ปัจจุบัน มิจฉาชีพกำลังระบาดหนักในประเทศไทย ใช้สารพัดกลโกงและข้อความหลอกลวงเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อจนสูญเงินหมดบัญชีธนาคาร ไล่ตั้งแต่การส่งข้อความผ่าน SMS, การส่งลิงก์แปลกปลอมผ่านอีเมล เว็บไซต์ และแอปพลิเคชันไลน์ รวมไปถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีแนวทางกำกับดูแล โดยการสั่งให้สถาบันการเงินเร่งพัฒนา และหาทางป้องกันเรื่องนี้ให้รัดกุมมากขึ้น
ล่าสุด นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธปท. เตรียมเพิ่มมาตรการป้องกัน โดยจะให้สถาบันการเงินเพิ่มกระบวนการยืนยันตัวตนด้วยการเปรียบเทียบอัตลักษณ์ หรือ Biometric Comparison บนโมบายแบงก์กิ้ง เช่น การสแกนใบหน้า, การสแกนลายนิ้วมือ เมื่อการใช้งานของลูกค้าเข้าเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การโอนเงินเป็นจำนวนมาก, การโอนเงินความถี่สูง รวมถึงการปรับเพิ่มวงเงินต่อวัน โดยเงื่อนไขนั้นจะถูกกำหนดตามพฤติกรรม หรือระดับความเสี่ยงของลูกค้าของธนาคารด้วย
ทั้งนี้ มาตรการป้องกันดังกล่าวมีขึ้นเพื่อปิดช่องโหว่ของโมบายแบงก์กิ้งหลายแห่ง ที่แม้ว่าจะมีการกำหนดวงเงินในการทำธุรกรรมแบบต่าง ๆ แล้ว แต่ก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนวงเงินได้ง่าย ๆ ผ่านการใช้รหัส PIN สำหรับเข้าใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง และการใช้รหัส OTP ผ่านการส่งข้อความ SMS ซึ่งหากมิจฉาชีพสามารถหลอกให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันสำเร็จ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้โดยง่าย
นอกจากนี้ ธปท. ยังสั่งการให้สถาบันการเงินเพิ่มช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotlines) อย่างเพียงพอ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้าสามารถแจ้งเหตุหลอกลวงได้โดยตรง
นางสาวสิริธิดา ยังเปิดเผยอีกว่า ธปท. และสถาบันการเงินยังอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทุจริต และบัญชีม้าระหว่างกัน โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้หลังจาก ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้
โดยร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าว กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชี และธุรกรรมของลูกค้าที่ต้องสงสัยได้ โดยไม่ขัดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล