บริษัทวิเคราะห์บล็อคเชน Chainalysis รายงานการศึกษาล่าสุดพบว่ามี 24 % ของโทเค็นออกใหม่ในตลาดคริปโทปี 2022 ถูกสร้างออกมาปั๊มราคาให้พุ่งแล้วขายทิ้ง (pump and dump) ซึ่งทำกำไรได้ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1,030 ล้านบาท) และมีผู้ตกเป็นเหยื่อที่หลงเข้าไปซื้อแล้วขาดทุนถึง 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (158,039 ล้านบาท) ทั้งนี้ 90% ของโทเค็นออกใหม่ส่วนใหญ่จะราคาลดลงในสัปดาห์แรกหลังเปิดตัวเนื่องจากถูกผู้สร้างขึ้นมาปั๊มราคาแล้วขายทิ้ง
การสร้างโทเค็นขึ้นมาปั๊มราคาแล้วขายทิ้งหอบกำไรหนี ส่วนใหญ่ผู้สร้างจะโฆษณาเกินจริงและโปรโมตให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า จนทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดหรือหลงเชื่อแล้วแห่เข้ามาซื้อกันอย่างรวดเร็ว เมื่อราคาพุ่งสูงจนได้กำไรพอประมาณ จากนั้นผู้สร้างก็ทำการเทขายเอากำไรจนราคาของโทเค็นดิ่งลง จึงทำให้นักลงทุนติดดอยยาวลงมาไม่ได้เพราะผู้สร้างไม่ได้พัฒนาโครงการต่อตาม White paper ที่โม้ไว้
ปี 2022 มีรายงานการออกโทเค็นใหม่บน Ethereum และ BNB Chain มากกว่า 1,100,000 โทเค็น ซึ่งได้มีการประเมินโครงการของโทเค็นต่าง ๆ ด้วยเกณฑ์การแลกเปลี่ยนขั้นต่ำ 10 ครั้งและการซื้อขายติดต่อกัน 4 วันในสัปดาห์หลังเปิดตัว (บน DEX เพราะโทเค็นใหม่ยังไม่ถูกลิสต์ในตลาดซื้อขาย) พบว่ามีเพียง 40,521 โทเค็นที่มีแรงไปต่อได้ และจาก 40,521 โทเค็นออกใหม่ ได้มี 9,902 โทเค็น คิดเป็น 24% ที่ราคาลดลง 90% ขึ้นไป หลังจากเปิดตัวในสัปดาห์แรก ซึ่งชี้ชัดว่าถูกสร้างขึ้นมาปั๊มราคาแล้วขายทิ้ง
ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าในบางโทเค็นทีมงานได้พยายามนำเสนอโครงการอย่างเต็มที่ แต่ราคาได้ลดลงตามกลไกของตลาด แม้ว่าจะไม่ทราบกลยุทธ์การจูงใจที่อยู่เบื้องหลังของโทเค็นหลอกลวงดังกล่าว แต่ก็ได้มีการตรวจสอบ 25 โทเค็นใหม่ที่ราคาลดลงสูงสุดในสัปดาห์แรก ซึ่งจากเกณฑ์ความน่าเชื่อถือของโทเค็นใหม่ 0 – 100 คะแนน พบว่าทั้ง 25 โทเค็นได้ 0 คะแนน ชี้ชัดว่าถูกสร้างขึ้นมาปั๊มราคาแล้วขายทิ้ง นอกจากนี้มีบางโทเค็นที่ติดป้ายว่า “honeypot” คือโทเค็นอันตรายเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อรายใหม่ถูกหลอกขายได้อีก
ที่มา : cryptopotato.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส