นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องราว 3.7% โดยได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การจ้างงาน และการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลงตามราคาพลังงาน
อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เช่น การฟื้นตัวของรายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มที่เปราะบาง, การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานของ LHFG ในปี 2566 นี้ จะเน้นไปที่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนที่ครบวงจรเหมาะสมกับสถานการณ์และจังหวะการลงทุนให้กับลูกค้าผ่าน Digital Platform รวมถึงกลยุทธ์การ Synergy ภายในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และ CTBC บริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม รวมทั้งขยายฐานลูกค้าที่ทำธุรกิจต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น (Trade Finance) นอกจากนี้ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อรูปแบบใหม่ ๆ และสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
ในส่วนของผลการดำเนินงานปี 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 1,579 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย สำหรับด้านการขยายตัวของสินเชื่อเติบโตร้อยละ 23 ซึ่งเติบโตทุก Segments โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย มีอัตราการเติบโตสูงกว่าร้อยละ 47 กลุ่มลูกค้า SME เติบโตร้อยละ 35 และกลุ่มลูกค้าไต้หวันเติบโตสูงถึงร้อยละ 95
สำหรับ NPL นั่นยังอยู่ในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 2.09 ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 2.44 โดยธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ NPL Coverage อยู่ที่ร้อยละ 221
ทางด้าน นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank เปิดเผยว่า จากการ Disruption ในอุตสาหกรรมการให้บริการทางการเงิน ธนาคารมุ่งพัฒนาโมเดลทางธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ มาให้บริการทางการเงิน โดยหลักสำคัญในการจัดทำแผนกลยุทธ์ คือ ความยั่งยืน (Sustainability) การเสริมสร้างความสามารถทางดิจิทัล (Digital Enabling) ความยืดหยุ่น (Resilience) และความเสี่ยงที่เหมาะสม
กลยุทธ์ของ LH Bank ปี 2566 นั้น มุ่งเน้นที่การเติบโตในพอร์ตสินเชื่อที่สร้างผลตอบแทนที่ดี หรือ กลุ่ม Higher Yield ที่มีการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมถึงการ Cross Selling ผลิตภัณฑ์ของธนาคาร และการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล (Digital Transformation) ที่เน้นการปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมถึงด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
นอกจากนี้ LH Bank เตรียมยกระดับ Digital Platform ให้ตอบโจทย์การทำธุรกรรมการเงินและการลงทุนที่ครบวงจร เช่น Investment Application “LH Bank Profita” และ Mobile Banking Application “LHB You” ที่เปิดให้บริการเมื่อเร็ว ๆ นี้ ด้วยฟีเจอร์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับทุกการใช้จ่าย ฝาก-ถอน-โอน หรือลงทุนแบบไหน LHB You ก็จะช่วยออกแบบไลฟ์สไตล์การเงินส่วนตัวผ่านการค้นหาตัวตนของลูกค้าในรูปแบบของ AVATAR เพื่อสร้าง Profile ที่โดดเด่น ใช้งานสะดวก ทำธุรกรรมครบแบบ One Stop Shop ไม่ต้องไปสาขาของธนาคาร
น.ส.ชมภูนุช ยังเปิดเผยอีกว่า LH Bank ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน ในฐานะ Sustainable Banking ที่ดำเนินงานอย่างมีสำนึก และมีส่วนช่วยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลที่ดี รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อด้าน ESG อีกด้วย