอน เปิดบัญชี ต้องเสียเวลาเดินทาง บางส่วนก็ไม่คุ้นเคยกับโมบาย แบงค์กิ้ง เรื่องที่สองคือ ยังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีบัญชีธนาคาร ไม่มีรายได้ประจำ/ไม่มีสลิปเงินเดือน ทำให้พวกเขาค่อนข้างเดือดร้อนเมื่อต้องการเงินทุนสนับสนุนในการค้าขาย หรือเงินกู้จำนวนไม่มากเพื่อเอาไปใช้จ่ายชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งหนี้นอกระบบ
นายพัชร บอกว่า สิ่งที่ KBank พยายามทำ คือสิ่งที่จะช่วยเหลือให้สภาพคล่องของร้านค้าดีขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้านค้าได้มากขึ้น ซึ่งแม้จะมีผู้ที่บอกว่า การปล่อยสินเชื่อต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการศึกษาเครดิตของผู้ขอสินเชื่อต่าง ๆ ก่อนมากมาย แต่ถ้าเรามองลงไปแบบง่าย ๆ ว่าถ้าให้ยืมเงินแล้ว คนยืมจะคืนหรือไม่ เรื่องเครดิตอาจจะไม่ต้องลงลึกมากก็ได้ ซึ่งเจ้าของร้านโชห่วยเองก็พอจะมีข้อมูลอยู่แล้วแน่นอน ว่าลูกค้าที่มาซื้อของนั้น ใครมีความสามารถพอที่จะกู้ และนำเงินมาคืนได้
นายเสถียร เสริมว่าเงินในการซื้อสินค้าที่สามารถขอสินเชื่อแทนได้ จะสามารถนำไปหมุนเวียน ให้นำไปซื้อสิ่งที่จำเป็นอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่นเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือเงินไปโรงเรียนของลูกได้ เป็นต้น และวิธีเลือกอนุมัติปล่อยกู้ ก็มาจากทั้งความรู้สึกของเจ้าของร้าน และระบบสมาชิกของร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่จะเก็บข้อมูลว่าเคยสมัครสมาชิกไหม ใช้จ่ายอย่างไรบ้าง และเหมาะสมที่จะปล่อยกู้หรือไม่ และเจ้าของร้านก็พร้อมที่จะรับความเสี่ยงไว้ด้วย
โดยสรุปแล้ว ทางธนาคารกสิกรไทยได้มีแผนดำเนินการร่วมกับ ทีดี ตะวันแดง ทั้งหมด 3 ด้าน คือ
- ส่งเสริมศักยภาพของร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ ให้เป็นร้านสะดวกซื้อชุมชนที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยใช้มีระบบการชำระเงินต่างๆ
- เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค้าขายต่างๆ โดยธนาคารนำข้อมูลการจับจ่ายในชีวิตประจำวันมาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ประจำ หรือเจ้าของร้านค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนภายในร้าน
- เป็นจุดให้บริการธุรกรรมการเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันกับคนในชุมชน เช่น บริการถอนเงิน จ่ายบิล เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มบริการดิจิทัลต่างๆ เช่น การสแกนจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ด ซึ่งคนในชุมชนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยแล้ว เป็นผลจากนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในช่วงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างเช่น คนละครึ่ง เป็นต้น
อนาคตของโชห่วยในประเทศไทย
นายเสถียร ได้อธิบายในช่วงท้ายของงานแถลงข่าวว่า การซื้อสินค้าผ่านระบบ E-Commerce (ซื้อของออนไลน์) นั้นมีการขยายตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนี่เป็นโจทย์ให้กับทาง ‘ร้านถูกดี มีมาตรฐาน’ ว่าจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง แผนการของทีดี ตะวันแดง จะเริ่มจากพื้นที่ที่มีการขายสินค้าอยู่แล้ว เช่นร้านโชห่วย ไปเป็นกระดูกสันหลังของการพัฒนา E-Commerce อย่างเช่นการทำระบบ Pre-Order ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มบริการอื่น ๆ เข้าไป อย่างเช่นระบบธนาคารที่ได้ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย สร้าง Digital Platform ที่สร้างขึ้นมาบนความเป็นจริงของสังคมไทย บนสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นการพัฒนาขึ้นมาจากฐานราก จากคนเล็กคนน้อยก่อนนั่นเอง
ในขณะเดียวกัน นายพัชรก็ได้กล่าวสรุปต่อมาว่า ทาง KBank เอง ก็ได้ร่วมพัฒนาระบบร้านโชห่วยให้พัฒนาไปได้ ควบคู่กับการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และหวังว่าจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของกลุ่มคาราบาว และทางทีดี ตะวันแดงด้วย