ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองและเงินเยนที่อ่อนค่า ทำให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นปรับเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับค่าแรงที่ยังซบเซา ส่งผลให้หลายคนต้องรัดเข็มขัดเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย แต่เหตุผลนี้อาจเป็นข้อยกเว้นกับ ‘ช็อกโกแลต’ เมื่อใกล้ถึงวันวาเลนไทน์
เช่นเดียวกับอาหารอื่น ๆ ช็อกโกแลตในญี่ปุ่นมีราคาสูงขึ้นในปีนี้ เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิต เช่น โกโก้และน้ำตาลมีราคาแพงขึ้น ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก โดยช็อกโกแลตต่อ 1 ชิ้น มีราคาเฉลี่ยสูงกว่าปีที่ผ่านมาราว 7% ในขณะที่ช็อกโกแลตแบรนด์หรูจากต่างประเทศก็มีราคาปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเงินเยนของญี่ปุ่นที่อ่อนค่าลง
ความต้องการช็อกโกแลตในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทุก ๆ เดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากหญิงสาวจำนวนมากต้องการซื้อช็อกโกแลตเป็นของขวัญให้คนที่ตนรัก คนที่แอบชอบ และเพื่อน ๆ ในวันวาเลนไทน์
ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนสำหรับการซื้อช็อกโกแลตในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ยังคงอยู่ที่ 1,200 เยน (ราว 300 บาท) ซึ่งสูงกว่าเดือนอื่น ๆ ตลอดทั้งปีประมาณ 2 เท่า และตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ค่าเฉลี่ยดังกล่าวก็ไม่มีการปรับตัวลงแต่อย่างใด สะท้อนถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งต่อช็อกโกแลต
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองและปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ทำให้บริษัทจำนวนมากในญี่ปุ่นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า และส่งผลให้ค่าครองชีพของชาวญี่ปุ่นปรับสูงขึ้นเฉลี่ย 4% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งการปรับขึ้นดังกล่าวถือเป็นอัตราที่เร็วที่สุดในรอบ 40 ปี
แม้ว่าธนาคารกลางแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) กำลังได้รับแรงกดดันมหาศาลให้เร่งจัดการกับเงินเฟ้อ, ปัญหาเงินเยนที่อ่อนค่า รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง แต่จนถึงตอนนี้ก็ดูจะยังไม่มีมาตรการเร่งด่วนอะไรออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม โดยตัวแทนของ BOJ ออกมาโต้แย้งว่า การปรับขึ้นของราคาสินค้าต่าง ๆ มาจากราคาพลังงาน วัตถุดิบ และสินค้านำเข้าอื่น ๆ ที่สูงขึ้น ซึ่ง BOJ คาดว่าปัญหานี้จะคลี่คลายลงได้ในไม่ช้า
บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนมองว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองและเงินเฟ้อกำลังทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่กล้าใช้จ่าย ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่กำลังปรากฎให้เห็น โดยภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แล้ว ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากกระตือรือร้นที่จะออกจากบ้าน เพื่อตามหาช่วงชีวิตที่หายไป ทั้งการทานอาหารและสังสรรค์นอกบ้าน เพื่อพบปะครอบครัว เพื่อนฝูง ตลอดจนการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ
โคตะ ซูซุกิ (Kota Suzuki) นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Daiwa ระบุว่า เทศกาลแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นอีกหนึ่งดัชนีที่ชี้วัดได้ว่า ชาวญี่ปุ่นใช้จ่ายเงินมากขึ้น เนื่องใน ‘โอกาสพิเศษ’
“ภายหลังการคลายล็อกดาวน์ ความต้องการใช้จ่ายเหล่านี้จะดำเนินต่อไประยะหนึ่ง และเมื่อเป็นโอกาสพิเศษด้วยแล้ว ผู้คนก็เต็มใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หากค่าแรงยังคงต่ำเตี้ยเช่นนี้ต่อไป ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในอนาคต กำลังซื้อของผู้คนจะลดลง และพวกเขาจะเลือกเฉพาะสิ่งของจำเป็น และซื้อเฉพาะของถูกเท่านั้น” ซูซุกิกล่าว
ความต้องการช็อกโกแลตที่เพิ่งสูงขึ้นทุก ๆ เดือนกุมภาพันธ์ยังคงเป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์ในญี่ปุ่นให้ความสนใจอยู่เสมอ และมีคำอธิบายที่เปิดกว้าง เช่น ประเพณีในวันวาเลนไทน์ที่ไม่เหมือนใครของผู้หญิงญี่ปุ่น เนื่องจากสังคมหรือแม้แต่ตัวหญิงสาวเอง ถูกคาดหวังให้ทำ “หน้าที่” ซื้อช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์ เพื่อมอบให้กับคนรักหรือคนที่แอบชอบ ซึ่งต่อให้พวกเธอไม่มีบุคคลดังกล่าว ก็ยังต้องถูกกดดันให้ซื้อช็อกโกแลตให้เพื่อนร่วมงานและคนอื่น ๆ อยู่ดี
การสำรวจของ Intage ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยทางการตลาดเปิดเผยว่า ผู้หญิงน้อยกว่า 10% กล่าวว่า พวกเธอจะซื้อช็อกโกแลตให้เพื่อนร่วมงานและคนอื่น ๆ ในขณะที่ 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามหญิง อายุระหว่าง 15 ถึง 19 ปี กล่าวว่ากำลังวางแผนที่จะซื้อช็อกโกแลตแจกให้เพื่อน ๆ
นอกจากนี้ แบบสำรวจดังกล่าวยังเปิดเผยอีกด้วยว่า มีหญิงสาววางแผนที่จะใช้จ่ายเงินจำนวนมากขึ้นกับการซื้อช็อกโกแลตในปีนี้ โดยระบุเหตุผลว่ค่าครองชีพนั้นปรับตัวสูงขึ้น
สถานการณ์ในปัจจุบันดูจะเป็นภาพที่ ‘หวานหอม’ ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ผู้คนออกมาจับจ่าย และมีนักท่องเที่ยวที่ทยอยเดินทางมาจากทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า หากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และปรับขึ้นค่าแรงให้เท่าทันกับค่าครองชีพ ท้ายที่สุดแล้วเงินออมของประชาชนก็จะค่อย ๆ ลดลง และ ‘ละลาย’ หายไปพร้อมกับความต้องการจับจ่ายที่อาจทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้เสียอีก
ที่มา : Kyodo
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส