กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2566 เน้นให้ความสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ทั้งในองค์กรตลอดจนพันธมิตรและลูกค้า โดยปีนี้เป็นปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบันปี 2564 – 2566 ที่กรุงศรีมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การเป็น “สถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน” ผ่านกลยุทธ์สามด้าน ได้แก่

  • การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-Linked Business) ผ่านนวัตกรรมบริการด้านการเงิน
  • การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนตามโมเดล ESG (ESG-Linked Business) เพื่อเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดของประเทศไทย
  • การเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจการเงินเพื่อความยั่งยืน และการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital & Innovation) ด้วยการเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อลูกค้าทั้งในประเทศไทยและอาเซียน

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า “ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่นเรื่องของการเชื่อมโยงโครงข่ายในอาเซียนสู่ตลาดหลัก ๆ ในภูมิภาค การเติบโตอย่างแข็งแกร่งแม้ในช่วงท้าทายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ความยืดหยุ่นในการปรับตัว และพัฒนาการที่สำคัญสู่เป้าหมายด้าน ESG สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2564-2565 ที่เราเชื่อมั่นว่าจะเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งให้กรุงศรีสามารถเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนเพื่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และในปีนี้จะเป็นปีที่ทุกคนจะได้เห็นการยกระดับตำแหน่งของกรุงศรีในอาเซียน ในการดำเนินธุรกิจบนแนวทาง ESG และในการต่อยอดความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของธุรกิจ”

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน)

ยกระดับสู่อาเซียน

ในช่วงสองปีแรกของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน กรุงศรีได้ยกระดับโครงข่ายอาเซียนอย่างแข็งแกร่งด้วยการขยายกิจการในต่างประเทศทั้งในประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ขณะที่ธุรกิจในประเทศกัมพูชา และสปป.ลาว ก็ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ดี ส่งผลให้กรุงศรีสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 150,000 ราย ผ่านการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) และการร่วมเป็นพันธมิตร (Partnership)

นอกจากนี้ กรุงศรียังได้ขยายกิจการไปทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือทางธุรกิจกับ SB Finance ประเทศฟิลิปปินส์ และ SHB Finance ในประเทศเวียดนาม ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงในประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง สถานะของ Hattha Bank ในประเทศกัมพูชาเองก็มีการยกระดับขึ้นสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์  ในด้านภาพรวมผลประกอบการ กรุงศรีมีรายได้สุทธิจากการดำเนินธุรกิจในอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2563 เป็น 6% ในปี 2565

ยกระดับสถานะของกรุงศรีในด้านความยั่งยืน (ESG)

ด้วยเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย กรุงศรีประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 โดยธนาคารจะยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ในปี 2566 นี้ด้วยการสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านและดำเนินงานตามแนวทาง ESG ผ่านหลากหลายโครงการสำหรับลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ในส่วนของภาคธุรกิจ ยังรวมถึงการให้เงินสนับสนุนกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงาน เช่น หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์  จุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และพลังงานทดแทน 

อีกทั้งสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน สินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสีเขียว ธุรกิจเพื่อสังคม และธุรกิจเพื่อความยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ  ในส่วนของรายย่อย การให้สินเชื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า  การให้สินเชื่อที่รับผิดชอบต่อสังคม และกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG จะได้รับการเสนอให้กับลูกค้า  ภายใต้การประกาศวิสัยทัศน์ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของกรุงศรี ธนาคารมีเป้าหมายจะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนเป็น 50,000 – 100,000 ล้านบาทภายในปี 2573

สร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม

การลงทุนต่อเนื่องในโครงการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จของกรุงศรีจะทำให้ธนาคารเพิ่มการสนับสนุนความเชื่อมโยงอาเซียนในวงกว้างผ่านการส่งเสริมการชำระและการโอนเงินข้ามประเทศ โดยในประเทศไทยได้มีการเปิดโครงการนำร่องสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาลกลาง (CBDC) ภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่จะเปลี่ยนอนาคตของการชำระเงินดิจิทัล ด้วยความเชี่ยวชาญและความพร้อมจึงทำให้กรุงศรีเป็นหนึ่งในสองธนาคารพาณิชย์ของไทยที่ได้รับเลือกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในการเข้าร่วมโครงการนำร่องสกุลเงินดิจิทัลภาคประชาชนที่ออกโดยรัฐบาลกลาง

ทั้งนี้ ประสบการณ์ของลูกค้ายังถือเป็นสิ่งสำคัญสุดสำหรับการพัฒนานวัตกรรม กรุงศรีมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงแอปบนมือถือที่มีไม่ว่าจะเป็น KMA-Krungsri Mobile App, UCHOOSE และ GO เพื่อช่วยให้ผู้ใช้มีชีวิตที่ง่ายยิ่งขึ้น นับเป็นส่วนหนึ่งของโร้ดแมปแผนงานพัฒนาระยะยาวเพื่อสนับสนุนอนาคตของการธนาคารและการปรับพัฒนาด้านความปลอดภัยของแอปและดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัย

กรุงศรีคาดว่าในปี 2566 เงินให้สินเชื่อจะเติบโตที่ 3-5% และตั้งเป้าหมายของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.5% ซึ่งคาดว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income) จะยังอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ราว 2.5-2.6%