หลังจากกวาดรายได้มหาศาลตลาดช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้อาจถึงคราวขาลงของบริษัทยา โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ยอดขายวัคซีนและยาต้านโควิดลดลงอาจลดลงเกือบ 2 ใน 3 ในปี 2023 นี้ เนื่องจากมีสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก และประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นจากการฉีดวัคซีน หรือผ่านการติดเชื้อมาแล้ว
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ผู้ผลิตยาจากชาติตะวันตกไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ (Pfizer), ไบออนเทค (BioNTech), โมเดอร์นา (Moderna), กิลเลียด (Gilead), แอสตราเซนเนกา (AstraZeneca) และเมอร์ก (Merck) คาดว่าจะทำรายได้ประมาณ 100,000 ล้านเหรียญ (ราว 3.36 ล้านล้านบาท) จากการขายวัคซีนและยาต้านโควิดในปี 2022
รายงานข่าวยังระบุอีกว่า ขณะนี้บรรดาบริษัทยาดังกล่าวกำลังได้รับแรงกดดันจากนักลงทุนให้ “คิดอย่างถี่ถ้วน” ในการใช้รายได้ที่ได้อย่างมหาศาลตลอดช่วงเวลา 2 ปี ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตาม รายได้ที่หดหายไปอย่างมหาศาลในช่วงเวลาสั้น ๆ คือสิ่งที่บริษัทยาเหล่านี้คุ้นเคยอยู่แล้ว และมันถูกเรียกว่า “หน้าผาสิทธิบัตร” หรือ “Patent Cliff” โดยจะเกิดขึ้นเมื่อสิทธิผูกขาดยาที่ขายได้จำนวนมากหมดอายุ และคู่แข่งทั่วไปสามารถลงสนามได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่บริษัทยาทั้งหลายต้องวางกลยุทธ์ไว้ล่วงหน้าหลาย ๆ ปี เพื่อความอยู่รอด
“ถ้าคุณคิดว่าการคิดค้นวัคซีน หรือการพัฒนายาใหม่ ๆ จะเป็นหนทางที่ยั่งยืน ผมบอกได้เลยว่ามันมีอะไรที่มากกว่านั้นมาก” เดเมียน โคโนเวอร์ (Damien Conover) นักวิเคราะห์ของ Morningstar กล่าว
โคโนเวอร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามปกติแล้วบริษัทยาเหล่านี้จะทำได้รายได้จากสิ่งที่เรียกว่า “หน้าผาสิทธิบัตร” ซึ่งเป็นการไหลเข้าของรายได้จำนวนมหาศาลอย่างกะทันหัน และจุดนี้เองที่บริษัทยาต่าง ๆ จะใช้อำนาจการต่อรองที่มีในขณะนั้น เพื่อค้นหาข้อตกลง และเชื่อมโยงกับพันธมิตรใหม่ ๆ
ซึ่งความเห็นของโคโนเวอร์นั้น สอดคล้องกับ อีวาน ไซเกอร์แมน (Evan Seigerman) นักวิเคราะห์ของ BMO Capital Markets ที่ระบุว่า บริษัทยายักษ์ใหญ่เหล่านี้ควรเร่งมองหาพันธมิตรใหม่ ๆ ในขณะที่พวกเขายังมีเงินสดอยู่ในมือ
ไซเกอร์แมนยกตัวอย่างถึง Pfizer บริษัทซึ่งได้รับประโยชน์ทางการเงินมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสามารถทำรายได้ในปี 2022 ไปได้ 56,000 ล้านเหรียญ (ราว 1.88 ล้านล้านบาท) จากวัคซีนและยาต้านไวรัสแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ที่พัฒนาร่วมกันกับพันธมิตรอย่าง BioNTech จากเยอรมนี
โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Pfizer นั้น ได้ประกาศทำข้อตกลงมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญ (ราว 336,300 ล้านบาท) เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอของบริษัท เช่น การซื้อกิจการของ Global Blood Therapeutics บริษัทที่ศึกษาและพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์ เพื่อการรักษาโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สมบูรณ์ และบริษัท Biohaven Pharmaceutical ผู้ผลิตยาไมเกรน เป็นต้น
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า รายได้ของ Pfizer จะลดลงเหลือประมาณ 2,150 ล้านเหรียญ (ราว 72,280 ล้านบาท) ในปี 2023 นี้ ในขณะที่นักลงทุนบางส่วนมองว่าตัวเลขดังกล่าวคือ ‘การมองโลกในแง่ดี’ มากเกินไป
ที่มา : Reuters
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส